คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 120,000 บาท แก่โจทก์จากการละเมิดเนื่องจากการทำงานของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกจ้างและจากจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ขาดนัดและขาดนัดพิจารณาจำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 1 ชำระเงินที่ยักยอกให้แก่โจทก์แล้ว สัญญาค้ำประกันเป็นเอกสารปลอมขอให้ยกฟ้อง ต่อมาวันที่ 8 ตุลาคม 2541 ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 120,000 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 จนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2541ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไป 20 วัน นับแต่วันที่ 23ตุลาคม 2541 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดโดยอ้างเหตุว่าหลังจากศาลแรงงานกลางพิพากษาแล้ววันที่ 9 ตุลาคม 2541 จำเลยที่ 2ยื่นคำแถลงขอคัดคำพิพากษาคำเบิกความของพยานโจทก์และพยานจำเลยที่ 2แต่เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่ายังพิมพ์คำพิพากษาไม่เสร็จ จำเลยที่ 2ติดต่อเพื่อขอรับสำเนาคำพิพากษาตลอดมา จนกระทั่งวันที่ 3พฤศจิกายน 2541 จำเลยที่ 2 ได้รับสำเนาคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง อันเป็นเวลาล่วงเลยกำหนดเวลาที่จำเลยที่ 2จะยื่นอุทธรณ์ไปแล้ว กรณีมีความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จำเลยที่ 2 จะขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ดังกล่าว
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า ไม่มีเหตุจำเป็นว่าเหตุใดจำเลยที่ 2จึงไม่ยื่นขอขยายเวลาในกำหนดและไม่ปรากฏว่าหากศาลไม่ให้ขยายเวลาจะเสียความยุติธรรมอย่างไร ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า กรณีมีเหตุขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่าการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานไปยังศาลฎีกาต้องอุทธรณ์ภายใน 15 วัน ตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง เป็นอุทธรณ์ตามระยะเวลาที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522กำหนดไว้ ในกรณีนี้มาตรา 26 ได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้วจึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ได้ แต่มาตรา 26 แห่งบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติว่าศาลแรงงานมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เห็นได้ว่า ในการย่นหรือขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว มาตรา 26ได้วางหลักเกณฑ์ว่าศาลแรงงานจะกระทำได้ต่อเมื่อมีความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเท่านั้น มิได้กำหนดว่าจะต้องมีพฤติการณ์พิเศษดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 23 แต่อย่างใด แม้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 2ทราบการอ่านคำพิพากษาศาลแรงงานกลางตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2541ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ภายใน 15 วัน นับแต่วันดังกล่าวก็ตาม แต่ตามคำร้องของจำเลยที่ 2ฉบับลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2541 จำเลยที่ 2 อ้างว่าหลังจากศาลแรงงานกลางพิพากษาแล้วจำเลยที่ 2 ยื่นคำแถลงขอคัดคำพิพากษาตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2541 เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่ายังพิมพ์คำพิพากษาไม่เสร็จและผู้พิพากษายังมิได้ลงลายมือชื่อจึงขอคัดไม่ได้จำเลยที่ 2 ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ศาลเพื่อขอรับสำเนาคำพิพากษาตลอดมาจนกระทั่งวันที่ 3 พฤศจิกายน 2541 จำเลยที่ 2 จึงได้รับสำเนาคำพิพากษาศาลแรงงานกลางอันเป็นเวลาล่วงเลยกำหนดเวลาที่จำเลยที่ 2 จะยื่นอุทธรณ์ไปแล้ว เห็นได้ว่า หากข้อความตามคำร้องดังกล่าวของจำเลยที่ 2 เป็นความจริง จำเลยที่ 2ก็ไม่อาจยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ทราบคำพิพากษานั้น กรณีถือได้ว่ามีความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่ศาลแรงงานกลางจะพึงขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 2การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์หลังจากครบกำหนดแล้วยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 สละสิทธิในการอุทธรณ์ชอบที่ศาลแรงงานกลางจะไต่สวนคำร้องดังกล่าวของจำเลยที่ 2ว่าเป็นความจริงหรือไม่ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าไม่มีเหตุจำเป็นว่าเหตุใดที่จำเลยที่ 2 จึงไม่ยื่นขอขยายเวลาในกำหนดและไม่ปรากฏว่าหากศาลไม่ให้ขยายเวลาจะเสียความยุติธรรมอย่างไรให้ยกคำร้องโดยมิได้ไต่สวนคำร้องดังกล่าวก่อนนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น"
พิพากษายกคำสั่งศาลแรงงานกลางลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2541ให้ศาลแรงงานกลางไต่สวนคำร้อง ของ จำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 9พฤศจิกายน 2541 แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี