โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 22,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 12,200,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันฟ้อง 1 กรกฎาคม 2554) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนนายหน้าซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน วันที่ 14 สิงหาคม 2552 โจทก์ทำสัญญาให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ส่วนนายธนวีร์ได้ทำสัญญาให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2553 วันที่ 22 เมษายน 2553 วันที่ 26 เมษายน 2553 วันที่ 28 เมษายน 2553 และวันที่ 29 เมษายน 2553 มีการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันธนาคาร ก. ของโจทก์ จำนวน 2,000,000 บาท, 2,000,000 บาท, 2,200,000 บาท, 3,000,000 บาท และ 3,000,000 บาท ตามลำดับ รวมเป็นเงิน 12,200,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. ของจำเลยที่ 1 ที่เปิดไว้เพื่อลูกค้าเพื่อให้จำเลยที่ 1 นำไปซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินจำนวน 12,200,000 บาท คืนให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ พยานโจทก์มีโจทก์เบิกความว่า ในการซื้อสินค้าเกษตรล่วงหน้า จำเลยที่ 1 ต้องฟังคำสั่งซื้อจากโจทก์ ช่วงแรกการซื้อขายไม่มีปัญหา หลังจากนั้น วันที่ 22 มกราคม 2553 และวันที่ 25 มกราคม 2553 โจทก์โอนเงิน 600,000 บาท และ 200,000 บาท (ที่ถูกน่าจะคือจำนวน 2,000,000 บาท) ตามลำดับ จากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันธนาคาร ก. ของโจทก์ เข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. ของจำเลยที่ 1 และวันที่ 16 เมษายน 2553 วันที่ 22 เมษายน 2553 วันที่ 26 เมษายน 2553 วันที่ 28 เมษายน 2553 และวันที่ 29 เมษายน 2553 โจทก์โอนเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 เหตุที่โอนเงินมากถึง 14,000,000 บาท เนื่องจากในช่วงดังกล่าวราคายางลดลงมากจึงต้องโอนเงินเข้าไปเพื่อสะสมเงินเอาไว้ (บล็อกสินค้าที่สั่งซื้อ) หรือรักษาสภาพการเงินของโจทก์ไว้ในบัญชี หลังจากนั้นโจทก์ตรวจสอบกับจำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าให้ และนายธนวีร์เบิกความว่า พยานทำการสั่งซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าโดยให้จำเลยที่ 1 ซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้ามีกำไรประมาณ 21,000,000 บาท ต่อมาได้ปรึกษากับนายจีระสิทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของจำเลยที่ 1 ว่า อยากให้จำเลยที่ 1 ลงทุนให้ หากมีผลกำไรก็จะแบ่งปันกัน นายจีระสิทธิ์บอกว่าจะปรึกษาฝ่ายจำเลยก่อน แล้วแจ้งว่าตกลง ประมาณเดือนมกราคม 2553 มีการโอนเงินเข้าบัญชีการซื้อขายของพยานประมาณ 600,000 บาท และต่อมามีการโอนเงินอีกหลายครั้งรวมประมาณ 14,800,000 บาท นายจีระสิทธิ์บอกว่าได้โอนเงินเข้าบัญชีการซื้อขายของพยานแล้ว ให้ทำการสั่งซื้อขายได้เลย พยานจึงทำการสั่งซื้อขายผ่านนายจีระสิทธิ์ ผลปรากฏว่าขาดทุน ทางฝ่ายสำนักหักบัญชีของตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าเรียกเก็บเงินมาในบัญชีการซื้อขายของพยานรวม 6,410,521.90 บาท ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลย นายจีระสิทธิ์ กับพวกในคดีหมายเลขดำที่ อ. 1808/2553 ของศาลอาญา พยานจึงทราบว่า เงินที่โอนมาใช้บัญชีการซื้อขายของพยานนั้นเป็นเงินของโจทก์ ส่วนพยานจำเลยทั้งสามมีนายจีระสิทธิ์เบิกความว่า พยานเคยเป็นเจ้าหน้าที่การตลาดของจำเลยที่ 1 เมื่อประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2552 ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทยได้จัดงานที่โรงแรมเพื่อโปรโมทการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทโบรกเกอร์ซึ่งเป็นสมาชิกของตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทยซึ่งรวมถึงจำเลยที่ 1 ได้รับเชิญให้มาร่วมงานด้วย โดยพยานทำหน้าที่แนะนำผู้ที่มาร่วมงานดังกล่าว โจทก์และนายธนวีร์มาร่วมงานด้วยโดยพยานอธิบายรายละเอียดให้ทราบและนัดหมายให้มาพบที่บริษัทจำเลยที่ 1 ในโอกาสต่อไป ต่อมาวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 โจทก์และนายธนวีร์มาพบพยานที่บริษัทจำเลยที่ 1 แล้วนายธนวีร์ขอเปิดบัญชีซื้อขายล่วงหน้าและทำสัญญาเพื่อทำการซื้อขายล่วงหน้า หลังจากนั้นนายธนวีร์ได้แจ้งการโอนเงินประกันขั้นต้นและเงินประกันเพิ่มเข้าบัญชีเพื่อลูกค้าของจำเลยที่ 1 เพื่อซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายวันที่ 29 เมษายน 2553 จำนวน 3,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ออกใบรับเงินดังกล่าวให้แก่นายธนวีร์ทั้งหมด ใบรับเงินบางส่วนคือช่วงระหว่างวันที่ 22 มกราคม 2553 ถึงวันที่ 29 เมษายน 2553 นายธนวีร์เป็นผู้โทรศัพท์แจ้งการโอนเงินดังกล่าวแก่พยานทุกครั้งเพื่อซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า มีเพียง 2 ครั้งที่นายธนวีร์ได้ส่งคำสั่งซื้อหรือขายทางอินเทอร์เน็ตด้วยตนเอง จนถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2553 บัญชีของนายธนวีร์มีสถานะขาดทุนและถูกเรียกเก็บเงินประกันเพิ่ม 2,785,317.90 บาท ส่วนโจทก์ได้ขอเปิดบัญชีซื้อขายล่วงหน้าและทำสัญญาเพื่อซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าผ่านจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2552 ในการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า โจทก์จะต้องวางเงินประกันขั้นต้น เงินประกันขั้นต่ำ เงินประกันระหว่างวัน และเงินประกันประเภทอื่น ๆ ตามที่ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้ากำหนดไว้ให้จำเลยที่ 1 เพื่อจะได้นำเงินประกันดังกล่าวไปวางต่อสำนักหักบัญชีตามอัตราและระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยต้องวางเงินประกันดังกล่าวไว้กับจำเลยที่ 1 ในบัญชีเพื่อลูกค้าให้ครบถ้วนก่อนส่งคำสั่งซื้อขายล่วงหน้า หลังจากนั้นโจทก์ได้โอนเงินเข้าบัญชีเพื่อลูกค้าของจำเลยที่ 1 รวม 12 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2552 และครั้งสุดท้ายวันที่ 23 ธันวาคม 2552 จำเลยที่ 1 ได้ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่โจทก์โดยโจทก์ทำการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าผ่านพยานทุกครั้ง จนถึงวันที่ 14 มกราคม 2553 ในการซื้อขายของโจทก์ปรากฏว่ามีกำไรและได้ขอถอนเงินทั้งหมด วันที่ 15 มกราคม 2553 จำเลยที่ 1 ได้โอนเงินจากบัญชีเงินฝากเพื่อลูกค้าของจำเลยที่ 1 เข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ หลังจากนั้น โจทก์ไม่เคยแจ้งการโอนเงิน ไม่เคยติดต่อซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าในตลาดกับพยานหรือเจ้าหน้าที่อื่นของจำเลยที่ 1 อีก วันที่ 11 พฤษภาคม 2553 นายธนวีร์ได้ขอร้องให้พยานโทรศัพท์ไปหาโจทก์เพื่อให้ช่วยพูดถึงสาเหตุที่นายธนวีร์ซื้อขายขาดทุนและเป็นหนี้จำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 12 พฤษภาคม 2553 พยานได้โทรศัพท์ไปชี้แจงให้โจทก์ทราบ โจทก์มิได้ทักท้วงหรือโต้แย้งใด ๆ เห็นว่า โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสามถามค้านว่า โดยปกติการโอนเงิน ลูกค้าต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ทราบทุกครั้งทางโทรศัพท์ อีเมล์ และโทรสาร แล้วจำเลยที่ 1 จะออกใบรับเงินให้ลูกค้ารายนั้น ทุกครั้งที่มีการโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 โจทก์จะแจ้งให้นายจีระสิทธิ์ทราบทุกครั้ง จำเลยที่ 1 จะออกใบรับเงินให้แก่โจทก์ตามใบเสร็จรับเงิน ฉบับลงวันที่ 14 สิงหาคม 2552 วันที่ 20 สิงหาคม 2552 วันที่ 9 ตุลาคม 2552 วันที่ 13 พฤศจิกายน 2552 วันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 วันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 วันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 วันที่ 26 พฤศจิกายน 2552 วันที่ 14 ธันวาคม 2552 วันที่ 15 ธันวาคม 2552 วันที่ 17 ธันวาคม 2552 และวันที่ 23 ธันวาคม 2552 ใบเสร็จดังกล่าวจะออกในวันที่มีการโอนเงินและจะทำการส่งในวันรุ่งขึ้น โดยส่งทางไปรษณีย์ไปยังภูมิลำเนาของโจทก์ภายใน 3 วันนับแต่วันที่ส่ง แต่การโอนเงิน 5 ครั้ง ในวันที่ 16, 22, 26, 28 และ 29 เมษายน 2553 โจทก์ไม่ได้โทรศัพท์ไปแจ้งการโอนเงินแก่นายจีระสิทธิ์ แต่เป็นนายจีระสิทธิ์โทรศัพท์ถึงโจทก์ในช่วงดังกล่าวเนื่องจากมารดาของโจทก์ป่วย โจทก์ไม่ได้อยู่ที่บ้าน ไม่เห็นใบรับเงินทางไปรษณีย์ ดังนี้ ทำให้เป็นพิรุธน่าสงสัยว่าทางปฏิบัติของโจทก์กับจำเลยที่ 1 แต่เดิมเมื่อโจทก์โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 ในปี 2552 โจทก์ก็โทรศัพท์ไปแจ้งแก่นายจีระสิทธิ์ทุกครั้งและได้รับใบเสร็จรับเงินจากจำเลยที่ 1 ซึ่งออกให้ในวันที่มีการโอนเงินทุกครั้ง ในเรื่องนี้ได้ความจากนายวีระศักดิ์ พยานจำเลยทั้งสามซึ่งทำงานอยู่ที่ธนาคาร ก. ซึ่งถือได้ว่าเป็นพยานคนกลางเบิกความว่า บัญชีกระแสรายวันซึ่งเป็นบัญชีเพื่อลูกค้าของจำเลยที่ 1 เป็นรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีที่มีการโอนเงินเข้ามา จะไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้โอนเข้ามา หากต้องการทราบว่าบุคคลใดโอนเงินเข้ามาจะต้องแจ้งทางธนาคารให้ตรวจสอบรายละเอียดการโอนเงินดังกล่าว การตรวจสอบทางธนาคาร ก. ไม่สามารถตรวจสอบเองได้ จะต้องส่งเรื่องไปให้ทางสำนักงานใหญ่เป็นผู้ตรวจสอบ จากนั้นสำนักงานใหญ่จะส่งรายละเอียดการตรวจสอบมาที่สาขาที่มีการสอบถามไป ดังนั้น ที่โจทก์อ้างว่าได้โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 ในเดือนมกราคม 2553 รวม 2 ครั้ง เป็นเงินรวม 2,600,000 บาท ซึ่งนับว่าเป็นเงินจำนวนมากนั้น โจทก์ก็ไม่ได้แจ้งให้นายจีระสิทธิ์ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของจำเลยที่ 1 ทราบว่า โจทก์ได้โอนเงินดังกล่าวเข้าบัญชีเพื่อลูกค้าของจำเลยที่ 1 แล้ว และจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่โจทก์ จึงทำให้เป็นที่น่าสงสัยไม่น่าเชื่อว่า วันที่ 16 เมษายน 2553 อันเป็นเวลาที่ล่วงเลยการโอนเงินครั้งก่อนมาถึง 2 เดือนกว่า โจทก์จะโอนเงินเข้าบัญชีเพื่อลูกค้าของจำเลยที่ 1 เพื่อซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าในบัญชีของตนเองไปอีก ทั้งที่ยังไม่ทราบว่าเงินจำนวน 2,600,000 บาท ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้นำไปซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าตามคำสั่งของโจทก์อย่างไร มีเหลืออยู่เพียงใดหรือไม่ รวมทั้งโจทก์ก็มิได้ฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงินจำนวนนี้แก่โจทก์ด้วย ที่โจทก์อ้างว่าไม่ได้โทรศัพท์ไปแจ้งการโอนเงินแก่นายจีระสิทธิ์ แต่นายจีระสิทธิ์โทรศัพท์มาถึงโจทก์เองนั้น เป็นการขัดต่อเหตุผล เพราะหากโจทก์มิได้แจ้งการโอนเงินแต่ละครั้งให้นายจีระสิทธิ์ทราบ ย่อมเป็นการยากที่นายจีระสิทธิ์ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของจำเลยที่ 1 จะทราบได้ว่าจำนวนเงินที่โอนเข้ามาในบัญชีเพื่อลูกค้าของจำเลยที่ 1 แต่ละรายการนั้นเป็นของบุคคลใดโอนเข้ามาบ้าง และไม่น่าจะออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ลูกค้าที่โอนเงินเข้ามาโดยมิได้แจ้งได้ทันในวันเดียวกันนั้นตามที่จำเลยที่ 1 กับลูกค้าเคยปฏิบัติต่อกัน ที่โจทก์เบิกความตอบทนายโจทก์ถามติงว่า หลังจากโจทก์ถอนเงินผลกำไรจากบัญชีซื้อขายแล้ว นายจีระสิทธิ์ได้ติดต่อมาแจ้งว่ายางพารามีราคาน่าซื้อ คาดว่าจะทำกำไรได้ดี ดังนั้น เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2553 โจทก์จึงเริ่มโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 มียอดรวมกันประมาณ 2,600,000 บาท ในช่วงเวลาดังกล่าวนายจีระสิทธิ์แจ้งว่ายางพารามีราคาต่ำลงทำให้ขาดทุน ต่อมาวันที่ 16 เมษายน 2553 นายจีระสิทธิ์โทรศัพท์มาถามว่าจะทำกำไรชดเชยกับที่ขาดทุนหรือไม่ โจทก์จึงโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 อีก 5 ครั้งตามฟ้องนั้น เป็นการเบิกความอ้างลอย ๆ ขัดกับที่โจทก์เบิกความในตอนแรกว่าในช่วงดังกล่าวราคายางลดลงมากจึงต้องโอนเงินเข้าไปเพื่อสะสมเงินเอาไว้ (บล็อกสินค้าที่สั่งซื้อ) หรือรักษาสภาพการเงินของโจทก์ไว้ในบัญชี จึงเป็นข้อพิรุธ ทั้งการที่โจทก์อ้างว่าได้โอนเงินเข้าบัญชีเพื่อลูกค้าของจำเลยที่ 1 ในเดือนมกราคม 2553 ดังกล่าวแล้วขาดทุน ซึ่งนับว่าเป็นเงินจำนวนมาก แต่โจทก์ก็มิได้ขอให้นายจีระสิทธิ์ หรือจำเลยที่ 1 ส่งหลักฐานการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแล้วขาดทุนดังกล่าวว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้างให้โจทก์ได้ตรวจสอบว่าถูกต้องจริงหรือไม่ ทั้งที่มีระยะเวลาก่อนที่โจทก์จะโอนเงินจำนวนที่พิพาทคดีนี้ถึง 2 เดือนเศษ จึงไม่มีเหตุผลน่าเชื่อว่าโจทก์ได้โอนเงินที่พิพาทคดีนี้ซึ่งมีจำนวนเงินมากถึง 12,200,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 เพื่อซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าไปอีกโดยมิได้ตรวจสอบขอหลักฐานการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าในครั้งก่อนรวมทั้งแจ้งการโอนเงินเพื่อขอใบเสร็จรับเงินและสอบถามขอหลักฐานการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าจากจำเลยที่ 1 ในแต่ละครั้งทันทีว่า ยางพาราหรือสินค้าเกษตรที่ซื้อขายในแต่ละครั้งแต่ละรายการมีราคาเท่าไร ผลการซื้อขายมีกำไรหรือขาดทุนอย่างไรบ้าง กลับได้ความจากโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ที่จำเลยที่ 1 ออกให้แก่นายธนวีร์ มีรายการโอนเงินทั้ง 7 ครั้งที่พิพาทนี้ ตรงกับรายการโอนเงินโดยการโอนเงินนี้มีการตรวจสอบไปยังธนาคาร ก. แล้ว เป็นเงินที่โอนโดยเจ๊นาง โดยคุณธัญทิพย์ คำว่า เจ๊นาง เป็นชื่อทางการค้าไก่ของโจทก์ เงินที่โอนไปนี้เป็นเงินจากบัญชีของนายธนวีร์ แต่ต่อมาโจทก์เบิกความว่าเงินเป็นเงินของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 ออกใบรับเงินในนามของนายธนวีร์ เป็นการออกใบรับเงินให้ผิดคน เป็นการเบิกความกลับไปกลับมา และเกี่ยวกับใบรับเงินนี้ปรากฏว่า นายธนวีร์ได้เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านตอนแรกว่าใบรับเงินนั้น เป็นใบรับเงินที่จำเลยที่ 1 ออกให้แก่พยานหรือไม่ ไม่ยืนยัน เนื่องจากใบรับเงินดังกล่าวจำเลยที่ 1 สามารถออกได้เพียงฝ่ายเดียว แต่ต่อมาเมื่อทนายจำเลยที่ 1 อ้างสำเนาคำให้การ พยานจึงเบิกความว่าพยานได้เบิกความในคดีหมายเลขดำที่ 1810/2555 ว่า พยานได้รับเอกสารซึ่งเป็นเอกสารชุดเดียวกันจากโจทก์ (หมายถึงจำเลยที่ 1 คดีนี้ ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าว) และพยานไม่เคยทักท้วงเกี่ยวกับการซื้อขายหรือยอดเงินในบัญชีกับจำเลยที่ 1 เป็นการเบิกความกลับไปกลับมาเช่นเดียวกับโจทก์ เป็นข้อพิรุธแสดงให้เห็นว่าพยานโจทก์ดังกล่าวมิได้เบิกความตามความจริงอย่างตรงไปตรงมา เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงว่ารายการโอนเงินที่ลูกค้าแต่ละรายได้โอนเงินเข้ามาในบัญชีเพื่อลูกค้าของจำเลยที่ 1 เพื่อซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าซึ่งนายจีระสิทธิ์ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของจำเลยที่ 1 ไม่น่าจะทราบว่าเป็นของลูกค้าบุคคลใดเป็นผู้โอนเข้ามาถ้าลูกค้ารายนั้นมิได้แจ้งให้ทราบ เว้นแต่จะต้องสอบถามไปยังธนาคารให้ตรวจสอบตามที่นายวีระศักดิ์เบิกความ ดังนี้ หากนายธนวีร์มิได้เป็นผู้แจ้งให้นายจีระสิทธิ์ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของจำเลยที่ 1 ทราบว่าเป็นผู้โอนตามจำนวนเงินในวันดังกล่าว ไม่น่าเชื่อว่านายจีระสิทธิ์ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของจำเลยที่ 1 จะออกใบรับเงินให้แก่นายธนวีร์ ได้ถูกต้องตรงกับจำนวนเงินในวันดังกล่าว ที่นายธนวีร์เบิกความว่าได้ปรึกษากับนายจีระสิทธิ์ ว่าอยากให้จำเลยที่ 1 ลงทุนให้ หากมีกำไรก็จะแบ่งปันกัน นายจีระสิทธิ์ตกลง ประมาณเดือนมกราคม 2553 มีการโอนเงินเข้าบัญชีการซื้อขายของพยานประมาณ 600,000 บาท และต่อมามีการโอนเงินอีกจำนวนหลายครั้งรวมประมาณ 14,800,000 บาท นายจีระสิทธิ์บอกว่าได้โอนเงินเข้าบัญชีการซื้อขายของพยานแล้วให้ทำการสั่งซื้อขายได้เลย พยานจึงทำการสั่งซื้อขายผ่านนายจีระสิทธิ์ นั้น เป็นการขัดต่อเหตุผลไม่น่าเชื่อถือ เพราะนายจีระสิทธิ์ไม่น่าจะทราบว่าโจทก์โอนเงินเข้าบัญชีเพื่อลูกค้าของจำเลยที่ 1 ในวันใดเป็นจำนวนเงินเท่าไรและไม่น่าจะแจ้งให้นายธนวีร์ทราบเพื่อทำการสั่งซื้อสินค้าเกษตรล่วงหน้าได้ตามที่นายธนวีร์เบิกความ คำเบิกความพยานโจทก์ดังกล่าวขัดต่อเหตุผลไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ในขณะที่คำเบิกความพยานจำเลยทั้งสามสอดคล้องกับเอกสารชอบด้วยเหตุผล มีน้ำหนักรับฟังได้ดีกว่า ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่านายธนวีร์เป็นผู้แจ้งการโอนเงินที่พิพาทจำนวนรวม 12,200,000 บาท เข้าบัญชีเพื่อลูกค้าของจำเลยที่ 1 แก่นายจีระสิทธิ์ เพื่อทำการสั่งซื้อสินค้าเกษตรล่วงหน้า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของโจทก์ที่โอนมาจากบัญชีธนาคารของโจทก์ก็ตาม แต่เชื่อว่าโจทก์ต้องรู้เห็นยินยอมให้นายธนวีร์ใช้เงินดังกล่าวเพื่อทำการสั่งซื้อสินค้าเกษตรล่วงหน้าแก่นายจีระสิทธิ์แทน เพราะถ้าโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมหรือบอกให้นายธนวีร์ทราบว่าโจทก์ได้โอนเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีเพื่อลูกค้าของจำเลยที่ 1 ในวันใด เป็นจำนวนเท่าไร ไม่น่าเชื่อว่านายธนวีร์จะแจ้งให้นายจีระสิทธิ์ทราบและออกใบรับเงินได้อย่างถูกต้อง เมื่อพิจารณาแบบฟอร์มการเปิดบัญชีของโจทก์ที่ทำให้ไว้แก่จำเลยที่ 1 ระบุว่า โจทก์เป็นเจ้าของกิจการห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. กรณีเร่งด่วนให้ติดต่อนายนายธนวีร์ โดยระบุว่ามีความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วน และโจทก์เขียนตัวอย่างลายมือชื่อให้จำเลยที่ 1 ไว้โดยระบุอีเมลเป็นชื่ออีเมลของนายธนวีร์ ส่วนตามแบบฟอร์มการเปิดบัญชีของนายธนวีร์ ที่นายธนวีร์ทำให้ไว้แก่จำเลยที่ 1 ระบุหมายเลขโทรสารเป็นของโจทก์ ประกอบกับที่นายจีระสิทธิ์เบิกความว่า โจทก์กับนายธนวีร์มาด้วยกันตลอดตั้งแต่วันที่ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทยได้จัดงานที่โรงแรมเพื่อโปรโมทการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ มาขอเปิดบัญชีซื้อขายล่วงหน้าและทำสัญญาเพื่อทำการซื้อขายล่วงหน้ากับพยานที่บริษัทจำเลยที่ 1 ด้วยกัน และนายธนวีร์ก็เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการร่วมกับโจทก์ในห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2554 ทั้งยังได้ความจากนายจีระสิทธิ์เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า พยานทราบว่ากำลังซื้อขายของนายธนวีร์ นั้นโจทก์รับรู้ด้วย เมื่อสถานะทางบัญชีซื้อขายของนายธนวีร์ขาดทุน และถูกเรียกเก็บเงินประกันเพิ่มเติม และเป็นหนี้บริษัทจำเลยที่ 1 นายธนวีร์ได้ขอให้พยานโทรศัพท์ไปหาโจทก์เพื่อช่วยพูดถึงสาเหตุที่นายธนวีร์ซื้อขายขาดทุนและเป็นหนี้บริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งหากเงินที่นำมาใช้เป็นเงินของนายธนวีร์เองก็ไม่มีความจำเป็นที่นายจีระสิทธิ์จะต้องโทรศัพท์ไปชี้แจงให้โจทก์ทราบ ดังนั้น การซื้อขายในบัญชีของนายธนวีร์ นายจีระสิทธิ์จึงน่าจะทราบดีว่าเป็นการซื้อขายโดยใช้เงินของโจทก์ และนายธนวีร์น่าจะกระทำการแทนโจทก์ เช่นนี้ถือว่า โจทก์ได้เชิดหรือยอมให้นายธนวีร์เชิดตนเองออกเป็นตัวแทนของตนในการใช้เงินจำนวนพิพาทที่โอนเข้าบัญชีเพื่อลูกค้าของจำเลยที่ 1 ทำการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแทน โจทก์จึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่านายธนวีร์เป็นตัวแทนของตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 เมื่อนายธนวีร์ได้ใช้เงินจำนวนพิพาทของโจทก์ที่โอนเข้าบัญชีเพื่อลูกค้าของจำเลยที่ 1 ทำการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแทนโจทก์ไปแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินจำนวนพิพาทคืนให้แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 200,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์