โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335, 336 ทวิ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 39,936 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) ประกอบมาตรา 336 ทวิ (ที่ถูก มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83) จำคุกคนละ 3 ปี และปรับคนละ 15,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 7,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี คุมความประพฤติของจำเลยทั้งสองไว้ โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ภายในกำหนดเวลา 1 ปี กับให้จำเลยทั้งสองกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยทั้งสองเห็นสมควรเป็นเวลา 48 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 39,936 บาท แก่ผู้เสียหาย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับ ไม่รอการลงโทษจำคุกและไม่คุมความประพฤติของจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 นำข้อความตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติส่วนที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 1 มาประกอบดุลพินิจในการลงโทษจำเลยที่ 1 เป็นการพิจารณาพิพากษาคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้หยิบยกเอาข้อความตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติมาประกอบการใช้ดุลพินิจในการลงโทษจำเลยที่ 1 ซึ่งตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2551 ระบุว่า ในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นได้แจ้งรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่คัดค้านและลงชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวด้วย จึงต้องถือว่าศาลชั้นต้นได้แจ้งข้อความตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติทั้งในส่วนที่เป็นผลดีและผลร้ายให้จำเลยที่ 1ทราบแล้ว และต้องถือว่ารายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติถูกต้องตรงกับความจริงแล้ว ประกอบกับพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2522 มาตรา 13 บัญญัติว่า "ศาลมีอำนาจที่จะรับฟังรายงานและความเห็นของพนักงานคุมประพฤติตามมาตรา 11 โดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบ แต่ถ้าศาลจะใช้รายงานและความเห็นเช่นว่านั้นเป็นผลร้ายแก่จำเลยให้ศาลแจ้งข้อความที่เป็นผลร้ายนั้นให้จำเลยทราบ เมื่อจำเลยคัดค้านพนักงานคุมประพฤติมีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าสืบประกอบรายงานและความเห็นก่อน และจำเลยมีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างได้" ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีอำนาจที่หยิบยกเอาข้อความตามรายงานการสืบเสาะและพินิจดังกล่าวมาประกอบการใช้ดุลพินิจในการลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ หาเป็นการพิจารณาพิพากษาคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างในฎีกาแต่อย่างใดไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกลักทรัพย์รวมราคา 39,936 บาท ของผู้เสียหาย โดยใช้รถยนต์กระบะเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 เป็นไปโดยไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย และก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยที่ 1 ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว หรือมีเหตุอื่นดังที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างในฎีกา ก็มิใช่เป็นเหตุผลเพียงพอจะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ปรากฏจากคำร้องของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 31 ตุลาคม 2551 ว่า จำเลยที่ 1 นำเงินค่าเสียหายจำนวน 10,000 บาท มาวางต่อศาลชั้นต้นเพื่อชดใช้คืนแก่ผู้เสียหาย นับว่าจำเลยที่ 1 รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดของตน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ถึง 3 ปี ก่อนลดโทษให้นั้น เป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษที่หนักเกินไป เห็นสมควรแก้ไขเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่รูปคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215, 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 1 ปี 6 เดือน ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2