โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341, 343 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 3, 4, 5, 9, 12, 15 พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 มาตรา 4, 9, 121 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3, 5, 60, 61 พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 8, 37 ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินที่กู้ยืมและฉ้อโกงแก่ผู้เสียหายทั้งยี่สิบหก ซึ่งเป็นผู้ให้กู้ยืมเงินตามจำนวนที่แต่ละคนถูกฉ้อโกงและกู้ยืมไป รวมเป็นเงิน 78,202,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่กู้ยืมไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 2 เลิกการประกอบธุรกิจ หรือเลิกกิจการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 26 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2547 (ที่ถูก พ.ศ. 2527) มาตรา 3 (ที่ถูก ไม่ต้องปรับบทมาตรา 3), 4 (ที่ถูก มาตรา 4 วรรคหนึ่ง), 5 (1) (ก) (2) (ก), 12 พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 (ที่ถูก พ.ศ. 2551) มาตรา 4 (ที่ถูก ไม่ต้องปรับบทมาตรา 4), 9 (ที่ถูก มาตรา 9 วรรคหนึ่ง), 121 (ที่ถูก ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83) จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 4 (3) (ก) (ที่ถูก ไม่ต้องปรับบทมาตรา 4 (3) (ก)), 8 (1), 37 และจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 (3) (ที่ถูก ไม่ต้องปรับบทมาตรา 3 (3)), 5 (1) (2), 61 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก มาตรา 61 วรรคหนึ่ง (เดิม)) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 สำหรับจำเลยที่ 1 ความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนกับฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยมิได้รับอนุญาต เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทรวม 26 กระทง ให้ลงโทษฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับกระทงละ 500,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 ความผิดฐานคนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยฝ่าฝืนมาตรา 8 ปรับ 500,000 บาท และสำหรับจำเลยทั้งสองความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน ปรับคนละ 1,000,000 บาท รวมลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 14,000,000 บาท และปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 1,500,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยไม่ได้รับอนุญาตเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหก และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังยุติในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เดิมชื่อบริษัท ม. ต่อมาจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท อ. จำเลยที่ 2 เดิมชื่อบริษัท ว. ต่อมาจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ร. นายเกรกอรี่หรือนายสมพงษ์ สัญชาติอังกฤษ เป็นผู้จดทะเบียนจัดตั้ง เป็นกรรมการและเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยทั้งสอง บริษัท ค. บริษัท น. บริษัท ซ. และบริษัท ส. กับเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นบริษัท ท. จำเลยทั้งสองและบริษัทดังกล่าวมีสำนักงานแห่งใหญ่อยู่แห่งเดียวกัน คือ อาคาร ส. ต่อมาจำเลยที่ 2 จดทะเบียนย้ายที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ไปที่จังหวัดตราด ในช่วงเกิดเหตุ โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกได้รับการโฆษณาชักชวนให้ร่วมลงทุนในโครงการ ม. โดยหากเข้าร่วมลงทุนจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนคิดเป็นอัตราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ ตามแบบฟอร์มใบสมัครและโบรชัวร์โฆษณาการลงทุน โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกเข้าร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว แต่โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนและเงินที่เข้าร่วมลงทุนคืน เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2548 มีการโอนเงินจากธนาคาร ส. เขตบริหารพิเศษฮ่องกงเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 จำนวน 30,784,698.98 บาท และวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 จำนวน 27,878,200 บาท เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน 9 แปลงกับผู้มีชื่อ เป็นเงิน 65,000,000 บาท ตกลงชำระราคาที่ดินงวดแรก 30,000,000 บาท ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและงวดที่สอง 35,000,000 บาท ภายในวันที่ 23 สิงหาคม 2549 และตกลงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 9 แปลง ในวันที่ 24 สิงหาคม 2548 หรือวันอื่นตามที่คู่สัญญาตกลงกัน ซึ่งมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกันวันที่ 25 สิงหาคม 2548 อัยการสูงสุดมอบหมายให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ทำการสอบสวนคดีนี้ โดยให้พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษร่วมทำการสอบสวน และให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ อัยการสูงสุดมอบหมายให้นายคมคะเน อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 5 เข้าร่วมสอบสวน
คดีนี้ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหก และจำเลยทั้งสอง เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่รับฎีกาของโจทก์ โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหก และจำเลยทั้งสองชอบหรือไม่ สำหรับฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกนั้น ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกเข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ซึ่งการฎีกาในปัญหาใดต่อศาลฎีกาเป็นเรื่องเฉพาะตัวของคู่ความแต่ละคน ดังนั้น การที่โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกฎีกาในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยมิได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 นอกเหนือจากฐานความผิดที่โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์นั้น โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกจึงไม่มีสิทธิที่จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว และศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกไม่มีสิทธิฎีกาในความผิดฐานนี้ได้เช่นกัน ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนฎีกาของจำเลยทั้งสองนั้น โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ว่ากระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 ฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยมิได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ฟ้องจำเลยที่ 2 ว่ากระทำความผิดฐานคนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยฝ่าฝืนมาตรา 8 ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 และฟ้องจำเลยทั้งสองว่าร่วมกันกระทำความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยมิได้รับอนุญาต จำเลยที่ 2 ไม่อาจฎีกาในความผิดทั้งสองฐานนี้ได้ ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยที่ 2ในความผิดสองฐานนี้จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานคนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยฝ่าฝืนมาตรา 8 ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 และฎีกาของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานคนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยฝ่าฝืนมาตรา 8 เป็นเงิน 500,000 บาท และปรับจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินคนละ 1,000,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในความผิดทั้งสองฐานนี้ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยที่ 2 ฎีกาในความผิดฐานคนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยฝ่าฝืนมาตรา 8 ว่า นางมะลิวรรณไม่ได้ถือหุ้นแทนนายเกรกอรี่หรือหากฟังว่านางมะลิวรรณถือหุ้นแทนนายเกรกอรี่ในขณะทำสัญญาซื้อที่ดินเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 แต่เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2549 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนเพิ่มทุนจาก 2,000,000 บาท เป็น 65,000,000 บาท แบ่งออกเป็น 650,000 หุ้น ๆ ละ 100 บาท นางมะลิวรรณถือหุ้นจำนวน 100 หุ้น บริษัท ท. ซึ่งไม่ใช่คนต่างด้าว ถือหุ้นจำนวน 649,396 หุ้น จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่คนต่างด้าวนับแต่นั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และการที่จำเลยทั้งสองฎีกาในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินว่า เงินที่จำเลยที่ 2 นำไปซื้อที่ดินมาเป็นกรรมสิทธิ์ในนามของจำเลยที่ 2 รวม 9 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 1445, 1446, 1546, 1549, 1552, 1553, 1554, 1555 และ 1779 ไม่ใช่เงินของโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหก แต่เป็นเงินที่จำเลยที่ 2 กู้ยืมจากบริษัท ย. โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกไม่สามารถพิสูจน์เส้นทางการโอนเงินระหว่างโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกไปยังจำเลยที่ 1 และจากจำเลยที่ 1 ไปยังจำเลยที่ 2 ได้ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาหรืออัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย การที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยที่ 2 และจำเลยทั้งสองดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนฎีกาของโจทก์และฎีกาของจำเลยทั้งสองในปัญหาข้อกฎหมายไม่ต้องห้ามมิให้ฎีกา สำหรับปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยมิได้รับอนุญาตหรือไม่ เป็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาตามฎีกาโจทก์ที่ฎีกาว่าสามารถลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมายไทยได้ ศาลฎีกาจึงสามารถยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่รับฎีกาในความผิดฐานดังกล่าวชอบแล้ว คดีจึงคงมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกา ตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยมิได้รับอนุญาต และฎีกาของจำเลยทั้งสองในปัญหาข้อกฎหมายในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำร้องของจำเลยทั้งสองลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ที่ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ไต่สวนว่า ในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 428/2560 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มีต้นฉบับเอกสารคำขอโอนเงินของโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกหรือไม่ หรือขอให้เรียกสำนวนคดีดังกล่าวเข้ามาในสำนวนชอบหรือไม่ นั้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องคัดค้านว่าเอกสารดังกล่าวไม่มีต้นฉบับ เป็นเอกสารปลอมมาตั้งแต่วันที่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกเบิกความตามคำร้องลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 แล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าได้มีการดำเนินการอย่างใด ประกอบกับคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอแก่การพิจารณาพิพากษา กรณีจึงไม่จำต้องให้ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ไต่สวนหรือเรียกสำนวนคดีดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมในชั้นอุทธรณ์ตามคำร้องอีก ให้ยกคำร้อง แต่จำเลยทั้งสองฎีกาเพียงว่า จำเลยทั้งสองขอคัดค้านคำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลอุทธรณ์ ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาให้มีคำสั่งให้ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ไต่สวนว่าในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 428/2560 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มีต้นฉบับเอกสารคำขอโอนเงินของโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกหรือไม่ แล้วพิพากษาใหม่ตามพยานหลักฐานดังกล่าว เนื่องจากศาลควรใช้อำนาจเพื่อแสวงหาพยานหลักฐานที่คู่ความไม่อาจเข้าถึงในขณะนั้นได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและเพื่อให้ทราบถึงข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกนำสืบ โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ชอบอย่างไร และจำเลยทั้งสองไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เพราะเหตุใด จึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สองตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยมิได้รับอนุญาตหรือไม่ เห็นว่า พันตำรวจตรีสิริวิชญ์พยานโจทก์เป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนโดยไม่ได้มีส่วนได้เสียกับคู่ความฝ่ายใด ไม่ปรากฏว่าเคยรู้จักโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกและไม่เคยรู้จักจำเลยทั้งสองกับนายเกรกอรี่มาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะปั้นแต่งเรื่องเบิกความไม่ตรงต่อความจริงที่รู้เห็นเพื่อกลั่นแกล้งปรักปรำให้เป็นผลร้ายหรือช่วยเหลือคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คำเบิกความของพันตำรวจตรีสิริวิชญ์พยานโจทก์มีน้ำหนักให้น่ารับฟัง เชื่อว่านายคมคะเนพนักงานอัยการที่ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดไม่ได้อยู่ร่วมในขณะแจ้งข้อหาและสอบปากคำจำเลยที่ 1 และพนักงานสอบสวนคดีพิเศษแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 1 หลังจากมีความเห็นควรสั่งฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อพนักงานอัยการแล้ว คดีนี้ความผิดบางส่วนได้กระทำลงนอกราชอาณาจักร ซึ่งไม่มีกฎหมายใดบัญญัติเจาะจงให้พนักงานอัยการที่ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดให้ทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนต้องเข้าร่วมการสอบสวนทุกครั้งทุกขั้นตอนหรือจะต้องมอบหมายให้พนักงานอัยการอื่นร่วมทำการสอบสวนแทน ทั้งนี้ การแจ้งข้อหา การสอบปากคำ และการทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องเป็นขั้นตอนของการสอบสวน การแจ้งข้อหาและการสอบปากคำผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 134 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการ แต่หาได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนทุกคนหรือผู้ที่มีหน้าที่สอบสวนทุกคนต้องอยู่ร่วมกันในขณะแจ้งข้อหาหรือสอบปากคำผู้ต้องหา การที่นายคมคะเนพนักงานอัยการที่อัยการสูงสุดมอบหมายให้ทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนไม่ได้อยู่ร่วมในขณะแจ้งข้อหาและสอบปากคำจำเลยที่ 1 จึงไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป ส่วนการสอบปากคำนายเบนนี่เป็นการสอบปากคำในฐานะพยาน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ไม่ได้เรียกมาเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาในฐานะที่เป็นผู้แทนของนิติบุคคล พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงไม่ต้องแจ้งข้อหาแก่นายเบนนี่ สำหรับการแจ้งข้อหาและการทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องนั้น การแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 กำหนดให้การแจ้งข้อหาจะต้องมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดตามข้อหานั้น ดังนั้น หากพนักงานสอบสวนเห็นว่ามีหลักฐานตามสมควรว่าผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดก็สามารถแจ้งข้อหาได้ และการทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140 บัญญัติว่า "เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนเห็นว่าการสอบสวนเสร็จแล้ว ให้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้... (2) ถ้ารู้ตัวผู้กระทำผิด ให้ใช้บทบัญญัติในสี่มาตราต่อไปนี้" และมาตรา 141 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า"ถ้ารู้ตัวผู้กระทำความผิด แต่เรียกหรือจับตัวยังไม่ได้ เมื่อได้ความตามทางสอบสวนอย่างใดให้ทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมกับสำนวนยังพนักงานอัยการ" ดังนั้นการทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องจะกระทำเมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนเห็นว่าการสอบสวนเสร็จแล้ว ซึ่งการทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องอาจจะกระทำก่อนการแจ้งข้อหาก็เป็นได้ เช่น กรณีเรียกหรือจับตัวผู้กระทำความผิดยังไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 141 วรรคหนึ่ง ในข้อนี้พันตำรวจตรีสิริวิชญ์ได้เบิกความให้เหตุผลไว้ว่าเนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล และยังมีความเห็นควรสั่งฟ้องนายเกรกอรี่ ด้วย แต่นายเกรกอรี่ หลบหนีพันตำรวจตรีสิริวิชญ์จึงมีความเห็นควรสั่งฟ้องจำเลยที่ 1 และนายเกรกอรี่เพื่อที่จะออกหมายเรียกผู้แทนนิติบุคคลมาแจ้งข้อกล่าวหา การที่พันตำรวจตรีสิริวิชญ์พนักงานสอบสวนคดีพิเศษแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 1 หลังจากมีความเห็นควรสั่งฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อพนักงานอัยการแล้ว จึงไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยมิได้รับอนุญาต ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สามตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยมิได้รับอนุญาตหรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ที่ได้จากการรวบรวมของนายยุทธนาและพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะเป็นพยานบอกเล่า แต่เมื่อพิจารณาตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงที่ได้จากการรวบรวมแล้ว น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ จึงรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์เพื่อรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ ซึ่งพยานโจทก์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โดยตรงเบิกความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ได้จากการรวบรวม เริ่มตั้งแต่จำเลยที่ 1 โดยนายเกรกอรี่กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ชักชวนโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกให้ร่วมลงทุน ผ่านทางเว็บไซต์ managedsavings.com และผ่านทางโบรชัวร์โฆษณาการลงทุนมีการกล่าวอ้างว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูง โดยโจทก์มีแบบฟอร์มใบสมัครและโบรชัวร์โฆษณาการลงทุนมาแสดงประกอบ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า แบบฟอร์มใบสมัครและโบรชัวร์โฆษณาการลงทุนโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกทำขึ้นเองไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 นั้น ไม่มีเหตุผลใดที่มีน้ำหนักเพียงพอ ที่แสดงว่าโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกซึ่งอาศัยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นจะทำแบบฟอร์มใบสมัครและโบรชัวร์โฆษณาการลงทุนขึ้นมาเพื่อปรักปรำจำเลยที่ 1 ซึ่งจดทะเบียนและมีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศไทย และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า หนังสือแจ้งผลประโยชน์ไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 หลักฐานการส่งไปรษณีย์ด่วนพิเศษจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ส่งนั้น หลักฐานการส่งไปรษณีย์ด่วนพิเศษที่ส่งเอกสารให้โจทก์ร่วมที่ 4 ที่ประเทศญี่ปุ่น ระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ส่ง และที่อยู่ของผู้ส่งก็ระบุอาคาร ส. ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานของจำเลยที่ 1 ข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง และหลังจากโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกหลงเชื่อและโอนเงินร่วมลงทุน โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนตามที่กล่าวอ้าง เมื่อโจทก์ร่วมบางรายพยายามโทรศัพท์ติดต่อหรือติดตามตัวนายเกรกอรี่ก็ไม่สามารถทำได้ รวมตลอดถึงเส้นทางการเงินที่โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกโอน และการที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ประกอบกิจการใดให้เกิดรายได้เพียงพอที่จะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหก ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบว่านายเกรกอรี่เดินทางเข้าออกประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นเมื่อใด อย่างไร นั้น เห็นว่า โจทก์จะนำพยานหลักฐานใดเข้าสืบขึ้นอยู่กับว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำเข้าสืบเพียงพอที่จะพิสูจน์ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดนั้นหรือไม่ ซึ่งหากโจทก์เห็นว่าพยานหลักฐานที่ตนนำเข้าสืบเพียงพอที่จะรับฟังได้ดังกล่าวแล้ว โจทก์อาจไม่นำพยานหลักฐานอื่นเข้าสืบก็ได้ การที่โจทก์ไม่ได้นำสืบว่า นายเกรกอรี่เดินทางเข้าออกประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นเมื่อใด อย่างไร โจทก์คงมีเพียงนางสาวภคพรมาเป็นพยานเบิกความดังวินิจฉัยมาข้างต้นว่า นายเกรกอรี่เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เมื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธินำสืบต่อสู้ว่านายเกรกอรี่ไม่ได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นในช่วงเกิดเหตุ แต่จำเลยที่ 1 ไม่นำสืบต่อสู้เช่นนี้ ไม่ทำให้พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีพิรุธสงสัยอันจะทำให้น้ำหนักพยานหลักฐานโจทก์เสียไป พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนัก ส่วนจำเลยที่ 1 มีนายธนัท กรรมการผู้มีอำนาจจำเลยทั้งสองมาเบิกความเป็นพยานว่า จำเลยทั้งสองและนายเกรกอรี่แต่งตั้งพยานเป็นทนายความในคดีหมายเลขแดงที่ พ 486/2560 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ซึ่งมีมูลเหตุเช่นเดียวกับคดีนี้ จากการสอบข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวได้ความว่า นายเกรกอรี่รู้จักโจทก์ร่วมที่ 12 เนื่องจากเป็นพนักงานที่นายเกรกอรี่ ในฐานะส่วนตัวจ้างมาเพื่อทำงานที่บริษัทที่นายเกรกอรี่เป็นเจ้าของ รวมทั้งบริษัทจำเลยทั้งสอง ส่วนโจทก์ร่วมคนอื่น นายเกรกอรี่ไม่รู้จัก นายเกรกอรี่ไม่เคยชักชวนโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกร่วมลงทุน เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ พยานหลักฐานจำเลยที่ 1 ไม่มีน้ำหนักไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมารับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 โดยนายเกรกอรี่เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นชักชวนโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกให้ร่วมลงทุนผ่านทางเว็บไซต์ managedsavings.com และผ่านทางโบรชัวร์โฆษณาการลงทุนอันเป็นการรับฝากเงินโดยสัญญาว่าจะจ่ายคืนเมื่อทวงถามหรือเมื่อสิ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ และจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ โดยจำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ เมื่อวินิจฉัยมาเช่นนี้แล้วฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้ออื่นจึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยมิได้รับอนุญาตนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สี่ตามฎีกาของโจทก์มีว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยมิได้รับอนุญาต เกิดนอกราชอาณาจักร และไม่ใช่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 8 (1) ถึง (13) พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ไม่ได้บัญญัติให้การกระทำดังกล่าวนอกราชอาณาจักรต้องรับโทษในราชอาณาจักร ศาลย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยมิได้รับอนุญาตได้ ชอบหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำความผิดในราชอาณาจักร ต้องรับโทษตามกฎหมาย" และมาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ความผิดใดที่การกระทำแม้แต่ส่วนหนึ่งส่วนใดได้กระทำในราชอาณาจักร... ให้ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร" ในปัญหานี้โจทก์มีนายรัชพร เจ้าหน้าที่กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ มาเป็นพยานเบิกความว่า พยานตรวจสอบเว็บไซต์ managedsavings.com ซึ่งจดทะเบียนครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2544 พบข้อมูลว่าผู้ขอจดทะเบียนคือบริษัท ม. สำนักงานอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ต่อมาวันที่ 30 มิถุนายน 2550 เปลี่ยนที่อยู่เป็นประเทศไทย จากนั้นวันที่ 19 มีนาคม 2552 เปลี่ยนผู้จดทะเบียนเป็น macsmlaw.com ที่อยู่อาคาร ส. และในวันที่ 21 มีนาคม 2553 เปลี่ยนผู้จดทะเบียนเป็น ม. เปลี่ยนที่อยู่จากชั้น 2 เป็นชั้น 1 อาคาร ส. ตรวจสอบข้อมูลผู้ดูแลเว็บไซต์ยังเป็นคนเดิมคือ Pitt, Greg โดยระบุอีเมล gregp@macsmlaw.com ซึ่งเป็นผู้ดูแลคนเดียวกันที่อยู่เดียวกันกับเว็บไซต์ macsmlaw.com และ managedsavings.com จากการตรวจสอบยังพบว่านายเกรกอรี่เป็นกรรมการบริษัท ค. ซึ่งมีข้อมูลอยู่ในหลายเว็บไซต์เกี่ยวพันกับการหลอกลวงขายที่ดินในประเทศไทย เห็นว่า นายรัชพรพยานโจทก์เป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติการไปตามหน้าที่ และไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 1 กับนายเกรกอรี่มาก่อน คำเบิกความของนายรัชพรพยานโจทก์มีน้ำหนักให้น่ารับฟัง ที่จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่านายเกรกอรี่เพิ่งเป็นเจ้าของเว็บไซต์เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2552 หลังเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำสืบให้เห็นตามข้อต่อสู้ พยานโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักน่าเชื่อถือ เชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่นายรัชพรเบิกความ ซึ่งคำว่า Pitt, Greg อีเมล gregp@macsmlaw.com เว็บไซต์ macsmlaw.com และเว็บไซต์ managedsavings.com เป็นอักษรย่อมีนัยสำคัญเพียงพอที่จะอนุมานว่าหมายถึงนายเกรกอรี่ และบริษัท ค. กับบริษัทจำเลยที่ 1 ที่นายเกรกอรี่เป็นกรรมการผู้มีอำนาจและผู้ถือหุ้น จึงรับฟังได้ว่านายเกรกอรี่เป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ managedsavings.com การที่จำเลยที่ 1 โดยนายเกรกอรี่โฆษณาชักชวนโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกให้ร่วมลงทุนโดยนายเกรกอรี่เดินทางไปโฆษณาชักชวนและจัดสัมมนาบรรยายแผนการลงทุนที่ประเทศญี่ปุ่นผ่านทางโบรชัวร์โฆษณาการลงทุน และผ่านทางเว็บไซต์ managedsavings.com การโฆษณาชักชวนให้ร่วมลงทุนผ่านทางเว็บไซต์ managedsavings.com ซึ่งเปลี่ยนที่อยู่จากประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศไทยขณะเกิดเหตุ โดยใช้เว็บไซต์ซึ่งมีที่อยู่ในประเทศไทยเป็นสื่อนำเสนอข้อมูลในการโฆษณาชักชวน จึงเป็นการกระทำในราชอาณาจักร เมื่อการโฆษณาชักชวนผ่านทางเว็บไซต์ managedsavings.com ที่เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดได้กระทำในราชอาณาจักร ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร จึงต้องรับโทษตามกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 4 วรรคหนึ่ง และมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยมิได้รับอนุญาตได้ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือไม่ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ขาดอายุความ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 กำหนดความผิดมูลฐานไว้ 21 ประการ ตาม (1) ถึง (21) โดย (3) กำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญาหรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เป็นความผิดมูลฐานประการหนึ่ง ซึ่งความผิดอาญาตามความผิดมูลฐานทั้งยี่สิบเอ็ดประการเป็นมูลเหตุ เป็นที่มาหรือเป็นฐานก่อให้เกิดหรือให้ได้มาซึ่งเงินหรือทรัพย์สินจากการกระทำความผิด จึงได้มีการกำหนดเป็นความผิดหลักไว้เพื่อเชื่อมโยงในการนำเอากฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไปใช้บังคับเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ไม่ได้กำหนดให้ต้องมีการดำเนินคดีในความผิดมูลฐานหรือมีคำพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดมูลฐานก่อน จึงจะดำเนินคดีฐานฟอกเงินได้ ความผิดฐานฟอกเงินจึงแยกต่างหากจากความผิดมูลฐาน แม้ความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนที่เป็นความผิดมูลฐานจะขาดอายุความไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองได้ เมื่อความผิดฐานฟอกเงินไม่จำต้องอาศัยความผิดมูลฐานเป็นเงื่อนไขในการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงิน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น