คดีทั้งสี่สำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสี่สำนวนว่า โจทก์และโจทก์ร่วม กับเรียกจำเลยในสำนวนแรกและสำนวนที่สองว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในสำนวนที่สามและสำนวนที่สี่ว่า จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องทั้งสี่สำนวนเป็นใจความว่า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2559 เวลากลางวัน จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของนายบุญเลิศ ผู้เสียหาย ใช้ข้อมูลและรหัสหมายเลขบัญชีทางอิเล็กทรอนิกส์ของบัญชีเงินฝากเลขที่ 195-2-64xxx-x อันเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งธนาคาร ก. ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ เพื่อใช้เบิกถอนเงินสดจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ผู้อื่นหรือประชาชน แล้วจำเลยทั้งสามร่วมกันเอาเงินของผู้เสียหายไปโดยทุจริตรวม 2 ครั้ง เป็นเงิน 200,000 บาท และ 70,000 บาท โดยการใช้ข้อมูลและรหัสหมายเลขบัญชีทางอิเล็กทรอนิกส์โอนเงิน 200,000 บาท และ 70,000 บาท ในบัญชีเงินฝากเลขที่ดังกล่าวบนโปรแกรมทางอินเทอร์เน็ตไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 เหตุเกิดที่ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี และแขวงอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 และจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2190/2561 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2770/2561 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1291/2561 ของศาลชั้นต้น ตามลำดับ จำเลยที่ 3 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2190/2561 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2770/2561 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 334, 335 จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 269/5, 269/7, 335 และจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 335 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงิน 270,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย กับนับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 และจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2190/2561 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2770/2561 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1291/2561 ของศาลชั้นต้น และนับโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2190/2561 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2770/2561 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณานาย บ. ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก (เดิม) ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/7 ประกอบมาตรา 269/5, 335 (7) (11) วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป จำคุกจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 กระทงละ 2 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 คนละ 4 ปี ฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการเบิกถอนเงินสดโดยมิชอบ และฐานลักทรัพย์นายจ้างโดยร่วกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการเบิกถอนเงินสดโดยมิชอบ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงิน 270,000 บาท แก่โจทก์ร่วม นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2770/2561 ของศาลชั้นต้น และนับโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2190/2561 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2770/2561 ของศาลชั้นต้น ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2190/2561 ของศาลชั้นต้น นั้น เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ คำขอในส่วนนี้จึงให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมใช้ข้อมูลและรหัสหมายเลขบัญชีทางอิเล็กทรอนิกส์ของบัญชีเงินฝากเลขที่ 195-2-64xxx-x ตามฟ้อง ซึ่งธนาคารออกให้เพื่อใช้ในการเบิกถอนเงินสดจากบัญชีเงินฝากดังกล่าว โดยจำเลยที่ 2 โอนเงินในบัญชีดังกล่าวบนโปรแกรมทางอินเทอร์เน็ตไปเข้าบัญชีเงินฝากเลขที่ 758-2-15xxx-x ของจำเลยที่ 1 รวม 2 ครั้ง เป็นเงิน 200,000 บาท และ 70,000 บาท ตามลำดับ
ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ 2 ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของโจทก์ร่วมโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า เมื่อโจทก์ร่วมเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารและขอใช้การทำธุรกรรมบนโปรแกรมทางอินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะใช้ผ่านคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่หรืออุปกรณ์อื่นใด ทางธนาคารได้ให้รหัสผู้ใช้และรหัสผ่านแก่โจทก์ร่วม ซึ่งโจทก์ร่วมสามารถใช้ข้อมูลบัญชีเงินฝาก รหัสผู้ใช้และรหัสผ่านบนโปรแกรมทางอินเทอร์เน็ตในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการ ชำระหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด ใช้โอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วมไปยังบัญชีเงินฝากของบุคคลอื่น ใช้ในการเบิกถอนเงินสดหรือใช้ในธุรกรรมอย่างอื่น จึงถือว่าการใช้ข้อมูลบัญชีเงินฝาก รหัสผู้ใช้และรหัสผ่านในการทำธุรกรรมบนโปรแกรมทางอินเทอร์เน็ต เป็นการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามความหมายของบัตรอิเล็กทรอนิกส์ในมาตรา 1 (14) (ข) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบตามมาตรา 269/5 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มีวัตถุประสงค์เพื่อลงโทษผู้ยึดถือ หรือครอบครอง หรือเก็บได้ ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์อันแท้จริงของผู้อื่นแล้วนำออกใช้โดยตนเองไม่มีสิทธิใด ๆ หรือลักลอบนำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ชนิดหนึ่งของผู้อื่นไปใช้ อันเป็นการใช้โดยมิชอบ แม้ข้อมูลบัญชีเงินฝาก รหัสผู้ใช้และรหัสผ่านที่โจทก์ร่วมได้รับมา เป็นข้อตกลงระหว่างธนาคารและโจทก์ร่วมในการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ โดยโจทก์ร่วมต้องเก็บรักษาเป็นความลับของตนมิให้ผู้ใดล่วงรู้ก็ตาม แต่การที่โจทก์ร่วมผู้เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ให้จำเลยที่ 2 ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของตนโดยการบอกข้อมูลบัญชีเงินฝาก รหัสผู้ใช้และรหัสผ่านแก่จำเลยที่ 2 ก็เพื่อให้จำเลยที่ 2 ในฐานะลูกจ้างทำธุรกรรมบนโปรแกรมทางอินเทอร์เน็ตแทนโจทก์ร่วมให้เป็นไปตามที่โจทก์ร่วมสั่งหรือมอบหมายให้ทำเท่านั้น หาใช่นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้เกินกว่าที่โจทก์ร่วมสั่งหรือมอบหมายให้ทำไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังที่วินิจฉัยแล้วว่า จำเลยที่ 2 ใช้ข้อมูลบัญชีเงินฝาก รหัสผู้ใช้และรหัสผ่านของโจทก์ร่วมโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วมไปยังบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 รวม 2 ครั้ง เป็นเงิน 200,000 บาท และ 70,000 บาท โดยโจทก์ร่วมไม่ได้สั่งหรือมอบหมายให้ทำ ย่อมเป็นการทำโดยไม่มีอำนาจและโจทก์ร่วมไม่ได้ยินยอม ทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายสูญเสียเงินฝากในบัญชี จึงเป็นการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของโจทก์ร่วมโดยมิชอบแล้ว ฎีกาในส่วนนี้ของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้นเช่นกัน
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก (เดิม) ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5 ประกอบมาตรา 269/7, 335 (7) (11) วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป จำคุกจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3กระทงละ 1 ปี รวม 2 กระทง ฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการเบิกถอนเงินสดโดยมิชอบ และฐานลักทรัพย์นายจ้างโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการเบิกถอนเงินสดโดยมิชอบ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวม 2 กระทง ทางนำสืบของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยทั้งสามกระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 กระทงละ 8 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุกคนละ 16 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 12 เดือน รวม 2 กระทงเป็นจำคุก 24 เดือน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงิน 270,000 บาท แก่โจทก์ร่วมนับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2770/2561 ของศาลชั้นต้น และนับโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2190/2561 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2770/2561 ของศาลชั้นต้น ส่วนคำขอให้นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2190/2561 ของศาลชั้นต้นให้ยก