โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243, 253 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243, 253 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 2 กระทง กระทงแรก ปรับจำเลยทั้งสามคนละ 1,318,240 บาท กระทงหลัง ปรับคนละ 578,000 บาท รวมปรับคนละ 1,896,240 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงกระทงแรกปรับคนละ 659,120 บาท กระทงหลังปรับคนละ 289,000 บาท รวมปรับคนละ 948,120 บาท หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้เกินหนึ่งปี แต่ไม่เกินสองปี
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดกระทงหลังตามฟ้องข้อ 1.2 ให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสามเป็นเงินสี่เท่าของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่ม เป็นเงิน 103,320 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยทั้งสามรวมเป็นเงิน 51,660 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 หากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังจำเลยที่ 2 และที่ 3 แทนค่าปรับได้ไม่เกินหนึ่งปี ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดกระทงแรกตามฟ้องข้อ 1.1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 เวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2553 เวลาใดไม่ปรากฏชัด ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสามร่วมกันนำของที่ผ่านพิธีการศุลกากรแล้วเข้ามาในราชอาณาจักรโดยการยื่นใบสินค้าขาเข้าต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร สำแดงประเภทชนิดและราคาของเป็นโครงรถยนต์เก่าใช้แล้ว อัตราอากรร้อยละ 80 สำแดงราคา 140,000 บาท ชำระอากร 112,000 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 17,640 บาท ซึ่งโครงรถยนต์เก่าใช้แล้วดังกล่าวเคยเป็นชิ้นส่วนของรถยนต์นั่งใช้แล้วครบชุดสมบูรณ์ ซึ่งเป็นของที่มีถิ่นกำเนิดนอกราชอาณาจักร อันเป็นการหลีกเลี่ยงอากรที่พึงเก็บแก่สิ่งที่สมบูรณ์แล้ว โดยวิธีนำสิ่งนั้นเข้ามาเป็นส่วน ๆ ต่างหาก เป็นเหตุให้จำเลยทั้งสามชำระค่าภาษีอากรขาดไป โดยมีภาษีสรรพสามิตที่จะต้องชำระเพิ่ม 280,000 บาท ภาษีมหาดไทยที่ต้องชำระเพิ่ม 28,000 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระเพิ่ม 21,560 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 329,560 บาท จำเลยทั้งสามกระทำการดังกล่าวเพื่อนำสินค้าดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อหลีกเลี่ยงการชำระค่าอากรให้ครบถ้วน อันเป็นการเกี่ยวข้องด้วยประการใด ๆ ในการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากร หรือในการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมายและข้อจำกัดใด ๆ เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้ารถยนต์ใช้แล้วครบชุดสมบูรณ์ โดยเจตนาที่จะฉ้อค่าภาษี และขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243, 253 ซึ่งการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามตามข้ออ้างในคำฟ้องข้อ 1.1 ของโจทก์เป็นการกระทำในขณะที่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2 บัญญัติว่า "เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือบทกฎหมายอื่นอันเกี่ยวแก่ศุลกากร และในการแปลความแห่งพระราชบัญญัติหรือบทกฎหมายนั้น ๆ ถ้อยคำต่อไปนี้ ถ้าไม่แย้งกับความในบทหรือเนื้อเรื่องไซร้ ให้มีความหมายและกินความรวมไปถึงวัตถุและสิ่งทั้งหลายดังกำหนดไว้ต่อไปนี้ คือ.... คำว่า "อากร" หมายความว่า ค่าภาษี ค่าอากร ค่าธรรมเนียมหรือค่าภาระติดพันในทางศุลกากร หรืออากรชั้นใน" ดังนั้น คำว่า "ค่าอากร" ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 จึงหมายถึงค่าอากรในทางศุลกากรเท่านั้น หาหมายรวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นภาษีอากรฝ่ายสรรพากร ภาษีสรรพสามิต และภาษีมหาดไทยด้วยไม่ อย่างไรก็ตามแม้คำฟ้องของโจทก์ข้อ 1.1 ไม่มีจำนวนอากรขาเข้าที่จำเลยทั้งสามต้องเสียเพิ่ม แต่เมื่อคำฟ้องข้อ 1.1 บรรยายด้วยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมายและข้อจำกัดใด ๆ เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้ารถยนต์ใช้แล้วครบชุดสมบูรณ์โดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษี ซึ่งจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ยังบัญญัติให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดอยู่ จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องข้อ 1.1 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่งภายหลังจำเลยทั้งสามกระทำความผิด ได้มีพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ใช้บังคับ ซึ่งอัตราโทษใหม่ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยทั้งสามในส่วนที่เป็นคุณตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดกระทงแรกตามฟ้องข้อ 1.1 จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244, 253 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสามรวมเป็นเงิน 100,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยทั้งสามรวมเป็นเงิน 50,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 หากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังจำเลยที่ 2 และที่ 3 แทนค่าปรับได้ไม่เกินหนึ่งปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์