โจทก์ฟ้องใจความว่า จำเลยมีบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ ๘๗๔ อยู่ที่สำนักงานสาขาปัตตานีของโจทก์ เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๑๗ จำเลยที่ ๑ ทำหนังสือสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์วงเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท โดยจำเลยที่ ๒ ทำหนังสือสัญญาค้ำประกัน จำเลยได้นำเงินเข้าและถอนออกจากบัญชีของจำนวนเรื่อยมานับแต่วันทำสัญญาจนถึงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ปรากฏว่า ในวันดังกล่าวจำเลยเป็นหนี้โจทก์ อยู่เป็นเงิน ๒๑,๗๘๑.๒๙ บาท นอกจากนี้จำเลยได้นำเช็คของผู้มีชื่อรวม ๓ ฉบับ เป็นเงิน ๑๗๐,๐๐๐ บาท มาขายลดให้โจทก์ โดยนำเข้าบัญชีเลขที่ ๘๗๔ ของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ได้รับเงินตามเช็คนั้นจำนวน ๑๗๐,๐๐๐ บาท บาทไปแล้ว ต่อมาธนาคารตามเช็คปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็ค โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยที่ ๑ นำเงินตามเช็คที่รับไปมาชำระให้โจทก์ แต่จำเลยที่ ๑ เพิกเฉย จำเลยที่ ๑ ต้องชดใช้เงินให้โจทก์รวม ๑๔๑,๗๘๑.๒๙ บาท ซึ่งจำเลยที่ ๒ ต้องร่วมรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน ๒๑,๗๘๑.๒๙ บาท ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยที่ ๑ ให้ชำระเงิน ๑๙๑,๗๘๑.๒๙ บาทให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย หากจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระให้จำเลยที่ ๒ ชำระแทน
จำเลยทั้งสองให้การรับว่า เป็นหนี้โจทก์ ในการเบิกเงินเกินบัญชี ๒๑,๗๘๑.๒๙ บาทจริง และจำเลยที่ ๑ ต่อสู้ว่าเช็ค ๓ ฉบับ จำนวนเงิน ๑๗๐,๐๐๐ บาท นั้น จำเลยที่ ๑ มิได้ขายให้โจทก์ จำเลยที่ ๑ มิใช่เจ้าของและมิใช่ผู้นำไปเข้าบัญชีของจำเลยที่ ๑ และเมื่อธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คแล้ว โจทก์ละเลยไม่แจ้งให้จำเลยที่ ๑ ทราบ จนเช็คขาดอายุความทางอาญาแล้ว และผู้ออกเช็คได้หลบหนีไปแล้ว จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๑ ต่อสู้ด้วยว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๑๙๑,๗๘๑.๒๙ บาทให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปี สำหรับต้นเงิน ๒๑,๗๘๑.๒๙ บาท และดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีสำหรับต้นเงิน ๑๗๐,๐๐๐ บาท นับจากวันฟ้องจนกว่า จะชำระเสร็จ ถ้าไม่ชำระให้จำเลยที่ ๒ ชำระแทนเฉพาะเงิน ๒๑,๗๘๑.๒๙ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์สำหรับเงิน ๑๗๐,๐๐๐ บาท ตามเช็ค ๓ ฉบับ พร้อมด้วยดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ เป็นลูกค้าเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เลขที่ ๘๗๔ ที่ธนาคารโจทก์ ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท มีกำหนด ๑๒ เดือน ดอกเบี้ยทบต้นร้อยละสิบห้าต่อปี โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันนอกจากนี้จำเลยที่ ๑ ยังได้นำเช็คซึ่งผู้อื่นเป็นผู้ออกมาขายลดให้ธนาคารโจทก์ สาขาปัตตานี หลายฉบับ โดยโจทก์ได้ส่วนลดหมื่นละยี่สิบบาท จำเลยที่ ๑ จ่ายส่วนลดให้เรียกเก็บเงิน แล้วจำเลยที่ ๑ ออกเช็คของตนเองสั่งธนาคารโจทก์จ่ายเงินในบัญชีเลขที่ ๘๗๔ เท่ากับจำนวนเงินในเช็คที่นำมาเข้าบัญชี ธนาคารโจทก์จ่ายเงินให้จำเลยที่ ๑ ทันทีไม่ต้องรอเรียกเก็บเงินตามเช็ค ครั้งก่อน ๆ ธนาคารโจทก์ เรียกเก็บเงินตามเช็คได้ทุกครั้ง สำหรับเช็คพิพาทคดีนี้จำเลยที่ ๑ ได้นำเช็คดังกล่าวมาขายลด และนำเข้าบัญชีของจำเลยที่ ๑ ในวันตามที่ระบุในเช็ค แล้วจำเลยที่ ๑ ออกเช็คสั่งจ่ายเงินไปจากบัญชีเลขที่ ๘๗๔ เท่าจำนวนเงินตามเช็คทั้งสามฉบับ โจทก์ได้จ่ายเงินจำนวน ๑๗๐,๐๐๐ บาท ให้จำเลยที่ ๑ ไปแล้ว ต่อมาโจทก์ส่งเช็คพิพาททั้งสามฉบับไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ข้อตกลงซื้อขายลดเช็คระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จะไม่ปรากฏมีข้อสัญญาว่าหากเช็คทั้ง ๓ ฉบับเรียกเก็บเงินไม่ได้แล้ว จำเลยที่ ๑ จะต้องรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ก็ตาม แต่การที่จำเลยนำเช็คผู้มีชื่อมาเข้าบัญชีเดินสะพัดของจำเลยเพื่อให้โจทก์เรียกเก็บเงิน โดยนำเช็คเข้าบัญชีในวันที่ลงในเช็ค แล้วจำเลยออกเช็คสั่งให้โจทก์จ่ายเงินให้ตามจำนวนดังกล่าวจากบัญชียังเรียกเก็บเงินไม่ได้ และโจทก์ได้ค่าธรรมเนียมเรียกว่า ส่วนลดหมื่นละ ๒๐ บาท เช่นนี้เป็นพฤติการณ์ ที่โจทก์และจำเลยที่ ๑ ปฏิบัติต่อกันตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๗ บัญญัติไว้ว่า การนำตั๋วเงินลงเป็นรายการในบัญชีเดินสะพัดนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ได้ลงด้วยเงื่อนไขว่าจะมีผู้ชำระเงินตามตั๋วนั้น ถ้าและตั๋วนั้นมิได้ชำระเงินไซร้ จะเพิกถอนรายการอันนั้น เสียก็ได้ เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ ๑ ได้นำเช็คพิพาท ๓ ฉบับนี้มาเข้าบัญชี เดินสะพัดของตนแล้ว จำเลยที่ ๑ ออกเช็คสั่งจ่ายเงินเท่าจำนวนเงินในเช็คที่นำมาเข้าบัญชี และโจทก์ได้จ่ายเงินตามเช็คของจำเลยจากบัญชีเดินสะพัดไปแล้ว ต่อมาโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทไม่ได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิจะเพิกถอนการลงรายการของเช็คดังกล่าวเสียได้ตามบทกฎหมายข้างต้น และนำจำนวนเงินนั้นมาคงรายการว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกหนี้โจทก์ได้ จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ในเงินจำนวน ๑๗๐,๐๐๐ บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น