ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4) ลงโทษประหารชีวิต ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ข้อ 6 จำคุกคนละ 1 ปี ฐานพกพาอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ข้อ 3, 7 จำคุกคนละ 6 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง และจำเลยที่ 2 ที่ 3 คนละ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1 30 ปี 9 เดือน จำเลยที่ 2 ที่ 3 คนละ 51 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "คดีมีปัญหาว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวนายอิมะแอประจักษ์พยานของโจทก์เบิกความว่า เมื่อนายเหมผู้ตายถูกยิงนัดแรกล้มลงไปแล้วปืนดังขึ้นอีก 1 นัด ต่อมาปืนดังขึ้นอีกประมาณ 10 นัด ขณะที่นายอิสมะแอแอบอยู่ข้างทางห่างจากนายเหมผู้ตายถูกยิงประมาณ 10 - 15วา เห็นจำเลยที่ 1 ซึ่งนายอิสมะแอรู้จักมาก่อนถืออาวุธปืนลูกซองเดี่ยวยาวเดินนำหน้าออกมาจากข้างทาง โดยมีจำเลยที่ 2 ถืออาวุธปืนลูกซองเดี่ยวยาวกับจำเลยที่ 3 ถืออาวุธปืนลูกซองสั้นเดินตามออกมา แล้วจำเลยที่ 1 ที่ 2 ยิงนายเหมผู้ตายซ้ำอีกคนละ 1 นัด แล้วจึงพากันหนีไป ซึ่งนายอิสมะแอว่าจำจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ เมื่อพนักงานสอบสวนจัดทำการชี้ตัวคนร้าย นายอิสมะแอก็ชี้ตัวจำเลยที่ 3 ได้ถูกต้อง นายนุ้ยก็เบิกความยืนยันว่าที่จำเลยที่ 2 ไปขอยืมอาวุธปืนลูกซองเดี่ยวยาวของตนนั้นจำเลยที่ 3 ก็ไปด้วยมูลเหตุที่จะไปยิงนายเหมนอกจากนายเหละบิดานายเหมผู้ตายจะเบิกความว่าจำเลยที่ 1 โกรธนายเหมผู้ตายเพราะนายเหมผู้ตายแจ้งความว่าจำเลยที่ 1 ลักวัวของตนแล้ว ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 3 ยังให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชวนจำเลยที่ 3 ไปยิงคน จำเลยที่ 3 ขัดไม่ได้ก็ไปด้วย และร่วมไปดักซุ่มยิงนายเหมผู้ตายทั้งในวันที่ 7 และ 8 กันยายน 2524 แต่จำเลยที่ 3 ไม่ได้ยิงเพราะพอยกปืนจะยิง ปืนดังมาจากผู้ตาย 1 นัด กระสุนปืนถูกที่ข้อมือขวาของจำเลยที่ 3 จึงไม่ได้ยิง ซึ่งจำเลยที่ 3 มีบาดแผลที่แขนขวาจริงดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.18 ลักษณะบาดแผลของจำเลยที่ 3 สอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวน ในชั้นศาลจำเลยที่ 3 ไม่ได้เบิกความถึงในเรื่องบาดแผลดังกล่าวเลยว่าเกิดจากเหตุใด เชื่อว่าจำเลยที่ 3 ให้การในชั้นสอบสวนตามความจริงเมื่อนำคำให้การในชั้นจับกุมสอบสวนมาพิจารณาประกอบคำของนายอิสมะแอนายนุ้ย ดังยกขึ้นกล่าวข้างต้น เชื่อได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำความผิดจริงดังฟ้อง พยานฐานที่อยู่ของจำเลยที่ 3 ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างพยานโจทก์ได้
ขณะพิจารณาคดีนี้ปรากฏว่า มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 3 ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2 ให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งข้อความที่แก้ไขใหม่แล้วตามมาตรา 91(3) ความว่า ให้ศาลลงโทษผู้กระทำผิดทุกกระทงความผิด แต่ต้องไม่เกินกำหนดห้าสิบปีสำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต อันเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดที่แตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดและเป็นคุณต่อจำเลยในคดีนี้ทุกคน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วย จึงกำหนดโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 เสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติภายหลังอันเป็นคุณแก่จำเลย"
พิพากษาแก้เป็นว่า รวมโทษทุกกระทงแล้วให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2ที่ 3 คนละ 50 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์