ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ 3 URLs (Uniform Resource Locator) คือ 1.https://fb.watch/3aiaDnGJTi/ 2.https://progressivemovement. in.th/article/3258/ และ 3.https://youtu.be/Oq7KPQ5TBc8 อ้างว่าเป็นเว็บไซต์ทั่วไปที่อาจเข้าถึงได้ปรากฏข้อความ ภาพ และวิดีโอที่มีเนื้อหาอันเข้าข่ายเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ในหมวดความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (3) และการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นการทำให้แพร่หลาย ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในภาค 2 ลักษณะ 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ผู้ร้องเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแล้ว
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาตั้งแต่การไต่สวนและการมีคำสั่งของศาล ซึ่งย่อมมีผลให้คำสั่งศาลในวันที่ 29 มกราคม 2564 เป็นอันสิ้นผล และมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ 3 URLs (Uniform Resource Locator) คือ 1. https://fb.watch/3aiaDnGJTi/ 2. https://progressivemovement.in.th/ article/3258/ และ 3. https://youtu.be/Oq7KPO5TBc8
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า มีการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ 3 URL มีความยาวประมาณ 30 นาที โดยเป็นถ้อยคำของผู้คัดค้านนำเสนอเรื่องการจัดการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีหัวเรื่องระบุว่า วัคซีนพระราชทาน ใครได้ ใครเสีย มีความว่า รัฐบาลประมาทไม่เร่งรีบจัดหา ทำให้การจัดหาล่าช้า จัดหาน้อยเกินไป เพราะรัฐบาลมุ่งแสวงหาความนิยมมากเกินไป ผู้คัดค้านเปรียบเทียบการจัดหาวัคซีนของประเทศไต้หวัน ประเทศมาเลเซียและประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีการเร่งจัดหาวัคซีนได้รวดเร็วกว่า จัดหาหลากหลายผู้ผลิตและครอบคลุมสัดส่วนของประชากรมากกว่า ขณะที่รัฐบาลฝากความหวังไว้กับบริษัทเดียวต่างจากประเทศอื่น ผู้คัดค้านนำเสนอตัวเลือกวัคซีนจากผู้ผลิตอื่น แล้วนำเสนอโครงสร้างการบริหารการจัดหาวัคซีนของรัฐ มีการกล่าวถึงบริษัท ซ. และการถือหุ้นบางส่วนของบริษัท พ. กล่าวถึงวัคซีนของบริษัท อ. ซึ่งว่าจ้างบริษัท ส. เป็นผู้ผลิต ระบุว่า บริษัทดังกล่าวมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด บรรยายประวัติการประกอบธุรกิจของบริษัทและบริษัทในเครือ กล่าวถึงลำดับแผนการเข้าถึงวัคซีน แสดงลำดับความก้าวหน้าในการทำงานของรัฐบาลโดยระบุว่ารัฐบาลไม่พยายามจะจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรให้มากกว่าร้อยละ 21.5 กล่าวหาว่ารัฐบาลมุ่งผลทางการเมืองมากกว่าดูแลประชาชน กล่าวว่าบริษัท ส. ไม่อยู่ในแผนความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ และกล่าวถึงองค์กรอื่นที่มีศักยภาพ รัฐบาลฝากความหวังไว้กับบริษัท อ. และบริษัท ส. มากเกินไป ก่อนจะสรุปว่า หากเกิดความผิดพลาดนายกรัฐมนตรีจะรับผิดชอบไหวหรือไม่ ประชาชนจะตั้งคำถามกับบริษัท ส. ซึ่งมีผู้ถือหุ้นคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า มีเหตุให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ 2550 มาตรา 20 บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ดังต่อไปนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้ (1) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ (2) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในภาค 2 ลักษณะ 1 หรือลักษณะ 1/1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น การพิจารณาว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่แพร่หลายซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้นั้นอาจเป็นเพียงกรณีที่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในภาค 2 ลักษณะ 1 หรือลักษณะ 1/1 แห่งประมวลกฎหมายอาญาตาม (2) ที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์บัญญัติไว้เพียงข้อเดียวก็ได้ โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในภาค 2 ลักษณะ 1 หรือลักษณะ 1/1 แห่งประมวลกฎหมายอาญาแล้วหรือไม่ เมื่อได้ความปรากฏต่อมาว่า หลังจากมีการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวแล้ว มีผู้แสดงความเห็นทางอินเทอร์เน็ตว่า "ธ. ลั่น ยอมติดโควิด ตายดีกว่า ไม่ขอใช้วัคซีนพระราชทาน" "วัคซีนภาษีไพร่ แจกจ่ายในนามเจ้า" "ผลประโยชน์ทับซ้อนนี้จะเพื่อใคร ก็เพื่อคนที่ซื้อหุ้น 100% ของบริษัท S. วัคซีนพระราชทาน" "ในหลวงรัชกาล…ไม่คิดจะออกมาอธิบายหน่อยเหรอครับเรื่องวัคซีนโควิดในฐานะเจ้าของบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากเงินภาษีของประชาชน ปล่อยให้หน่วยงานของรัฐบาลออกหน้าแทนมันไม่แฟร์นะครับ" "ผูกขาดวัคซีน หาซีนให้เจ้า" แสดงว่า เมื่อมีผู้เห็นถ้อยคำของผู้คัดค้านตามข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวแล้วได้ออกมาแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ทำนองว่า อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล ซึ่งการกระทำของผู้ที่ออกมาแสดงความเห็นดังกล่าวอาจเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในภาค 2 ลักษณะ 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญาได้ ดังนั้นหากให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้คัดค้านดังกล่าวแพร่หลายต่อไปก็อาจทำให้มีผู้ออกมาแสดงความเห็นที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้ กรณีจึงมีเหตุให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวได้โดยไม่จำต้องพิจารณาว่า ถ้อยคำของผู้คัดค้านตามข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวเป็นการใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลโดยสุจริตตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือไม่ และเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์แล้วหรือไม่ ตามที่ผู้คัดค้านฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน