โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 83, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 8 ทวิ, 72 ทวิ และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายสมภพ ผู้เสียหาย และนายทรงวุฒิ ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ส่วนความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนมีทะเบียนที่จำเลยที่ 1 ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผย โดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต รัฐเป็นผู้เสียหาย จึงไม่อนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 72, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ จำคุก 6 ปี ฐานพาอาวุธปืนมีทะเบียนที่จำเลยที่ 1 ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผย โดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 เดือน ทางนำสืบจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา และจำเลยที่ 1 บรรเทาความเสียหายโดยชำระเงินแก่โจทก์ร่วมที่ 1 จำนวน 500,000 บาท มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ คงจำคุก 3 ปี ฐานพาอาวุธปืนมีทะเบียนที่จำเลยที่ 1 ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 3 ปี 2 เดือน ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ริบอาวุธปืนและชิ้นส่วนกระสุนปืนของกลาง
โจทก์ร่วมที่ 1 และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 จำคุก 10 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 5 ปี 2 เดือน ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้นายทรงวุฒิเข้าร่วมเป็นโจทก์และยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของนายทรงวุฒิ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2559 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา โจทก์ร่วมที่ 1 และจำเลยที่ 1 โต้เถียงกัน แล้วโจทก์ร่วมที่ 1 กับนายทรงวุฒิ ร่วมกันทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 ได้รับบาดเจ็บบริเวณหน้าผากและจมูก หลังจากนั้นโจทก์ร่วมที่ 1 กับนายทรงวุฒิ เดินกลับไปร้านของโจทก์ร่วมที่ 1 ที่เกิดเหตุ ส่วนจำเลยที่ 1 เดินกลับไปบ้านของจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นน้องสาวของจำเลยที่ 1 เดินไปบริเวณหน้าร้านที่เกิดเหตุเพื่อสอบถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับจำเลยที่ 1 จากโจทก์ร่วมที่ 1 จำเลยที่ 1 เดินตามไป เมื่อจำเลยที่ 2 เดินเข้าไปใกล้ประตูร้านที่เกิดเหตุและพูดกับโจทก์ร่วมที่ 1 จำเลยที่ 1 เดินตามเข้าไปใกล้จำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงโจทก์ร่วมที่ 1 หลายนัด กระสุนปืนถูกโจทก์ร่วมที่ 1 บริเวณลำตัวและทรวงอกด้านซ้าย เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส โจทก์ร่วมที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงโต้ตอบ จำเลยทั้งสองวิ่งหลบหนีไป การกระทำความผิดฐานพาอาวุธปืนมีทะเบียนที่จำเลยที่ 1 ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผย โดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตสำหรับจำเลยที่ 1 และคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อแรกมีว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะและโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการหรือไม่ เห็นว่า การกระทำโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 เป็นการกระทำที่ผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมจึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้นคือ ในระยะเวลาต่อเนื่องที่ตนยังมีโทสะอยู่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อโจทก์ร่วมที่ 1 และนายทรงวุฒิทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 เดินกลับบ้าน ประกอบกับจำเลยที่ 1 เบิกความว่า ตอนแรกจำเลยที่ 1 ไม่คิดว่าจะไปร้านที่เกิดเหตุอีก แต่เหตุที่ไปร้านที่เกิดเหตุเพราะเป็นห่วงจำเลยที่ 2 ซึ่งเดินไปร้านที่เกิดเหตุ และจำเลยที่ 1 ทราบว่าขณะทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์ร่วมที่ 1 มีอาวุธปืนและเหล็ก พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเชื่อว่าระหว่างที่จำเลยที่ 1 เดินกลับบ้านและก่อนที่จำเลยที่ 2 จะออกจากบ้านไปร้านที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 สามารถระงับสติอารมณ์ทำให้โทสะหมดสิ้นไปแล้วและกลับมามีสติสัมปชัญญะดีเหมือนเดิม การที่จำเลยที่ 1 ตามจำเลยที่ 2 ไปร้านที่เกิดเหตุแล้วใช้อาวุธปืนของกลางยิงโจทก์ร่วมที่ 1 หลังจากจำเลยที่ 2 พูดสอบถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับจำเลยที่ 1 จากโจทก์ร่วมที่ 1 แล้ว โดยจำเลยที่ 1 เบิกความถึงเหตุที่ยิงโจทก์ร่วมเนื่องจากโจทก์ร่วมที่ 1 มีท่าทางเกรี้ยวกราดมากขึ้นและชี้หน้าพร้อมพูดว่า กูรู้ว่าใครร้องเรียน แล้วทำท่าทางลักษณะคล้ายล้วงอาวุธปืนออกมาจากกระเป๋าสะพายสีน้ำตาล จึงเชื่อได้ว่าเป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้าของจำเลยที่ 1 ในทันที หาใช่เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดกับที่จำเลยที่ 1 ยังมีโทสะอยู่ไม่ แต่เป็นเหตุการณ์ที่ขาดตอนไปแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ากระทำโดยบันดาลโทสะไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงโจทก์ร่วมที่ 1 แต่โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น และเมื่อโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด โจทก์ร่วมที่ 1 จึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยและมีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 30 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อต่อไปมีว่า มีเหตุรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 พาอาวุธปืนของกลางติดตัวไปที่ร้านที่เกิดเหตุแล้วใช้อาวุธปืนของกลางซึ่งมีอานุภาพร้ายแรงยิงโจทก์ร่วมที่ 1 หลายนัด จนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส นับเป็นเรื่องร้ายแรง และแสดงให้เห็นถึงความไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 แจ้งเหตุคดีนี้ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ มอบตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ชดใช้เงินให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น มีภาระต้องเลี้ยงดูมารดา และไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ก็ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยที่ 1 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน