โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์แถลงขอให้เรียกบริษัท จ. เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า จำเลยร่วมเป็นผู้ผลิตรถยนต์คันพิพาทซึ่งเป็นรถยนต์กระบะ รุ่น ค. จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดจำหน่ายรถยนต์คันพิพาท จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนจำหน่ายของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ขายรถยนต์คันพิพาทให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2559 ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2561 รถยนต์คันพิพาทของโจทก์ชนกับรถยนต์กระบะของบุคคลอื่นที่แล่นสวนทางมาในทางเดินรถของโจทก์ ทำให้รถยนต์คันพิพาทของโจทก์ได้รับความเสียหายและโจทก์ได้รับบาดเจ็บลำไส้ทะลุ ต้องเข้ารับการผ่าตัด กระดูกแขนท่อนปลายข้างซ้ายหักและกระดูกเชิงกรานหัก ได้รับการจัดกระดูกและใส่เฝือก ส่วนสามีโจทก์กระดูกแขนขวาหักต้องผ่าตัดดามกระดูกแขน โจทก์ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 19 ถึง 30 พฤษภาคม 2561 ส่วนสามีโจทก์พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 20 ถึง 23 พฤษภาคม 2561
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมต้องรับผิดต่อโจทก์อันเนื่องมาจากถุงลมนิรภัยของรถยนต์ไม่ทำงานหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์ที่มีตัวโจทก์ นางปวิมล ดาบตำรวจประจวบ และนายสิทธิพร ต่างให้การสอดคล้องกันว่า ขณะเกิดอุบัติเหตุถุงลมนิรภัยรถยนต์ของโจทก์ไม่ทำงานเป็นเหตุให้โจทก์และสามีได้รับความเสียหาย ส่วนที่พยานจำเลยร่วมปากนายสุชาติ เบิกความว่า ถุงลมนิรภัยที่ติดตั้งมีมาตรฐานและในขณะเกิดเหตุถุงลมนิรภัยทำงานตามปกติ ซึ่งพยานปากนี้เป็นพนักงานของจำเลยร่วมมีส่วนได้เสียไม่ใช่ประจักษ์พยานและการตรวจสอบของพยานดังกล่าวไม่ได้กระทำต่อหน้าคนกลางหรือโจทก์ทำให้คำเบิกความของพยานปากนี้ไม่มีน้ำหนัก พยานโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟังว่า ขณะเกิดเหตุถุงลมนิรภัยรถยนต์ของโจทก์ไม่ทำงานเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยสภาพการบาดเจ็บของผู้ขับขี่คู่กรณีกับโจทก์ที่ได้รับบาดเจ็บมากกว่าโจทก์ทำให้เชื่อว่าถุงลมนิรภัยในรถยนต์ของโจทก์ในขณะเกิดเหตุทำงานเป็นปกตินั้นไม่ถูกต้องเนื่องจากรถของโจทก์ขับด้วยความเร็วประมาณ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแตกต่างจากรถยนต์ของคู่กรณีที่ขับด้วยความเร็วสูงประมาณ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สภาพความเสียหายของรถยนต์และความบาดเจ็บจึงแตกต่างกันนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองโฆษณาทางสื่อมวลชนและแผ่นป้ายโฆษณาว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อ ช. จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์และโฆษณาว่ารถยนต์รุ่นดังกล่าวมีความปลอดภัยสูง มีถุงลมนิรภัยป้องกันการกระแทกสำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสารให้ได้รับความปลอดภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ แต่ขณะเกิดเหตุถุงลมนิรภัยรถยนต์ของโจทก์ไม่ทำงานทำให้ใบหน้าของโจทก์และสามีโจทก์กระแทกกับตัวรถได้รับบาดเจ็บสาหัส จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมต่างให้การทำนองเดียวกันว่า ระบบถุงลมนิรภัยรถยนต์มิได้มีความชำรุดบกพร่องหรือไม่สามารถใช้งานตามที่โจทก์อ้าง เพราะระบบต่าง ๆ รวมถึงระบบถุงลมนิรภัยของรถยนต์คันพิพาทผ่านขั้นตอนการผลิตตามมาตรฐานแล้ว และหลังเกิดเหตุได้ตรวจสอบกล่องควบคุมการทำงานของระบบถุงลมนิรภัยรถยนต์ของโจทก์พบว่าขณะเกิดอุบัติเหตุระบบถุงลมนิรภัยทั้งด้านผู้ขับขี่และผู้โดยสารทำงานเป็นปกติ จากคำฟ้องและคำให้การของจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมในเบื้องต้นย่อมเข้าใจว่า โจทก์กล่าวอ้างว่าถุงลมนิรภัยรถยนต์ของโจทก์ไม่ทำงานในขณะเกิดอุบัติเหตุอันเป็นการกล่าวอ้างว่าสินค้าของจำเลยร่วมเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัยตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 มาตรา 4 ส่วนจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมต่างอยู่ในฐานะผู้ประกอบการ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขายโฆษณาชวนเชื่อ แต่ผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐาน ส่วนจำเลยร่วมเป็นผู้ผลิตรถยนต์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขายอ้างว่า ได้ดำเนินการตรวจสอบระบบต่าง ๆ รวมถึงระบบถุงลมนิรภัยของรถยนต์คันพิพาทแล้ว พบว่าขณะเกิดเหตุถุงลมนิรภัยรถยนต์ของโจทก์ทำงานตามปกติ จึงต้องด้วยพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 มาตรา 7 ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายอันเกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยหากพิสูจน์ได้ว่า (1) สินค้านั้นมิได้เป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ทั้งเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมกล่าวอ้างเกี่ยวกับการผลิตการประกอบซึ่งอยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมที่เป็น ผู้ประกอบธุรกิจตามความในมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวจึงตกแก่จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วม ในข้อนี้ จำเลยที่ 1 มีนางสาวณัฐฐิญา พนักงานของจำเลยที่ 1 เบิกความว่า ภายหลังได้รับแจ้งจากคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคว่าโจทก์ร้องเรียนว่าถุงลมนิรภัยรถยนต์คันพิพาทฝั่งผู้โดยสารไม่ทำงานในขณะเกิดอุบัติเหตุ จำเลยที่ 2 มีนางสาวสิราวรรณ พนักงานจำเลยที่ 2 เบิกความว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยโฆษณาว่ารถยนต์มีความปลอดภัยสูง ภายหลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากโจทก์ได้ดำเนินการส่งเรื่องไปยังจำเลยที่ 1 เพื่อให้ส่งช่างเทคนิค และผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ต่อมาได้รับแจ้งว่าถุงลมนิรภัยขณะเกิดเหตุทำงานปกติ ส่วนจำเลยร่วมมีนายสุชาติ พนักงานของจำเลยร่วม ตำแหน่งวิศวกรฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์เบิกความว่า รถยนต์คันพิพาทผ่านการตรวจสอบคุณภาพระบบการทำงานว่ามีความสมบูรณ์พร้อมใช้งานทุกระบบ รวมทั้งระบบถุงลมนิรภัยทั้งด้านผู้ขับขี่และผู้โดยสาร การทำงานของระบบถุงลมนิรภัยจะถูกสั่งงานจากกล่องควบคุม เมื่อเกิดเหตุรถชนกล่องควบคุมจะสั่งงานให้ระบบเข็มขัดนิรภัยดึงรั้งไม่ให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารเคลื่อนไปข้างหน้า จากนั้นถุงลมนิรภัยจะพองออกมาอย่างรวดเร็วภายในเสี้ยววินาทีหรือมิลลิวินาที และจะยุบตัวลงภายในเวลาไม่กี่วินาที ในกรณีที่มีการเคลื่อนย้ายรถยนต์ตามปกติ หรือรถยนต์ที่จอดอยู่ที่ศูนย์บริการจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ถุงลมนิรภัยจะพองออกมาเองหรือค่อย ๆ พองออกมา พยานไปตรวจสอบรถยนต์คันพิพาทพร้อมกับเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 พบว่ารถยนต์คันพิพาทได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการถูกพุ่งชนอย่างรุนแรงซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารเสียชีวิตได้ และพยานตรวจสอบสภาพภายในห้องโดยสารของรถยนต์คันพิพาทแล้วพบว่าถุงลมนิรภัยทั้งด้านผู้ขับขี่และผู้โดยสารได้พองออกมาตามปกติ มีลักษณะเดียวกับที่ปรากฏในภาพถ่ายรถยนต์คันพิพาทในคืนเกิดเหตุ และพยานยังตรวจสอบข้อมูลการทำงานของระบบถุงลมนิรภัยที่ถูกบันทึกไว้ในกล่องควบคุมของรถยนต์คันพิพาทด้วยอุปกรณ์การตรวจสอบการทำงานของรถยนต์เพื่ออ่านผลข้อมูลการทำงานของระบบดังกล่าว แต่ไม่ปรากฏความผิดปกติหรือชำรุดบกพร่องใด ๆ กับระบบถุงลมนิรภัยและเข็มขัดนิรภัยตามที่โจทก์อ้าง โดยระบบมีค่าการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยที่ออกแบบไว้ จะเห็นได้ว่า แม้พยานจำเลยร่วมปากนายสุชาติจะได้เบิกความยืนยันข้อเท็จจริงว่า ถุงลมนิรภัยรถของโจทก์ผ่านขั้นตอนการผลิตตามมาตรฐาน มีการตรวจสอบการติดตั้ง และภายหลังเกิดเหตุได้ตรวจสอบพบว่าระบบถุงลมนิรภัยรถของโจทก์ทำงานปกติทั้งฝั่งของผู้ขับขี่และผู้โดยสารแล้วโดยไม่มีการชำรุดบกพร่องก็ตาม แต่เมื่อพยานจำเลยร่วมปากดังกล่าวเป็นพนักงานของจำเลยร่วมจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง การตรวจสอบดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นคนกลางร่วมตรวจสอบด้วย และการตรวจสอบดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากโจทก์ร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแล้วจึงเป็นกรณีที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมได้แจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือโจทก์เข้าร่วมตรวจสอบด้วย ซึ่งคำเบิกความของพยานจำเลยร่วมปากนายสุชาติที่เบิกความถึงการตรวจสอบเป็นการอธิบายระบบการทำงานของถุงลมนิรภัยในกรณีปกติ พยานปากนี้ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ โดยคำเบิกความของจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมไม่มีพยานคนใดเลยที่เบิกความยืนยันได้ว่าขณะเกิดเหตุถุงลมนิรภัยในรถยนต์ของโจทก์ได้ทำงานตามปกติโดยพองลมหรือกางออกตามมาตรฐานการทำงานของถุงลมนิรภัย ได้ความเกี่ยวกับการทดสอบการชนว่า การทดสอบการชนตามเอกสารดังกล่าวเป็นการทดสอบการชนในลักษณะตรงทำให้ถุงลมนิรภัยทำงานตามปกติ แต่ขณะเกิดเหตุคดีนี้สภาพถนนเป็นทางโค้ง รถยนต์คู่กรณีขับแล่นสวนทางข้ามเส้นแบ่งช่องทางจราจรเข้ามาเฉี่ยวชนด้านหน้าข้างทางด้านคนขับ ซึ่งจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมก็ไม่ได้นำสืบยืนยันว่าการเฉี่ยวชนในลักษณะดังกล่าวไม่มีผลต่อการทำงานของถุงลมนิรภัยโดยสามารถทำงานได้ตามปกติ ทั้งคำเบิกความของพยานจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมยังขัดแย้งกับคำเบิกความของโจทก์ที่เบิกความว่า ขณะรถยนต์คันพิพาทถูกชนถุงลมนิรภัยด้านผู้โดยสารที่โจทก์นั่งไม่ทำงาน โดยถุงลมไม่ออกมาปกป้องอันตรายให้แก่โจทก์ ส่วนถุงลมนิรภัยด้านสามีโจทก์ที่เป็นคนขับออกมาเพียงเล็กน้อย ไม่อาจป้องกันอันตรายได้ ทำให้ใบหน้าสามีโจทก์กระแทกกับตัวรถ และโจทก์กับสามีได้รับบาดเจ็บ โจทก์มีนายสิทธิพรเป็นพยานเบิกความว่า พยานเป็นผู้ลากจูงรถยนต์คันพิพาทไปไว้ที่สถานีตำรวจภูธรกระสัง พยานเห็นถุงลมนิรภัยด้านคนขับออกมาเล็กน้อย ไม่ออกมาทั้งใบ ส่วนบริเวณผู้โดยสารไม่พบถุงลมนิรภัยออกมา พยานโจทก์ปากนางปวิมลเบิกความว่า พยานช่วยเก็บกระเป๋าและของใช้ของโจทก์จากรถยนต์คันพิพาทและไปโรงพยาบาลพร้อมโจทก์ และเห็นถุงลมนิรภัยด้านคนขับออกมาเล็กน้อย ส่วนด้านผู้โดยสารไม่มีถุงลมนิรภัยออกมา และโจทก์มีดาบตำรวจประจวบเบิกความว่า ขณะพยานช่วยโจทก์และสามีโจทก์ออกจากรถยนต์คันพิพาท พยานไม่เห็นถุงลมนิรภัยด้านผู้โดยสารกางออกมา แต่ด้านคนขับถุงลมนิรภัยออกมาเพียงเล็กน้อย ไม่ได้ออกมาทั้งใบที่จะปกป้องอันตรายแก่คนขับได้ จากคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวซึ่งเป็นพยานที่อยู่ในเหตุการณ์ที่ต่างเบิกความสอดคล้องกันยืนยันว่า ถุงลมนิรภัยของรถยนต์โจทก์ขณะเกิดเหตุไม่ทำงานหรือทำงานผิดปกติไม่สามารถป้องกันการบาดเจ็บของโจทก์และสามีได้ แม้พยานโจทก์ที่เบิกความจะเป็นผู้เกี่ยวข้องรู้จักกับโจทก์มาก่อนเกิดเหตุก็ตาม แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใด ๆ ว่าพยานโจทก์ดังกล่าวต้องการเบิกความเพื่อช่วยเหลือโจทก์ เพื่อให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ทั้งเมื่อพิจารณาสภาพการได้รับบาดเจ็บของโจทก์และสามีแล้ว ปรากฏว่าโจทก์ได้รับบาดเจ็บหนักถึงขั้นลำไส้ทะลุ ต้องเข้ารับการผ่าตัด กระดูกแขนท่อนปลายข้างซ้ายหักและกระดูกเชิงกรานหักและได้รับบาดเจ็บเป็นแผลฟกช้ำที่ใบหน้า ส่วนสามีโจทก์กระดูกแขนขวาหักต้องผ่าตัดดามกระดูกแขนและได้รับบาดเจ็บฟกช้ำบริเวณหน้าอกซึ่งเกิดจากการกระแทก กระจกด้านหน้ารถนูนออก ซึ่งโจทก์เบิกความยืนยันว่าเกิดจากจมูกของสามีโจทก์กระแทกจนเกิดร่องรอยดังกล่าว แม้นายสุชาติพยานจำเลยร่วมอ้างว่าร่องรอยดังกล่าวอาจเกิดจากเสาหน้ารถบิดก็ตาม แต่ก็เป็นการคาดคะเนของพยานปากนี้เท่านั้นทำให้ไม่มีน้ำหนัก จึงรับฟังได้ว่าสามีโจทก์จมูกกระแทกกับกระจกด้านหน้าจนเกิดรอยนูนที่กระจกจริง จากสภาพการได้รับบาดเจ็บดังกล่าวของโจทก์และสามีโจทก์ ทำให้เห็นว่าหากระบบถุงลมนิรภัยรถยนต์ของโจทก์ทำงานตามปกติและได้มาตรฐานและไม่ได้เกิดความชำรุดบกพร่องดังที่จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมกล่าวอ้างจริง โจทก์และสามีโจทก์ไม่น่าจะได้รับบาดเจ็บหนัก ด้วยเหตุได้ความจากพยานจำเลยร่วมปากนายสุชาติที่เบิกความยอมรับว่า เมื่อเกิดเหตุรถชนกล่องควบคุมจึงสั่งงานให้ระบบเข็มขัดนิรภัยดึงรั้งไม่ให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารเคลื่อนไปข้างหน้า จากนั้นถุงลมนิรภัยจะพองออกมาอย่างรวดเร็วภายในเสี้ยววินาทีหรือมิลลิวินาที และจะยุบตัวลงภายในเวลาไม่กี่วินาที แต่กลับปรากฏว่าโจทก์และสามีได้รับบาดเจ็บหนักอันเป็นการแสดงว่าเข็มขัดนิรภัยไม่ดึงรั้งตัวโจทก์และสามีโจทก์ไม่ให้เคลื่อนตัวไปข้างหน้าและมีถุงลมนิรภัยพองออกมารองรับ จนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บถึงขั้นลำไส้ทะลุ และกระดูกแขนท่อนปลายข้างซ้ายหัก สามีโจทก์จมูกกระแทกกับกระจกด้านหน้าเป็นรอยนูน ทั้งหน้าอกถูกกระแทกจนยุบ และกระดูกแขนขวาหัก เมื่อคดีนี้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมมีภาระการพิสูจน์ให้เห็นว่าถุงลมนิรภัยรถยนต์ของโจทก์ไม่ทำงานหรือไม่ แต่จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมมีเพียงนายสุชาติพนักงานจำเลยร่วมเท่านั้นมาเบิกความยันยืนถึงกระบวนการผลิต การติดตั้ง และตรวจสอบกล่องควบคุมถุงลมนิรภัยหลังเกิดเหตุพบว่าถุงลมนิรภัยรถยนต์ของโจทก์ทำงานปกติ โดยไม่ปรากฏว่าการตรวจสอบดังกล่าวมีผู้เชี่ยวชาญคนกลางร่วมตรวจสอบ หรือการตรวจสอบได้แจ้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเข้าร่วมสอบตรวจหรือแจ้งโจทก์เพื่อทำการตรวจสอบด้วยเพราะเป็นการตรวจสอบเมื่อโจทก์มีการร้องเรียนแล้ว และยังได้ความว่ามีการตรวจสอบภายหลังเกิดเหตุนานประมาณ 3 เดือน จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมจึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบซึ่งควรต้องมีผู้เชี่ยวชาญหรือคู่กรณีที่เกี่ยวข้องรู้เห็นเข้าร่วมในการตรวจสอบด้วย ทั้งจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่ารถยนต์รุ่นเดียวกับรถยนต์ของโจทก์เมื่อเกิดเหตุเฉี่ยวชนแล้วถุงลมนิรภัยจะทำงานทุกคันโดยไม่เคยมีเหตุการณ์ที่เมื่อเกิดการเฉี่ยวชนในระดับที่กล่องควบคุมสั่งงานแล้วถุงลมนิรภัยไม่ทำงานหรือทำงานไม่ได้มาตรฐาน ทั้งในชั้นพิจารณาจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมก็ไม่ได้นำผู้เชี่ยวชาญเข้าเบิกความสนับสนุนให้เห็นว่าที่นายสุชาติเบิกความนั้นถูกต้องเป็นไปตามมาตรฐานการตรวจสอบของผู้ประกอบกิจการเช่นจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วม เมื่อการตรวจสอบของนายสุชาติพยานจำเลยร่วมเป็นการตรวจสอบตามปกติเท่านั้น ทั้งยังขัดแย้งกับคำเบิกความของพยานโจทก์ที่อยู่ในเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุซึ่งต่างเบิกความทำนองเดียวกันว่าถุงลมนิรภัยรถยนต์ไม่ทำงานหรือทำงานไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ยังไม่สอดคล้องกับสภาพการได้รับบาดเจ็บของโจทก์และสามีโจทก์ดังวินิจฉัยข้างต้น ดังนี้ พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมที่นำสืบมาจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังตามที่จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมกล่าวอ้างว่าถุงลมนิรภัยทำงานปกติและไม่ได้ชำรุดบกพร่อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ถุงลมนิรภัยรถยนต์ของโจทก์ไม่ทำงานในขณะเกิดอุบัติเหตุ จึงเป็นสินค้าที่มีความบกพร่องในการผลิตและเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้รับความเสียหายจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยดังกล่าวและการใช้หรือการเก็บรักษาสินค้านั้นเป็นไปตามปกติธรรมดาของโจทก์ โดยโจทก์และสามีโจทก์ได้รับบาดเจ็บ จำเลยร่วมในฐานะผู้ผลิตสินค้าที่ไม่ปลอดภัยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดจำหน่ายที่มอบให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ขายรถยนต์คันพิพาทให้แก่โจทก์ เมื่อสามารถระบุตัวจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ผลิตได้แล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ใช่ผู้ประกอบการที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 แต่อย่างไรก็ดีคดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดเพราะได้โฆษณาขายรถรุ่นของโจทก์ว่ามีความปลอดภัยสูง มีถุงลมนิรภัยป้องกันการกระแทกสำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสารให้ได้รับความปลอดภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ โดยจำเลยทั้งสองให้การว่า ถุงลมนิรภัยรถยนต์ของโจทก์ทำงานตามปกติไม่ได้ชำรุดบกพร่อง ดังนี้ การบรรยายฟ้องของโจทก์นอกจากให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 แล้วยังเป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดจากการที่รถยนต์คันพิพาทไม่เป็นไปตามที่จำเลยทั้งสองได้โฆษณาไว้อันอยู่ในเกณฑ์ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 อยู่ด้วย ซึ่งมาตรา 11 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่า ประกาศ โฆษณา คำรับรองที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาว่าผู้ประกอบธุรกิจตกลงจะมอบให้หรือจัดหาให้ซึ่งสิ่งของใดแก่ผู้บริโภค ให้ถือว่าข้อความดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา โจทก์เบิกความว่าจำเลยทั้งสองโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ ว่ารถยนต์รุ่นที่โจทก์ซื้อมีถุงลมนิรภัยป้องกันผู้ขับขี่และผู้โดยสารให้ปลอดภัยได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ส่วนจำเลยทั้งสองมิได้นำสืบปฏิเสธข้อเท็จจริงในส่วนนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบ และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ถุงลมนิรภัยรถยนต์ของโจทก์ไม่ทำงานตามปกติเป็นเหตุให้โจทก์และสามีโจทก์ได้รับบาดเจ็บอันเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัยแล้วยังเป็นสินค้าที่ไม่เป็นไปตามคำโฆษณาของจำเลยทั้งสองจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดจำหน่ายรถยนต์คันพิพาทมอบให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนจำหน่ายของจำเลยที่ 1 และขายรถให้แก่โจทก์ ส่วนโจทก์เป็นผู้จองซื้อรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยวิธีการเช่าซื้อกับธนาคาร ธ. ผู้ให้เช่าซื้อ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายรถยนต์คันพิพาทให้แก่โจทก์จึงย่อมอยู่ในฐานะผู้ขายรถยนต์คันพิพาทซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจโดยมีโจทก์อยู่ในฐานะเป็นผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้บริโภคตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แม้จำเลยที่ 2 ตกลงให้โจทก์ใช้วิธีการเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทและจัดหาผู้ให้เช่าซื้อโดยมีโจทก์เป็นผู้เช่าซื้อ ก็หามีผลเปลี่ยนแปลงนิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ การที่โจทก์ซื้อรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 2 เพราะเชื่อตามคำโฆษณาว่า รถยนต์คันพิพาทมีความปลอดภัยสูง มีถุงลมนิรภัยป้องกันการกระแทกสำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสารให้ได้รับความปลอดภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ คำโฆษณาดังกล่าวจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เมื่อถุงลมนิรภัยของรถยนต์คันพิพาทไม่ทำงานโดยไม่ออกมาป้องกันอันตรายในขณะเกิดอุบัติเหตุ จนเป็นเหตุให้โจทก์และสามีโจทก์ได้รับบาดเจ็บไม่เป็นไปตามคำโฆษณาของจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขายจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและต้องร่วมรับผิด อันเป็นความรับผิดภายใต้สัญญาซื้อขาย สำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้จำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อ ช. รวมทั้งรถยนต์คันพิพาทแก่ตน ได้ความจากนางสาวณัฐฐิญา พนักงานจำเลยที่ 1 เบิกความว่า ในการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อ ช. ในประเทศไทย จำเลยร่วมจะเป็นผู้ผลิตและประกอบรถยนต์แล้ว จึงจำหน่ายและส่งมอบรถยนต์ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงจะจำหน่ายและส่งมอบรถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่าย การประกอบกิจการจำหน่ายรถยนต์ของศูนย์บริการจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ต้องทำสัญญาระหว่างกัน โดยศูนย์จำหน่ายต้องใช้เครื่องหมายและสัญลักษณ์ของ ช. การดำเนินการของจำเลยที่ 2 ต้องยึดถือตามมาตรฐานของจำเลยที่ 1 ต้องมีบริการหลังการขาย ซึ่งตามพฤติการณ์ในการประกอบธุรกิจดังกล่าวประกอบกับหลังเกิดเหตุพนักงานของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ตรวจสอบสภาพรถรวมทั้งถุงลมนิรภัยเองและได้ร่วมเจรจากับโจทก์ แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองมีฐานะที่ต่างเป็นตัวการตัวแทนซึ่งกันและกันในการร่วมกันประกอบธุรกิจจำหน่ายและให้บริการซ่อมบำรุงรถยนต์ยี่ห้อ ช. รวมทั้งรถยนต์คันพิพาทแก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของตน กรณีเช่นนี้ จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามสัญญาซื้อขายด้วย โดยร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์จากการที่ถุงลมนิรภัยไม่ทำงานตามปกติ ไม่เป็นไปตามคำโฆษณาของจำเลยทั้งสอง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ดังวินิจฉัยข้างต้น มูลหนี้ที่ทำให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์จึงเป็นเรื่องสัญญา ส่วนความรับผิดของจำเลยร่วมนั้นมาจากมูลหนี้ละเมิด โจทก์นำสืบถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นอันเป็นผลทั้งจากการผิดสัญญาและการละเมิดและขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายทั้งหมดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 500,000 บาท เมื่อถุงลมนิรภัยในรถยนต์ของโจทก์มีไว้เพื่อป้องกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและเพื่อรองรับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น หากถุงลมนิรภัยทำงานผิดปกติ จำเลยทั้งสองผู้ขายรถยนต์พิพาทย่อมคาดเห็นได้ว่าโจทก์ผู้ใช้รถรวมทั้งคนโดยสารจะได้รับบาดเจ็บและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่แต่เฉพาะความเสียหายที่เกิดกับตัวทรัพย์ที่ขายหากแต่รวมไปถึงความเสียหายดังกล่าวด้วย แม้จะเป็นความเสียหายที่เกิดแต่พฤติการณ์พิเศษก็ตามแม้โจทก์ไม่ได้นำสืบแจกแจงรายละเอียดของค่าเสียหายแต่ละส่วน แต่ปัญหานี้ศาลสามารถกำหนดค่าเสียหายให้ตามพฤติการณ์แห่งคดีได้ และเห็นว่าค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องตามฟ้องนั้นเหมาะสมแล้ว จึงกำหนดให้ตามขอ ส่วนค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดที่จำเลยร่วมต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น การที่ถุงลมนิรภัยไม่ทำงานถือเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรง ซึ่งอาจทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้จึงน่าจะสูงยิ่งกว่าค่าเสียหายอันเนื่องจากการผิดสัญญา แต่ตามฟ้องโจทก์ประสงค์จะเรียกค่าสินไหมทดแทนเท่าที่ขอมาและไม่เกินสมควร จึงให้จำเลยร่วมรับผิดในจำนวนเงินดังกล่าวด้วย และเมื่อค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมจะต้องรับผิดเป็นหนี้จำนวนเดียวกันซึ่งโจทก์อาจเรียกให้แต่ละคนชำระหนี้โดยสิ้นเชิงได้ จึงสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมต้องร่วมกันรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ แต่ข้อเท็จจริงที่ถุงลมนิรภัยไม่ทำงานดังกล่าวอันเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัยนั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยร่วมรู้อยู่แล้วว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย หรือมิได้รู้เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือเมื่อรู้ว่าสินค้าไม่ปลอดภัยภายหลังจากการผลิต นำเข้า หรือขายสินค้านั้นแล้วไม่ดำเนินการใด ๆ ตามสมควรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย จึงไม่มีเหตุกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อการลงโทษแก่จำเลยร่วม และในส่วนจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ร่วมประกอบธุรกิจตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มีการกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบโจทก์โดยไม่เป็นธรรม หรือจงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหาย หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่โจทก์ หรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจแก่ประชาชน อันเป็นเหตุที่จะกำหนดให้รับผิดในค่าเสียหายเชิงลงโทษได้ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 จึงไม่มีเหตุกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษแก่จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมด้วยเหตุนี้เช่นกัน เมื่อค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์เป็นหนี้เงินโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง (เดิม) แต่เมื่อโจทก์มีคำขอให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันฟ้อง จึงเห็นควรกำหนดดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันฟ้องตามที่โจทก์มีคำขอเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น ตามมาตรา 224 (ที่แก้ไขใหม่) แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนให้ยกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนไปบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามที่โจทก์ขอ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ