คดีนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2503 จำเลยออกเช็ค 2 ฉบับ สั่งธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาชลบุรี จ่ายเงิน 30,000 บาท และ 35,000 บาท ตามลำดับให้แก่ผู้ถือ โดยลงวันที่ที่เช็คถึงกำหนดไว้ล่วงหน้า คือ วันที่ 15 มิถุนายน 2503 และในวันที่ 16 พฤษภาคม นั้น สามีจำเลยได้นำเช็คทั้ง 2 ฉบับนี้ไปขายให้แก่ธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาชลบุรี ธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยา ฯ รับซื้อไว้ในวันที่ 16 พฤษภาคม นั้น จำเลยมีเงินอยู่ในบัญชีของธนาคารเพียง 63.42 บาท เมื่อถึงกำหนดชำระเงินในวันที่ 15 มิถุนายน 2503 ธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาชลบุรีนำเช็ค 2 ฉบับนี้เข้าบัญชี แต่ธนาคารปฏิเสธไม่ยอมจ่ายเงินตามเช็คของจำเลย เพราะในขณะนั้นบัญชีเงินฝากของจำเลยมีเงินอยู่เพียง 38.42 บาท ธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาชลบุรี ผู้เสียหายจึงร้องทุกข์ให้ว่ากล่าวคดี
โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
จำเลยต่อสู้ว่า ผู้เสียหายทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยไม่มีเงินในบัญชีธนาคาร ฯ ผู้เสียหายพอจะชำระเงินตามเช็คได้ และต่อสู้ในข้ออื่น ๆ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่าธนาคาร ฯ ผู้เสียหายได้ร่วมรู้เห็นเป็นใจกระทำผิดด้วย ไม่มีอำนาจร้องทุกข์ ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 2 เดือน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อที่จำเลยฎีกาว่าธนาคาร ฯ ไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจร้องทุกข์นั้น ศาลเห็นว่า เช็ค 2 ฉบับนี้เป็นเช็คลงวันที่ล่วงหน้า 1 เดือน สามีจำเลยนำไปขายให้ธนาคาร ฯ ผู้เสียหายในวันที่ 16 พฤษภาคม 2503 แม้ในขณะซื้อขายธนาคารผู้เสียหายจะทราบอยู่ว่า จำเลยมีเงินในธนาคารเพียงเล็กน้อยก็ดี แต่เช็ค 2 ฉบับนั้นจะถึงกำหนดจ่ายเงินในวันที่ 15 มิถุนายน 2503 ซึ่งในระยะเวลา 1 เดือนนั้น จำเลยอาจนำเงินเข้าบัญชีของจำเลยให้พอจ่ายได้ จำเลยยังมีฐานะดี และมีลูกหนี้เป็นจำนวนแสนบาท ธนาคารผู้เสียหายจึงหวังว่าจำเลยจะนำเงินเข้าบัญชีได้ทัน การที่ธนาคารผู้เสียหายรับซื้อเช็คของจำเลย จะถือว่าธนาคารผู้เสียหายได้ร่วมรู้เห็นเป็นใจกระทำผิดกับจำเลยด้วยหาได้ไม่
พิพากษายืน