โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (11), 83 และ 91 และให้ใช้ราคาสินค้าจำนวน 1,482,119.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเวลาในการกระทำความผิดเป็นสาระสำคัญ ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าเหตุลักทรัพย์เกิดขึ้นเวลาใดเป็นช่วงกลางวันหรือกลางคืน เวลากี่นาฬิกา ทั้งมิใช่กรณีที่จะคาดหมายหรือเข้าใจเอาเองว่าเหตุเกิดในช่วงเวลาใด ทำให้จำเลยทั้งสองหลงต่อสู้ และจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ทราบข้อเท็จจริงอยู่แล้วว่าเครื่องปรับอากาศตามฟ้องโจทก์สูญหายจากคลังสินค้าโจทก์ก่อนที่จำเลยที่ 2 ขออนุมัติและโจทก์อนุมัติการขาย ดังนั้น ในช่วงระหว่างวันที่ 10 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2551 จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง อีกทั้งโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขอร้องให้จำเลยที่ 2 แจ้งขอให้โจทก์อนุมัติการขายเครื่องปรับอากาศจำนวนดังกล่าว เพื่อเป็นหลักฐานในการหักล้างสต๊อกสินค้าที่ขาดหายไป ฟ้องของโจทก์จึงขัดแย้งกันเองนั้น เห็นว่า คำว่า เวลา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หมายความถึง วันเดือนปีด้วย ไม่ใช่หมายความเฉพาะเวลากลางวันหรือกลางคืน ฟ้องที่ไม่ได้กล่าวถึงเวลากลางวันหรือกลางคืนจะไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวหรือไม่ ต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไปว่าฟ้องนั้นกล่าวถึงเวลาพอให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดีหรือไม่ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2551 จำเลยทั้งสองร่วมกันลักเครื่องปรับอากาศยี่ห้อมิตซูบิชิ พร้อมอุปกรณ์ติดตั้ง จำนวน 59 ชุด รวมเป็นราคาทั้งสิ้น 1,482,119.83 บาท ไปจากคลังสินค้าเอกมัยของโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ได้แสร้งขออนุมัติการขายต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจอนุมัติ ณ บริษัทโจทก์ที่ถนนพญาไท กรุงเทพมหานคร โดยการขอเปิดสำเนาใบส่งของ/ใบกำกับภาษี 5 ชุด อ้างว่าลูกค้ารายห้างหุ้นส่วนจำกัดป่าตองอีเล็กทริค (จังหวัดภูเก็ต) ห้างหุ้นส่วนจำกัดพัทลุงการไฟฟ้า (1994) (จังหวัดพัทลุง) ห้างหุ้นส่วนจำกัดสิริเครื่องเย็นแอนด์เซอร์วิส (จังหวัดนครศรีธรรมราช) ห้างหุ้นส่วนจำกัดสตูลอีเล็คทรอนิกส์ (จังหวัดสตูล) และห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกสิทธิ์ตรัง (จังหวัดตรัง) ประสงค์จะซื้อสินค้า 59 ชุด ข้างต้น ซึ่งไม่เป็นความจริงเพราะลูกค้าโจทก์ทั้งห้ารายดังกล่าวไม่ได้สั่งซื้อสินค้าข้างต้นแต่อย่างใด ความจริงแล้วจำเลยที่ 1 ได้ขอให้จำเลยที่ 2 เปิดบิลขออนุมัติขายสินค้าเครื่องปรับอากาศ 59 ชุดข้างต้น เพื่อประสงค์หักล้างสต๊อกสินค้าในคลังสินค้าเอกมัยที่ขาดจำนวน เมื่ออ่านฟ้องของโจทก์ดังกล่าวโดยตลอดแล้วย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของโจทก์ในช่วงเวลาใด ทั้งจำเลยทั้งสองนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ทำหลักฐานการขออนุมัติการขายตามที่โจทก์อ้าง ถือว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้หลงต่อสู้ในข้อที่มิได้กล่าวไว้นั้นและเข้าใจได้ว่าโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดในเวลากลางวันหรือกลางคืน ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ขออนุมัติการขายเครื่องปรับอากาศ 59 ชุด ต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจอนุมัติเพื่อหักล้างสต๊อกสินค้าในคลังสินค้าเอกมัยที่ขาดจำนวนนั้น ก็เป็นเพียงการบรรยายฟ้องให้เห็นการปกปิดการกระทำความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเท่านั้น ไม่ถึงกับทำให้ฟ้องมีความขัดแย้งกันดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ดังนี้ ฟ้องโจทก์จึงระบุข้อเท็จจริงรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาที่เกิดการกระทำความผิดและการกระทำความผิดพอสมควรที่จะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน