โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หากเห็นว่าโจทก์ต้องชำระภาษีตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ขอให้งดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มทั้งหมดแก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2541 เจ้าพนักงานของจำเลยได้ออกหมายเรียกตรวจสอบการเสียภาษีของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2537 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2538 และรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2538 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2539 แผ่นที่ 334 ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2543 เจ้าพนักงานของจำเลยได้มีหนังสือแจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคลผลการตรวจสอบพบว่าในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2537 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2538 โจทก์แสดงรายได้ขายขาดไป 1,563,973.73 บาท กำไรจากการขายทรัพย์สินแสดงไว้ขาดไป 4,671.90 บาท รายได้ดอกเบี้ยรับแสดงไว้ขาดไป 331,804.12 บาท มีรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) (6 ทวิ) 204,391.58 บาท รายจ่ายค่าเสื่อมราคารถยนต์หักให้เพิ่มเติม 7,273 บาท เมื่อปรับปรุงแล้วโจทก์ต้องชำระภาษีเพิ่มเติมเป็นเงิน 629,270.50 บาท เบี้ยปรับซึ่งลดให้คงเรียกเก็บร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายเป็นเงิน 314,635.25 บาท และเงินเพิ่ม 509,709.11 บาท ส่วนในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2538 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2539 โจทก์แสดงรายได้ขายขาดไป 3,647,268.21 บาท กำไรจากการขายทรัพย์สินแสดงไว้ขาดไป 69,967 บาท รายได้ดอกเบี้ยรับแสดงไว้ขาดไป 405,291.71 บาท รายได้เงินชดเชยภาษีแสดงไว้ขาดไป 114,652.72 บาท มีรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6 ทวิ) 294,264.68 บาท รายจ่ายค่าเสื่อมราคารถยนต์หักให้เพิ่มเติม 19,722.36 บาท เมื่อปรับปรุงแล้วโจทก์ต้องชำระภาษีเพิ่มเติมเป็นเงิน 1,353,498.59 บาท เบี้ยปรับซึ่งลดให้คงเรียกเก็บร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายเป็นเงิน 676,749.30 บาท และเงินเพิ่ม 852,704.11 บาท โจทก์ได้ชำระภาษีทุกประเภทตามการประเมินให้แก่จำเลยแล้ว เว้นแต่ภาษีเงินได้นิติบุคคลเฉพาะกรณีที่ประเมินว่าสินค้าที่ขาดไปจากบัญชีคุมสินค้าของโจทก์ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีถือเป็นการขายและถือว่าโจทก์แสดงรายได้ขายขาดไปจำนวน 1,548,579.41 บาท และจำนวน 3,640,246.84 บาท ตามลำดับ โดยโจทก์ได้อุทธรณ์โต้แย้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลเฉพาะประเด็นดังกล่าวตามคำอุทธรณ์ ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบแล้ว ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เฉพาะที่ประเมินว่าโจทก์แสดงรายได้ขายขาดไปโดยคำนวณมูลค่าของสินค้าที่ขาดจากบัญชีคุมสินค้าถือเป็นการขายสินค้าต้องนำมาคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นชอบหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า สินค้าที่ขาดหายไปจากบัญชีคุมสินค้านั้นมิใช่เป็นการขายสินค้า โดยจำเลยจะนำนิยามคำว่า ขายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77/1 (8) (จ) ซึ่งใช้บังคับในกรณีภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้กับภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ได้ ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ปรากฏหลักฐานใดที่แสดงว่าโจทก์มีการขายสินค้าที่ขาดจากบัญชีคุมสินค้า การที่เจ้าพนักงานของจำเลยประเมินว่าโจทก์ขายสินค้าดังกล่าวต้องนำรายได้จากการขายสินค้ามาคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า การที่เจ้าพนักงานของจำเลยได้ตรวจสอบเอกสารบัญชีคุมสินค้าของโจทก์ซึ่งมีทั้งรายการสินค้าที่ขาดและเกินจากบัญชี โดยนำเอามูลค่าของสินค้าที่ขาดจากบัญชีคุมสินค้าตามที่โจทก์ตรวจนับเองมาคำนวณเป็นรายได้เท่ากับยอดขายสินค้า โดยถือว่าโจทก์ขายสินค้าดังกล่าวแล้วไม่ลงบัญชีหรือลงบัญชีต่ำไป แต่เมื่อโจทก์ชี้แจงถึงเหตุที่สินค้าขาดหายจากบัญชีคุมสินค้าหลายประการ เจ้าพนักงานของจำเลยก็ยอมให้โจทก์นำรายการสินค้าที่เกินจากบัญชีมาหักออกจากรายการสินค้าที่ขาดจากบัญชีสำหรับสินค้าที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน แล้วแก้รายการที่โจทก์ยื่นไว้เดิมว่าโจทก์มีรายได้จากการขายสินค้าที่ขาดจำนวนในบัญชีคุมสินค้านั้น เป็นวิธีประเมินด้วยการตรวจสอบพยานหลักฐานที่ปรากฏตามประมวลรัษฎากร มาตรา 20 มิได้ประเมินตามมาตรา 77/1 (8) (จ) จึงเป็นการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ถูกต้อง ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสุดท้ายว่า กรณีมีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า แม้โจทก์ไม่มีเจตนาทุจริตและไม่จงใจหลีกเลี่ยงภาษี แต่เป็นความบกพร่องของโจทก์ในการจัดทำบัญชีคุมสินค้า ที่เจ้าพนักงานประเมินพิจารณาลดเบี้ยปรับให้คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย เหมาะสมแก่กรณีแล้ว ไม่มีเหตุสมควรลดเบี้ยปรับให้อีก ส่วนเงินเพิ่มนั้นประมวลรัษฎากร มาตรา 27 ได้กำหนดไว้แน่นอนโดยไม่มีข้อยกเว้นให้งดเก็บหรือลดลงได้ ศาลฎีกาไม่อาจพิจารณางดหรือลดลงได้ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน"
พิพากษายืน