โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 283 ทวิ, 317
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานาง ก. ผู้เสียหายที่ 2 และเด็กหญิง ช. ผู้เสียหายที่ 1 โดยนางสาว ช. มารดาผู้แทนโดยชอบธรรม ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องทั้งสอง
จำเลยให้การคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม, 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่ออนาจารและฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 14 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 28 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำคุกกระทงละ 6 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 12 ปี รวมจำคุกจำเลยทั้งสิ้น 40 ปี และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน จำคุกกระทงละ 10 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 20 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 10 ปี รวมจำคุกจำเลยทั้งสิ้น 30 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เด็กหญิง ช. ผู้เสียหายที่ 1 เป็นบุตรของนางสาว ช. กับนาย ว. เกิดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2556 ขณะเกิดเหตุอายุ 4 ปีเศษ พักอาศัยอยู่กับนาง ก. ผู้เสียหายที่ 2 ผู้เป็นยาย ซึ่งอยู่ติดกับบ้านจำเลย ผู้เสียหายที่ 2 เลี้ยงดูผู้เสียหายที่ 1 มาตั้งแต่อายุได้ 17 วัน เนื่องจากมารดาไปรับราชการอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ผู้เสียหายที่ 2 พาผู้เสียหายที่ 1 ไปเล่นที่บ้านของจำเลยเป็นประจำ ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2561 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุครั้งหลังนั้น ผู้เสียหายที่ 2 พาผู้เสียหายที่ 1 ไปเล่นที่บ้านของจำเลยอีกเช่นเคย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 หรือไม่ เห็นว่า หากผู้เสียหายที่ 1 ถูกจำเลยใช้อวัยวะเพศของจำเลยสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 ตามที่ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความแล้ว ผลการตรวจร่างกายผู้เสียหายที่ 1 น่าจะพบร่องรอยการฉีกขาดของเยื่อพรหมจารี หรือหลักฐานที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือหลักฐานอย่างอื่นที่บ่งบอกว่าผ่านการถูกล่วงเกินทางเพศปรากฏอยู่บ้าง นอกจากนั้นแม้มีการตรวจพบรอยแดงที่อวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 แต่รอยแดงดังกล่าวก็ไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่าเกิดจากการกระทำของจำเลยหรือไม่ หากผู้เสียหายที่ 2 เห็นจำเลยนอนทับผู้เสียหายที่ 1 อยู่บนเตียงนอนตามที่ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความ ผู้เสียหายที่ 2 ก็น่าที่จะส่งเสียงโวยวาย ขอความช่วยเหลือและบอกให้ภริยาของจำเลยทราบเรื่องในขณะนั้น แต่ข้อเท็จจริงกลับไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 2 ร้องขอความช่วยเหลือและบอกให้ภริยาของจำเลยทราบเพื่อให้มารู้เห็นเหตุการณ์ในทันทีแต่อย่างใด จึงเป็นข้อพิรุธ ประกอบกับผู้เสียหายที่ 2 อ้างว่าในวันเกิดเหตุนั้นได้นั่งคุยอยู่กับภริยาของจำเลยและเพื่อนบ้านอีกหลายคน ซึ่งจำเลยเองได้อ้างบุคคลเหล่านั้นมาเบิกความเป็นพยานอันได้แก่ นาง ล. นางสาว อ. นาง ศ. และนางสาว ท. ซึ่งพยานเหล่านี้ก็ล้วนยืนยันว่าในวันเกิดเหตุ เห็นจำเลยนั่งและนอนเล่นอยู่บนเตียงไม่ได้ลุกออกไปไหน ส่วนผู้เสียหายที่ 1 ก็เล่นอยู่ข้างเตียงของจำเลย โดยหลังจากนั้นผู้เสียหายที่ 2 เรียกให้ผู้เสียหายที่ 1 กลับบ้านพร้อมกันโดยผู้เสียหายที่ 1 วิ่งนำหน้า ส่วนผู้เสียหายที่ 2 ถือลูกโป่งเดินตามหลัง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงยังมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ส่วนการกระทำความผิดในวันเกิดเหตุครั้งแรกระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบสนับสนุนว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องที่จะลงโทษจำเลยได้ ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
สำหรับความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกกระทงละ 6 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 12 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เฉพาะโทษเป็นจำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 10 ปี จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อโทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยในความผิดฐานนี้จึงเป็นการขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตามแม้ถือว่าความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 แต่เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยพยานหลักฐานโจทก์แล้วเห็นว่ายังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ และยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยดังได้วินิจฉัยมา ศาลฎีกาก็ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยในข้อหาความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ดูแลเพื่อการอนาจารด้วยเพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง และยังมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ และยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว กรณีจึงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยกระทำละเมิดผู้ร้องทั้งสอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องทั้งสองนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ และยกคำขอส่วนแพ่งของผู้ร้องทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งทั้งสามศาลให้เป็นพับ