โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43, 78, 157, 160 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 300, 390
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 78 วรรคหนึ่ง, 157, 160 วรรคสอง (ที่ถูก 160 วรรคหนึ่ง)ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390 เป็นความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายและเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 จำคุก 6 เดือนกระทงหนึ่ง ฐานไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือและไม่แสดงตัวแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที จำคุก 2 เดือน อีกกระทงหนึ่ง รวมลงโทษจำคุก 8 เดือนจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่จำเลยขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายและรับอันตรายสาหัส กับจำเลยขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น แล้วไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือและไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษในความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดแต่เพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายและรับอันตรายสาหัส การกระทำความผิดของจำเลยสำเร็จไปกรรมหนึ่งแล้ว และหลังเกิดเหตุชนกันเพราะความประมาทของจำเลย จำเลยไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือและไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีการกระทำความผิดของจำเลยครั้งนี้ก็สำเร็จไปอีกกรรมหนึ่ง แม้จะเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกันตามที่จำเลยฎีกา แต่ก็สามารถแยกการกระทำโดยประมาทและเจตนาที่จะไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือ ไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีออกจากกันได้อย่างชัดเจน จึงมิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทดังที่จำเลยฎีกา ที่ศาลล่างทั้งสองเรียงกระทงลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวเป็น 2 กรรม ชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน