โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297, 298, 364, 365, 33 ริบท่อนไม้แปรของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297, 298, 365(2)(3) ประกอบมาตรา 364(ที่ถูกน่าจะเป็นมาตรา 298 ประกอบมาตรา 289(4), 365(1)(2)(3)ประกอบมาตรา 364) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานบุกรุก จำคุก 6 เดือนและปรับ 10,000 บาท ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จำคุก 4 ปีรวมจำคุก 4 ปี 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก2 ปี 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท ผู้เสียหายทั้งสองแถลงว่าได้รับการชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลย ไม่ติดใจเอาความกับจำเลยพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นควรให้โอกาสแก่จำเลยสักครั้งโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบท่อนไม้แปรของกลาง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานทำร้ายร่างกายให้จำคุก 2 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 1 ปี รวมกับโทษความผิดฐานบุกรุกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วเป็นจำคุก 1 ปี 3 เดือน ไม่ลงโทษปรับไม่รอการลงโทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "การที่จำเลยบุกรุกเข้าไปทำร้ายนายอานนท์ เทศเขียวผู้เสียหายที่ 2 ถึงในบ้านซึ่งเป็นที่พักอาศัยของนางเนื่อง เทศเขียว ผู้เสียหายที่ 1 และผู้เสียหายที่ 2 ในเวลากลางคืน นับว่าเป็นการกระทำผิดอย่างอุกอาจ ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย ทั้งจำเลยยังเลือกทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 ที่ใบหน้าอันเป็นอวัยวะสำคัญการกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดร้ายแรง ไม่สมควรรอการลงโทษส่วนที่จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่ฝ่ายผู้เสียหายก็เพียงระงับคดีส่วนแพ่งที่จำเลยจะไม่ถูกฟ้องเป็นคดีแพ่งเท่านั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษแก่จำเลย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง การที่จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายทั้งสองแล้วทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าที่จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายทั้งสองด้วยเจตนาจะกระทำการอย่างอื่น จึงต้องถือว่าจำเลยเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายโดยมีเจตนาอันแท้จริงเพื่อทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 เท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าเป็นการกระทำความผิดสองกรรมนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยปัญหาดังกล่าวแม้จะไม่มีคู่ความใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง, 215 และ 225"
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 298 ประกอบมาตรา 289(4) อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 เพียงบทเดียวเมื่อลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78แล้วคงจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2