โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,849,026.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 784,898.17 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,518,780.26 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี ของต้นเงิน 744,715.17 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 1 มิถุนายน 2550) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยทำสัญญานายหน้าและ/หรือตัวแทนและให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์เอกเอเชีย จำกัด (มหาชน) ในวงเงิน 2,000,000 บาท ตกลงชำระราคาค่าหลักทรัพย์รวมทั้งดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายแต่ละรายการเมื่อเรียกให้ชำระ และให้บริษัทหลักทรัพย์ เอกเอเชียจำกัด (มหาชน) ยึดถือครอบครองหลักทรัพย์ที่จำเลยสั่งซื้อรวมตลอดทั้งทรัพย์สินที่วางเป็นประกันหนี้ทั้งหลาย ในกรณีที่หลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันมีมูลค่าลดลงจนทำให้อัตราส่วนที่จะต้องดำรงเท่ากับหรือต่ำกว่าร้อยละ 25 มีสิทธิที่จะบังคับขายหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันได้ในวันทำการถัดไปเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ ในกรณีเงินที่ได้จากการขายหลักทรัพย์ไม่พอชำระหนี้จำเลยจะชำระค่าหลักทรัพย์ที่ขาดอยู่ภายในวันทำการที่สามถัดจากวันที่ขายหลักทรัพย์นั้นพร้อมดอกเบี้ย หลังจากนั้นจำเลยสั่งให้บริษัทหลักทรัพย์ เอกเอเชีย จำกัด (มหาชน) ซื้อขายหลักทรัพย์หลายรายการ ไม่สามารถหักชำระหนี้ค่าซื้อหลักทรัพย์รายการนั้นได้ครบ จำเลยค้างชำระเงินต้นและดอกเบี้ยจำนวนหนึ่ง ต่อมาวันที่ 6 พฤศจิกายน 2539 จำเลยกับบริษัทหลักทรัพย์ เอกเอเชีย จำกัด (มหาชน) ทำบันทึกข้อตกลงกันสรุปได้ว่า ตามที่ผู้ให้สัญญา (จำเลย) ซื้อขายหลักทรัพย์โดยวิธีการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ ซึ่งต่อไปจะเรียกว่าสัญญา MARGIN ให้ไว้ต่อบริษัท (บริษัทดังกล่าว) นั้น ผู้ให้สัญญายอมรับว่า ณ วันทำบันทึกข้อตกลงนี้ ผู้ให้สัญญามีหนี้เงินกู้ค้างชำระบริษัทอยู่ และประสงค์จะชำระหนี้ดังต่อไปนี้ ข้อ 1 วงเงิน ดอกเบี้ย และเงื่อนไขการผ่อนชำระ 1.1 วงเงินผ่อนชำระ ยอมรับว่าค้างชำระ 1,008,518.57 บาท ประสงค์แบ่งชำระเป็น 2 ส่วน ดังนี้ ข้อ 1.1.1 ส่วนที่ 1 จำนวน 133,549.89 บาท ตกลงผ่อนชำระพร้อมดอกเบี้ยเป็นงวดรายเดือนในวันที่ 7 ของทุกเดือนไม่น้อยกว่าเดือนละ 20,000 บาท รวม 12 งวด เริ่มงวดแรกภายในวันที่ 6 พฤศจิกายน2539 ข้อ 1.1.2 ส่วนที่ 2 จำนวน 874,968.68 บาท ผู้ให้สัญญาตกลงให้ถือปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของการซื้อขายหลักทรัพย์โดยวิธีการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ ฯลฯ ข้อ 3 ผลของการผิดสัญญา หากผู้ให้สัญญาผิดสัญญา MARGIN และหรือบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ ไม่ว่าข้อหนึ่งข้อใด ให้ถือว่าผู้ให้สัญญาผิดสัญญา อันเป็นผลให้บริษัทมีสิทธิเรียกให้ผู้ให้สัญญาชำระหนี้ทั้งหมดได้ทันที ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระแล้วหรือไม่ก็ตาม และยอมให้บริษัทคิดดอกเบี้ยในหนี้ที่ค้างชำระทุกจำนวนในอัตราสูงสุด นับแต่วันที่ผู้ให้สัญญาได้ชื่อว่าผิดนัดชำระหนี้เป็นต้นไป จนกว่าผู้ให้สัญญาจะได้ชำระหนี้ให้แก่บริษัทจนครบถ้วน นอกจากนี้บริษัทยังมีสิทธิที่จะจำหน่าย จ่ายโอน หลักทรัพย์ที่เป็นประกันตามควรแก่กรณี เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของบริษัทและเพื่อชำระหนี้ที่ผู้ให้สัญญามีอยู่ตามบันทึกฉบับนี้ ฯลฯ ตามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และหรือสัญญาตัวแทนนายหน้าและบัญชีเดินสะพัด จำเลยผ่อนชำระหนี้ตามข้อ 1.1.1 ได้ 5 งวด ผิดนัดไม่ชำระตั้งแต่งวดที่ 6 ซึ่งถึงกำหนดชำระในวันที่ 7 เมษายน 2540 เป็นต้นไป ต่อมาวันที่ 14 พฤษภาคม 2541 บริษัทดังกล่าวบังคับขายหลักทรัพย์ (หุ้น) โดยที่จำเลยไม่ทราบเรื่อง ได้เงินมา 329,558 บาท นำไปหักชำระหนี้ได้บางส่วน ต่อมาวันที่ 3 มกราคม 2550 โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยมา โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2550 สำหรับปัญหาที่ว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ และโจทก์บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยโดยชอบหรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องไม่เคลือบคุลม และมีการบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยโดยชอบแล้ว โดยยกเหตุผลประกอบการวินิจฉัยชัดแจ้งและชอบแล้ว ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย จึงไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก ฎีกาปัญหาดังกล่าวของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์มีอายุความ 5 ปี ดังที่จำเลยให้การไว้ และการที่โจทก์ขายหุ้นไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2541 เป็นการขายโดยที่จำเลยไม่ทราบไม่ได้ตกลงด้วยไม่เป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ แม้มีอายุความ 10 ปี ก็ขาดอายุความนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยกับบริษัทหลักทรัพย์ เอกเอเชีย จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิม ทำบันทึกข้อตกลงกัน สิทธิเรียกร้องที่จะมีต่อกันต่อไปก็ต้องเป็นไปตามบันทึกข้อตกลงนี้ด้วยและสิทธิเรียกร้องนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ย่อมมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 แม้จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2540 และแม้ตามข้อ 3 แห่งบันทึกข้อตกลงดังกล่าวตอนแรกให้ถือว่าจำเลยผิดสัญญา เจ้าหนี้เดิมผู้เป็นคู่สัญญามีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ทั้งหมดได้ทันที ไม่ว่าหนี้เดิมจะถึงกำหนดชำระแล้วหรือไม่ก็ตาม ซึ่งคำว่าหนี้ทั้งหมดนั้นก็คือหนี้ทั้งตาม ข้อ 1.1.1 และ 1.1.2 อันแสดงว่าเจ้าหนี้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องทั้งตามข้อ 1.1.1 และ 1.1.2 ได้ ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2540 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นวันที่เริ่มนับอายุความตามมาตรา 193/12 ก็ตาม แต่ตามข้อ 3 แห่งบันทึกข้อตกลงดังกล่าวตอนต่อไประบุว่า เจ้าหนี้เดิมยังมีสิทธิที่จะจำหน่าย จ่ายโอน หลักทรัพย์ที่เป็นประกันตามควรแก่กรณี เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของเจ้าหนี้เดิมและเพื่อชำระหนี้ที่จำเลยมีอยู่ตามบันทึกฉบับนี้ อันเป็นกรณีที่จำเลยตกลงให้เจ้าหนี้เดิมขายหลักทรัพย์ที่เป็นประกันได้ไว้เป็นการล่วงหน้า จึงไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทราบหรือรอให้จำเลยตกลงในขณะขายอีกครั้งหนึ่งดังที่จำเลยฎีกา เมื่อต่อมาวันที่ 13 พฤษภาคม 2541 เจ้าหนี้เดิมบังคับขายหลักทรัพย์ (หุ้น) ได้เงินมา 329,558.60 บาท นำเงินที่ได้มาไปหักชำระหนี้ที่จำเลยมีอยู่ได้บางส่วน ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เดิมตามข้อตกลงตามข้อ 3 ดังกล่าว ซึ่งนับได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้เดิมด้วยการชำระหนี้ให้บางส่วน อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (1) เมื่อนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2541 ถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 744,715.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ