คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คดีถึงที่สุดแล้วแต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้ออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์สินของจำเลย
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาท
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 50480 และ 50481 ตามที่โจทก์ขอให้ยึด กับให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท แจ้งคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีออกคำสั่งอายัดก่อน เมื่อที่ดินพิพาทตกเป็นของจำเลยแล้วจึงให้ยึดเพื่อขายทอดตลาดต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านมีว่า ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 50480 และ 50481 เป็นของผู้คัดค้านหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามคำพิพากษาศาลจังหวัดสระบุรี คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1440/2556 ว่า ผู้คัดค้านซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวเป็นบุตรของโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ โดยจำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจากนางยุวรี แล้วจดทะเบียนใส่ชื่อผู้คัดค้านเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน ผู้คัดค้านจึงเป็นตัวแทนถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนจำเลยซึ่งเป็นตัวการ จึงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยมีชื่อผู้คัดค้านเป็นเจ้าของในทะเบียน ส่วนที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้คัดค้านกับจำเลยตกลงกันได้และจำเลยไม่ประสงค์ที่จะบังคับคดีต่อผู้คัดค้านอีกนั้น เห็นว่า การที่จำเลยยื่นคำร้องขอสละสิทธิในการบังคับคดีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2561 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1440/2556 ของศาลจังหวัดสระบุรี เป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 ในคดีนี้แล้ว ทั้งไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้คัดค้านชำระเงินให้แก่จำเลยตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดสระบุรีอย่างไร ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของจำเลย พฤติการณ์ของจำเลยและผู้คัดค้านดังกล่าวน่าเชื่อว่า การสละสิทธิในการบังคับคดีเกิดจากการสมยอมกันเพื่อยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินให้พ้นจากการบังคับคดีของโจทก์ ที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นของจำเลย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น ส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีและให้เจ้าพนักงานบังคับคดีออกคำสั่งอายัดก่อน เมื่อที่ดินพิพาทตกเป็นของจำเลยแล้วจึงให้ยึดเพื่อขายทอดตลาดต่อไปนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทมีชื่อนางสาวนิตยา เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยศาลจังหวัดสระบุรีพิพากษาให้นางสาวนิตยาผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้จำเลย ตามคำพิพากษาศาลจังหวัดสระบุรี คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1440/2556 แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ดำเนินการให้อ้างว่าจำเลยไม่ใช่ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาท คำร้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์ขอให้ยึดทรัพย์สินที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอ้างว่าเป็นของจำเลยลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งมีชื่อบุคคลอื่นเป็นเจ้าของในทะเบียน แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งงดการยึด โจทก์จึงใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์สินนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 298 วรรคสาม หาใช่กรณีที่จะกระทำได้โดยมีคำสั่งอายัดก่อนดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ