ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวผู้ร้อง
พนักงานสอบสวนแถลงคัดค้านว่า พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งจากตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ว่า ไม่มีห้องกักตัวจึงขอส่งตัวผู้ร้องให้สถานีตำรวจภูธรกมลาไสยคุมขัง การควบคุมตัวผู้ร้องจึงชอบด้วยกฎหมาย
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วเห็นว่า ไม่ปรากฏว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหา (ผู้ร้อง) เข้ามาในราชอาณาจักรมาก่อน อีกทั้งคดีนี้ผู้ร้องถูกกล่าวหาว่าเป็นคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตและเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งผู้ร้องให้การปฏิเสธ เมื่อผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลไม่ได้ว่า การคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย จึงมีคำสั่งให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา (ผู้ร้อง) ในคดีหมายเลขดำที่ ผ.175/2562 ไปทันที
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองว่า การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 กักตัวผู้ร้องซึ่งเป็นคนต่างด้าวในสถานที่คุมขังของสถานีตำรวจหลังจากพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องผัดฟ้องและฝากขังและศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างสอบสวน เป็นการคุมขังผู้ร้องโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 54 บัญญัติว่า "คนต่างด้าวผู้ใดเข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการอนุญาตนั้นสิ้นสุดหรือถูกเพิกถอนแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะส่งตัวคนต่างด้าวผู้นั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักรก็ได้
ถ้ามีกรณีต้องสอบสวนเพื่อส่งตัวกลับตามวรรคหนึ่ง ให้นำมาตรา 19 และมาตรา 20 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในกรณีที่มีคำสั่งให้ส่งตัวคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักรแล้ว ในระหว่างรอการส่งกลับ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจอนุญาตให้ไปพักอาศัยอยู่ ณ ที่ใด โดยคนต่างด้าวผู้นั้นต้องมาพบพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด โดยต้องมีประกัน หรือมีทั้งประกันและหลักประกันก็ได้ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะกักตัวคนต่างด้าวผู้นั้นไว้ ณ สถานที่ใดเป็นเวลานานเท่าใดตามความจำเป็นก็ได้ ค่าใช้จ่ายในการกักตัวนี้ให้คนต่างด้าวผู้นั้นเป็นผู้เสีย
บทบัญญัติในมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรก่อนวันที่พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พุทธศักราช 2480 ใช้บังคับ"
กรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะส่งตัวคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร ตามบัญญัติมาตรา 54 วรรคหนึ่งนั้น หมายถึง คดีหรือข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า คนต่างด้าวผู้นั้นเข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการอนุญาตนั้นสิ้นสุดลงหรือถูกเพิกถอนแล้ว ส่วนกรณีของผู้ร้องถูกจับและควบคุมตัวในความผิดฐานเข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตและเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2562 เวลา 21.36 นาฬิกา ชั้นสอบสวนผู้ร้องให้การปฏิเสธและการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เมื่อควบคุมตัวผู้ร้องจะครบสี่สิบแปดชั่วโมงวันที่ 30 เมษายน 2562 พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ร้องมาผัดฟ้องและฝากขังต่อศาลชั้นต้นตามคำร้องผัดฟ้องและฝากขังครั้งที่ 1 คดีหมายเลขดำที่ ผ.175/2562 ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 7 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 กรณีของผู้ร้องจึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่ต้องสอบสวนเพื่อส่งตัวกลับตามมาตรา 54 วรรคสอง มิใช่กรณีที่มีคำสั่งให้ส่งตัวคนต่างด้าวกลับตามมาตรา 54 วรรคสาม จึงต้องนำบทบัญญัติตามมาตรา 19 และมาตรา 20 มาใช้บังคับโดยอนุโลม มาตรา 20 บัญญัติว่า "ในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่กักตัวคนต่างด้าวผู้ใดไว้ตามมาตรา 19 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจกักตัวคนต่างด้าวผู้นั้นได้เท่าที่จำเป็นตามพฤติการณ์แห่งกรณี แต่ห้ามมิให้กักตัวไว้เกินสี่สิบแปดชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ถูกกักตัวมาถึงที่ทำการของพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นจะยืดเวลาเกินสี่สิบแปดชั่วโมงก็ได้ แต่มิให้เกินเจ็ดวันและให้พนักงานเจ้าหน้าที่บันทึกเหตุจำเป็นที่ต้องยืดเวลาไว้ให้ปรากฏด้วย
ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นต้องกักตัวคนต่างด้าวผู้ใดไว้เกินกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีอำนาจกักตัวคนต่างด้าวผู้นั้นไว้ต่อไปอีกได้ และศาลอาจสั่งให้มีอำนาจกักตัวไว้เท่าที่จำเป็นครั้งละไม่เกินสิบสองวัน แต่ถ้าศาลเห็นสมควรจะสั่งให้ปล่อยตัวไปชั่วคราวโดยเรียกประกัน หรือเรียกทั้งประกันและหลักประกันก็ได้"
จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จึงเห็นได้ว่า อำนาจของผู้คัดค้านที่ 2 ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจกักตัวผู้ร้องซึ่งเป็นคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เป็นคนละกรณีกับอำนาจศาลในการควบคุมตัวผู้ร้องในฐานะผู้ต้องหาซึ่งถูกดำเนินคดีอาญาตามที่ผู้คัดค้านที่ 1 นำตัวผู้ร้องมาผัดฟ้องและฝากขังในระหว่างสอบสวน ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ร้องในระหว่างสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาดังกล่าว ก็เป็นคนละกรณีกับอำนาจในการกักตัวคนต่างด้าว ของพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่หากมีเหตุจำเป็นต้องกักตัวคนต่างด้าวเกินกำหนดเวลาตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจกักตัวคนต่างด้าวต้องยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีอำนาจกักตัวคนต่างด้าวไว้อีกต่อไปได้ และศาลอาจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้ตามมาตรา 20 วรรคสอง แม้ตามคำร้องผัดฟ้องและฝากขังของผู้คัดค้านที่ 1 จะมีคำขอว่าหากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ขอให้แจ้งผู้คัดค้านที่ 1 เพื่อรับตัวผู้ร้องไปดำเนินการตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 54 ก็ตาม แต่ตามรายงานกระบวนพิจารณาในการไต่สวนคำร้องผัดฟ้องและฝากขัง ศาลชั้นต้นก็มิได้มีคำสั่งตามคำขอดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งผู้คัดค้านที่ 1 มิใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจกักตัวคนต่างด้าว ที่จะยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีอำนาจกักตัวคนต่างด้าวต่อไปได้ตามมาตรา 20 วรรคสอง เมื่อคดีของผู้ร้องยังอยู่ในระหว่างสอบสวนเพื่อส่งตัวกลับ แต่ผู้คัดค้านที่ 2 ก็ไม่เคยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีอำนาจกักตัวผู้ร้องซึ่งเป็นคนต่างด้าวต่อไปอีกได้ตามมาตรา 20 วรรคสอง ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นต้องกักตัวคนต่างด้าวไว้เกินกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง และการกักตัวคนต่างด้าวตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ก็ไม่อยู่ในความหมายบทนิยาม "คุมขัง" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (12) กล่าวคือ คุมตัว ควบคุม ขัง กักขัง หรือจำคุก ด้วย โดยพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ได้กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองกักตัวคนต่างด้าวไว้ ณ สถานที่ใดตามที่เห็นเหมาะสม เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ แต่การที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไม่มีห้องกักตัวที่เหมาะสมเป็นของตัวเอง แล้วนำผู้ร้องไปกักตัวไว้ในห้องคุมตัวหรือควบคุมผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาของสถานีตำรวจภูธรกมลาไสยชั่วคราวนั้น จึงมิใช่เป็นการกักตัวผู้ร้องไว้ ณ สถานที่เหมาะสม ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง รวมทั้งการคุมขังผู้ร้องไว้ในห้องควบคุมของสถานีตำรวจดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2562 จนถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 เป็นระยะเวลา 14 วัน โดยมิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 20 วรรคสอง จึงเป็นการคุมขังในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2379/2542 ที่ผู้คัดค้านทั้งสองอ้างมาในฎีกา ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยมติที่ประชุมใหญ่พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน