คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียก โจทก์ทั้งสามสำนวนว่า โจทก์ เรียกโจทก์ร่วมสำนวนแรกและสำนวนที่สองว่า โจทก์ร่วม เรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ เรียกจำเลยในสำนวนที่สองว่า จำเลยที่ 3 และเรียกจำเลยในสำนวนที่สามว่า จำเลยที่ 4
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามสำนวนเป็นใจความขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 269/5, 269/7, 334, 335 และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 11,880,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายชุย ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในสำนวนแรกและสำนวนที่สอง ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (11) วรรคสอง, 269/5 ประกอบมาตรา 269/7 ฐานลักทรัพย์นายจ้างในเวลากลางคืน จำคุก 2 ปี ฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบและฐานลักทรัพย์นายจ้างในเวลากลางคืนเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5 ประกอบมาตรา 269/7 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี รวมจำคุก 8 ปี ทางนำสืบจำเลยที่ 4 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5 ประกอบมาตรา 269/7 และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) วรรคแรกและวรรคสอง (เดิม) จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) (11) วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันลักทรัพย์ (บัตรอิเล็กทรอนิกส์) ในเวลากลางคืน จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 2 ปี ฐานร่วมกันลักทรัพย์ (บัตรอิเล็กทรอนิกส์) ที่เป็นของนายจ้างในเวลากลางคืน จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 2 ปี ฐานร่วมกันใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกให้เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้าแทนการชำระด้วยเงินสดหรือใช้เบิกถอนเงินสดโดยมิชอบ กับฐานร่วมกันลักทรัพย์ (เงินสด) ฯ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ฐานร่วมกันใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกให้เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้าแทนการชำระด้วยเงินสดหรือใช้เบิกถอนเงินสดโดยมิชอบ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 26 กระทง เป็นจำคุกคนละ 52 ปี ทางนำสืบของจำเลยทั้งสี่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ประกอบกับโจทก์ร่วมได้รับเงินคืนครบถ้วนแล้ว ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานร่วมกันลักทรัพย์ (บัตรอิเล็กทรอนิกส์) ฯ คงจำคุกคนละ 1 ปี 4 เดือน ฐานร่วมกันใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกให้เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้าแทนการชำระด้วยเงินสดหรือใช้เบิกถอนเงินสดโดยมิชอบ คงจำคุกคนละ 34 ปี 8 เดือน (ที่ถูก 26 ปี 104 เดือน) แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุกจำเลยทั้งสี่คนละ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสี่ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยที่ 4 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ร่วมเป็นคนสัญชาติจีนได้ประกอบธุรกิจโดยเปิดบริษัทอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ โจทก์ร่วมเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคาร ก. สมุทรปราการ และขอใช้บัตรเดบิต เพื่อใช้เบิกถอนเงินรวมทั้งใช้โอนเงินและใช้ชำระค่าสินค้าและบริการแทนการชำระด้วยเงินสด ในการประกอบธุรกิจโจทก์ร่วมมีนายธนะสิทธิ์ เป็นล่ามและผู้ช่วยดูแลธุรกิจ นางสาวกรวรรณ เป็นลูกจ้าง โจทก์ร่วมมอบหมายให้คนทั้งสองใช้บัตรเดบิตดังกล่าวในการเบิกถอนเงินของโจทก์ร่วมโดยนางสาวกรวรรณเป็นผู้เก็บรักษาบัตรไว้ จำเลยที่ 4 บุตรนางสาวกรวรรณเพิ่งมาทำงานกับโจทก์ร่วมเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2559 ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยมารดาและขับรถให้โจทก์ร่วม อัตราเงินเดือน 15,000 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นสามีภริยากันและประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ขายวัสดุก่อสร้าง และยังมีกิจการร้านทำเล็บชื่อร้านชิคเนล จำเลยที่ 3 เป็นคนรักของจำเลยที่ 4 และมาพักกับจำเลยที่ 4 ที่บริษัทโจทก์ร่วมหลายครั้ง จำเลยที่ 3 เคยเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และได้ชักชวนให้คนทั้งสองมาพูดคุยกับโจทก์ร่วมเพื่อจะได้ร่วมทำธุรกิจด้วยกัน จำเลยที่ 3 เปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคาร ก. เชียงใหม่ และขอใช้บัตรเดบิต เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2559 จำเลยที่ 1 และที่ 2 มาที่บริษัทโจทก์ร่วมเพื่อชักชวนให้โจทก์ร่วมลงทุนทำธุรกิจด้วยกัน ในการพูดคุยกับโจทก์ร่วมนั้นยังมีจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 นายธนะสิทธิ์ และนางสาวกรวรรณร่วมอยู่ในที่ประชุมด้วย วันดังกล่าวโจทก์ร่วมยังไม่ตกลงที่จะร่วมทุนด้วย หลังจากนั้นก็ไม่มีการประชุมพูดคุยระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับโจทก์ร่วมอีก จนกระทั่งต่อมาวันที่ 15 ธันวาคม 2559 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยที่ 1 และที่ 2 มารับบัตรเดบิตของโจทก์ร่วมจากจำเลยที่ 4 โดยมีจำเลยที่ 3 อยู่ด้วย แต่โจทก์ร่วมมิได้อยู่ด้วย เมื่อรับบัตรเดบิตของโจทก์ร่วมแล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากบริษัทโจทก์ร่วมไปใช้บัตรดังกล่าวเบิกถอนเงินและโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 ทันที หลังจากนั้นต่อมาอีก 11 วัน ต่อเนื่องกันทุกวัน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้บัตรเบิกถอนเงินบ้าง โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 และที่ 2 บ้าง บางวันใช้ชำระค่าสินค้าและบริการผ่านเครื่องชำระอัตโนมัติที่ร้านชิคเนลของจำเลยที่ 1 และที่ 2 บ้าง โดยเป็นการเบิกถอนเงิน 103 ครั้ง โอนเงินเข้าบัญชี 13 ครั้ง และชำระค่าสินค้า 2 ครั้ง รวมเป็นเงินที่ออกจากบัญชีของโจทก์ร่วมทั้งสิ้น 11,880,000 บาท คงเหลือเงินในบัญชีเพียง 4,836.30 บาท ในช่วงเวลาดังกล่าวโจทก์ร่วมไม่ทราบเรื่องการใช้บัตรเดบิตเช่นนั้นเลย จนกระทั่งวันที่ 29 ธันวาคม 2559 โจทก์ร่วมสั่งให้นายธนะสิทธิ์ไปเบิกถอนเงินเพื่อจ่ายเงินเดือนพนักงานและเป็นค่าใช้จ่ายในบริษัท นายธนะสิทธิ์จึงสั่งให้นางสาวกรวรรณนำบัตรเดบิตไปเบิกถอนเงิน แต่นางสาวกรวรรณแจ้งว่าถอนไม่ได้เพราะรหัสบัตรไม่ถูกต้อง เมื่อลองใช้อีกครั้งก็ยังใช้ไม่ได้ วันรุ่งขึ้นนายธนะสิทธิ์จึงไปตรวจสอบที่ธนาคารแล้วทราบว่ามีการใช้บัตรเดบิตของโจทก์ร่วมในระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ถึงวันที่ 26 ธันวาคม 2559 เป็นเงิน 11,000,000 บาทเศษ จึงแจ้งให้โจทก์ร่วมทราบ แต่เนื่องจากวันที่ 31 ธันวาคม 2559 และวันที่ 1 มกราคม 2560 ธนาคารปิดทำการ โจทก์ร่วมจึงนำบัตรเดบิตดังกล่าวไปตรวจสอบในวันที่ 2 มกราคม 2560 จึงทราบว่าบัตรดังกล่าวไม่ใช่ของโจทก์ร่วมแต่เป็นของจำเลยที่ 3 และเงินในบัญชีโจทก์ร่วมถูกถอนออกไปแล้ว 11,000,000 บาทเศษ วันเดียวกันนั้นโจทก์ร่วมไปแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจภูธรบางแก้วโดยนำรายการเดินบัญชีไปมอบให้เป็นหลักฐานด้วย รวมทั้งแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจว่ามีการโอนเงินไปเข้าบัญชีเงินฝาก 2 บัญชี คือบัญชีของจำเลยที่ 1 และบัญชีของจำเลยที่ 2 และสงสัยว่านางสาวกรวรรณและจำเลยที่ 4 น่าจะเป็นคนร้าย เพราะเมื่อโจทก์ร่วมทราบเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว คนทั้งสองไม่มาทำงานและหลบหนีไปไม่สามารถติดต่อได้ ต่อมาวันที่ 17 มกราคม 2560 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ วันที่ 5 เมษายน 2560 จับกุมจำเลยที่ 3 ได้ และวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 จับกุมจำเลยที่ 4 ได้ จำเลยทั้งสี่ให้การไว้ในชั้นสอบสวน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาของจำเลยที่ 3 และฎีกาของจำเลยที่ 4 ทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสี่จะเบิกความยืนยันตรงกันว่าโจทก์ร่วมมอบหมายให้จำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนไปร่วมลงทุนโดยทำสัญญาร่วมลงทุน เงินลงทุน 12,000,000 บาท แต่ในการร่วมลงทุนเป็นเงินสูงถึง 12,000,000 บาทนั้น น่าจะต้องมีการพูดคุยให้ชัดแจ้งแน่นอนเสียก่อน เพราะโจทก์ร่วมเพิ่งประชุมพูดคุยกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพียงครั้งเดียวและยังไม่ได้ตกลงกันในรายละเอียดเลย อีกทั้งครั้งแรกนั้นโจทก์ร่วมก็ยังไม่สนใจด้วย ข้ออ้างของจำเลยทั้งสี่ในเรื่องนี้ไม่เพียงแต่จะปรากฏข้อพิรุธมากมายถึง 5 ประการ ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้วนั้น ยังมีเหตุผลสำคัญอีกหลายประการที่ทำให้เชื่อได้ว่าไม่มีการตกลงร่วมลงทุนกัน คือ ประการที่หนึ่ง เมื่อโจทก์ร่วมทราบจากนายธนะสิทธิ์ว่าไม่สามารถเบิกเงินได้ในวันที่ 29 ธันวาคม 2559 โจทก์ร่วมจึงไปตรวจสอบที่ธนาคารในวันที่ 2 มกราคม 2560 และทราบจากเจ้าหน้าที่ธนาคารว่าบัตรเดบิตที่ไม่สามารถใช้เบิกถอนเงินในวันที่ 29 ธันวาคม 2559 นั้นเป็นของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นคนรักของจำเลยที่ 4 และคนร้ายที่ไปใช้บัตรเดบิตของโจทก์ร่วมคือจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยไปกดถอนเงิน โอนเงินเข้าบัญชี และใช้ชำระค่าสินค้าและบริการที่ร้านของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งหากโจทก์ร่วมได้ตกลงให้จำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนไปร่วมลงทุนจริง โจทก์ร่วมย่อมไม่ไปแจ้งความเอาผิดแก่จำเลยทั้งสี่ในทันทีที่ทราบเรื่องในวันที่ 2 มกราคม 2560 เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจติดตามตัวมาลงโทษ ประการที่สอง เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2560 โจทก์ร่วมยังไปปรึกษานายเชาว์วัจน์ว่าเงินโจทก์ร่วมหายไป โจทก์ร่วมไม่ได้บอกเลยว่ามีการเอาเงินไปลงทุน ประการที่สาม เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถูกจับกุมในวันที่ 17 มกราคม 2560 คนทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยในคำร้องอ้างเพียงว่าคนทั้งสองไม่ทราบว่าเงินที่จำเลยที่ 4 เอามาลงทุนนั้นเป็นเงินของใคร จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้อ้างในคำร้องเลยว่าเป็นเงินร่วมลงทุนของโจทก์ร่วมที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนแล้ว ข้อเท็จจริงจึงแจ้งชัดว่าไม่เคยมีการตกลงร่วมลงทุนกับโจทก์ร่วมแต่อย่างใด นอกจากนั้นในชั้นสอบสวนเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2560 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่าไม่เคยพูดคุยกับโจทก์ร่วมเรื่องร่วมลงทุนธุรกิจกันเลย จำเลยที่ 4 เป็นผู้เอาเงินมาลงทุน หากมีหนังสือสัญญาร่วมลงทุนกัน ซึ่งลงวันที่ 13 ธันวาคม 2559 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมต้องแสดงหนังสือสัญญาร่วมลงทุนดังกล่าวในชั้นสอบสวนเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ การที่ไม่ได้กล่าวอ้างและยืนยันหนังสือสัญญาฉบับดังกล่าวเป็นเพราะไม่เคยมีการทำสัญญาเช่นนั้นกันมาก่อนเลย ดังนั้น ที่จำเลยทั้งสี่อ้างว่ามีหลักฐานการร่วมลงทุนคือหนังสือสัญญาร่วมลงทุนที่จำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนของโจทก์ร่วมนั้น จึงเป็นการสร้างหลักฐานขึ้นในภายหลังเพื่อให้ดูเหมือนมีการร่วมลงทุนกันซึ่งจะทำให้พ้นผิดได้ เหตุผลประการสุดท้ายที่ทำให้ข้ออ้างเรื่องการร่วมลงทุนนั้นไม่มีทางเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติของวิธีการร่วมลงทุน คือหากมีการตกลงร่วมลงทุนกันจริง โจทก์ร่วมจะต้องเป็นฝ่ายมอบเงินตามจำนวนที่ตกลงกัน เพราะไม่มีใครที่จะให้บัตรเดบิตของตนไปให้อีกฝ่ายไปดำเนินการกดถอนเงินออกมาเองเพราะไม่เพียงแต่เป็นการผิดวิสัยอย่างยิ่ง แต่ยังไม่มีปกติชนทำกันเช่นนี้ ส่วนที่จำเลยที่ 3 เบิกความในชั้นพิจารณาทำนองว่า ได้เล่าให้จำเลยที่ 4 ฟังว่าธุรกิจของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นธุรกิจที่ดี หากร่วมทุนด้วยกันจะทำกำไรได้มาก ต่อมาทราบว่าโจทก์ร่วมให้จำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนไปลงทุนโดยจำเลยที่ 3 ไม่ทราบรายละเอียดในการลงทุน แต่มารู้ว่าบัตรของตนเองหายไปเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2560 อันเป็นการต่อสู้ว่าจำเลยที่ 3 มิได้สมรู้ร่วมคิดในการร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยที่ 3 ไม่เพียงแต่ขัดกับคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 ที่ว่า จำเลยที่ 3 มอบบัตรเดบิตของตนให้จำเลยที่ 4 ไปสับเปลี่ยนกับบัตรเดบิตของโจทก์ร่วม หาได้ให้การว่าบัตรของตนหายไปแต่อย่างใด ขณะให้การชั้นสอบสวนก็มีทนายความของจำเลยที่ 3 ร่วมฟังด้วย ดังนั้น คำให้การดังกล่าวจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือให้รับฟังได้เป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณา นอกจากนี้จำเลยที่ 3 ยังตอบคำถามค้านโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 อยู่ในเหตุการณ์ขณะจำเลยที่ 4 มอบบัตรเดบิตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งสอดคล้องกับทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ที่ว่า จำเลยที่ 3 มีบทบาทมาตั้งแต่ต้นโดยแจ้งผ่านจำเลยที่ 4 ว่าโจทก์ร่วมประสงค์จะร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งยังเข้าร่วมประชุมกับโจทก์ร่วมด้วย หลังจากวันประชุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังติดต่อผ่านจำเลยที่ 3 แล้วจำเลยที่ 3 แจ้งว่าโจทก์ร่วมจะร่วมลงทุนโดยผ่านตัวแทนคือจำเลยที่ 4 ส่วนการทำสัญญาร่วมลงทุนในวันที่ 12 ธันวาคม 2559 นั้น จำเลยที่ 3 ยังระบุให้จำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนร่วมลงทุน 12,000,000 บาท วันที่ 15 ธันวาคม 2559 จำเลยที่ 3 แจ้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 มารับเงินที่บริษัทโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปถึง ก็พบจำเลยที่ 3 และที่ 4 แล้วรับบัตรเดบิตจากจำเลยที่ 4 ไปกดถอนเงิน โอนเงิน และชำระค่าสินค้าและบริการ แม้ข้อเท็จจริงในตอนรับบัตรเดบิตกันนั้นจำเลยที่ 4 มิได้เบิกความไว้ว่าจำเลยที่ 3 อยู่ร่วมด้วย แต่เมื่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นคู่รักกัน จำเลยที่ 4 ย่อมต้องการช่วยเหลือจำเลยที่ 3 เป็นธรรมดา เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ได้วินิจฉัยมาก่อนหน้านี้แล้วว่าโจทก์ร่วมมิได้ตกลงร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เลย การร่วมมือกันของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวจึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำหน้าที่ลักบัตรเดบิตของโจทก์ร่วมมาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปกดถอนเงิน โอนเงิน และชำระค่าสินค้าและบริการหลายครั้งเพื่อเอาเงินออกจากบัญชีของโจทก์ร่วม อันเป็นการลักเงินของโจทก์ร่วมไปเป็นประโยชน์แก่จำเลยทั้งสี่โดยทุจริต จำเลยทั้งสี่จึงมีความผิดดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษา ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมาตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 กระทำความผิดฐานยักยอกหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ร่วมให้การชั้นสอบสวนว่าปกติให้นางสาวกรวรรณเป็นผู้เก็บรักษาบัตร โจทก์ร่วมมิได้ให้การเลยว่าให้จำเลยที่ 4 เป็นผู้เก็บรักษาบัตร ขณะโจทก์ร่วมให้การชั้นสอบสวน โจทก์ร่วมสงสัยทั้งนางสาวกรวรรณและจำเลยที่ 4 ว่าเป็นคนร้าย เพราะหลังจากโจทก์ร่วมทราบเรื่องคนทั้งสองไม่เข้ามาทำงานและหลบหนีไปไม่สามารถติดต่อได้ หากจำเลยที่ 4 ได้รับมอบหมายให้ครอบครองเก็บรักษาบัตรของโจทก์ร่วมก็ไม่มีเหตุผลที่โจทก์ร่วมจะไม่ให้การในเรื่องนี้ไว้ อีกทั้งโจทก์ร่วมยังได้ให้การชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 4 ทำหน้าที่เพียงวางระบบคอมพิวเตอร์และขับรถให้โจทก์ร่วม นายธนะสิทธิ์ก็เบิกความในชั้นพิจารณายืนยันข้อเท็จจริงเดียวกันนี้ แม้จำเลยที่ 4 จะมีมารดาช่วยยืนยันในข้อกล่าวอ้างว่าโจทก์ร่วมให้จำเลยที่ 4 เป็นผู้เก็บรักษาบัตรด้วย แต่คำเบิกความของคนทั้งสองเป็นการกล่าวอ้างโดยปราศจากพยานหลักฐานใด ๆ สนับสนุนซึ่งง่ายต่อการกล่าวอ้าง แต่ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ข้อเท็จจริงจึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ร่วมได้มอบหมายให้จำเลยที่ 4 ช่วยดูแลด้านการเงินรวมทั้งครอบครองบัตรเดบิตของโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยที่ 4 ไม่ได้ครอบครองบัตรเดบิตของโจทก์ร่วม การกระทำความผิดของจำเลยที่ 4 จึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอก ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ว่า การใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามฟ้องข้อ 1.2 ถึง 1.27 รวม 26 ครั้ง เป็นความผิดกรรมเดียวหรือไม่ เห็นว่า การใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ 26 ครั้ง ดังกล่าวแม้มีความมุ่งหมายเพียงอันเดียวคือเพื่อลักเอาเงินของโจทก์ร่วมไปจากบัญชี แต่เนื่องจากเงินในบัญชีมีจำนวนมากซึ่งไม่อาจลักเอาไปเสียทีเดียวในครั้งเดียวได้ เพราะธนาคารวางระเบียบเกี่ยวกับจำนวนเงินที่อาจถอนอาจโอนได้ในแต่ละวันไว้ก็ตาม แต่การใช้จำนวน 26 ครั้ง ดังกล่าวนั้นได้กระทำต่างวันต่างเวลากันและต่างสถานที่กัน มิได้กระทำต่อเนื่องกันแต่อย่างใด ทั้งยังมีโอกาสที่จะยับยั้งในแต่ละครั้ง จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามฟ้องรวม 26 กรรมนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 หรือไม่ และสมควรลงโทษสถานเบาให้จำเลยที่ 4 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันกับพวกกระทำความผิดเพราะความโลภในทรัพย์ของผู้อื่น จึงได้ลักเอาเงินโจทก์ร่วมไปถึง 11,880,000 บาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนสูงมาก พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยทั้งสี่ได้ชดใช้เงินคืนให้โจทก์ร่วมแล้ว แต่กลับให้การปฏิเสธทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา นับว่าไม่มีความสำนึกในการกระทำความผิด จึงไม่สมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษมานั้นจึงเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนโทษจำคุกที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดมานั้นนับว่าเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง ฎีกาของจำเลยที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน