โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณ ๓๐ ปีมานี้ โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีสินเดิม ฝ่ายจำเลยไม่มี เวลานี้ทรัพย์สินสมรสอยู่ในความปกครองของจำเลย ศาลจังหวัดลพบุรีได้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันแล้ว แต่ยังไม่ได้แบ่งสินสมรสกัน สินเดิมของโจทก์ได้ขายเอาเงินมาใช้จ่ายในระหว่างโจทก์จำเลยอยู่กินด้วยกันหมดแล้ว จึงต้องเอาสินสมรสมาใช้ให้โจทก์ก่อนเป็นเงิน ๔,๕๐๐ บาท และโจทก์ได้รับส่วนแบ่งสินสมรส ๒ ส่วนเป็นเงิน ๕๓,๐๐๐ บาท จำเลยได้เพียง ๑ ส่วนเปนเงิน ๒๖,๕๐๐ บาท ขอให้ศาลบังคับ
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าโจทก์จำเลยได้ทำหนังสือหย่าขาดจากสามีภริยากันพร้องกับตกลงแบ่งสินสมรสระหว่างกันแล้ว และโจทก์จำเลยได้ตกลงยกที่นากับเรือน ๑ หลังให้แก่บุตร ๓ คน โดยโจทก์สัญญาจะไปจัดการแก้ทะเบียนใส่ชื่อบุตรทั้ง ๓ คน แต่ไม่ได้จัดการ โจทก์มาฟ้องคดีนี้เพื่อเอาที่นา และเรือนที่ยกให้บุตรมาเป็นประโยชน์ส่วนตัว เป็นการผิดสัญญา จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยให้โอนที่นาและบ้านให้แก่บุตร
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บังคับคดีตามฟ้องโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่นาและบ้านให้แก่บุตร
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์จำเลยสมรสกันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๕ โดยต่างมีสินเดิมด้วยกัน ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์ได้ฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดลพบุรีขอหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา ศาลได้พิพากษาตามยอมแล้ว ปัญหาต่อไปมีว่า ก่อนศาลจังหวัดลพบุรีพิพากษาตามยอมให้นั้น โจทก์จำเลยได้ทำหนังสือหย่าขาดจากสามีภริยาและแบ่งสินสมรสกันแล้วหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่า โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาหย่าและแบ่งทรัพย์สินสมรสกันที่บ้านนายสุดตากำนัน โดยนายสุดตาและนายคำลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาหย่าและแบ่งทรัพย์ เนื่องจากโจทก์จำเลยสมรสกันก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๕ ฉะนั้น การหย่าโดยโจทก์จำเลยตกลงยินยอมและได้ทำเป็นหนังสือ มีพยานลงลายมือชื่อรับรอง ๒ คน ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๙๘ จึงสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมาย มีผลให้โจทก์จำเลยขาดจากสามีภริยากันนับตั้งแต่วันที่หย่ากันนั้นเป็นต้นมา ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยมีอำนาจฟ้องแย้งในนามของจำเลยให้ถอนชื่อโจทก์ออกจากโฉนดที่ดินและใส่ชื่อบุตรเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และให้โจทก์โอนเรือน ๑ หลังให้แก่บุตรได้หรือไม่ ได้พิเคราะห์เห็นว่า
เมื่อโจทก์จำเลยได้ตกลงยินยอมทำสัญญาหย่าและแบ่งสินสมรสกัน ในสัญญานั้นโจทก์จำเลยได้ตกลงกันยกที่นาให้แก่บุตรผู้เยาว์แล้ว เมื่อโจทก์กลับมาฟ้องจำเลยเรียกเอาที่ดินและเรือนซึ่งยกให้แก่บุตรนั้นมาเป็นของตนเอง แทนที่จะยกให้แก่บุตรตามที่สัญญาไว้กับจำเลย จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญากับโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องในนามของจำเลยขอให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญาหย่าและแบ่งสินสมรสที่ทำไว้กับจำเลยได้
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์