โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินค่าปรับแก่โจทก์ 86,166.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 50,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์จำนวน 68,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 50,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 จนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จ กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองศาล โดยกำหนดค่าทนายความรวมเป็นเงิน 2,000 บาท
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากขณะยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 พันตำรวจโทปวริศร์ ผู้ลงชื่อในใบแต่งทนายความได้ย้ายไปจากสถานีตำรวจทางหลวง 1 แล้ว จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ในวันที่ฟ้องคดีนั้น เห็นว่า จำเลยไม่ได้ยกปัญหานี้ขึ้นต่อสู้ในคำให้การเพื่อให้เป็นประเด็นในคดี จึงเป็นการฎีกาโดยยกข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้อง ถือได้ว่าเป็นการฎีกาข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของจำเลย
ปัญหาตามฎีกาข้อต่อไปของจำเลยมีว่า จำเลยผิดสัญญาประกันหรือไม่ เห็นว่าจำเลยยอมรับว่าได้ทำคำร้องขอประกันและทำสัญญาประกันตัวนายอดุลย์ บุตรชายจำเลยซึ่งต้องหาว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและทรัพย์สินเสียหาย ไปจากโจทก์เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2537 ซึ่งตามสัญญาประกันมีข้อความระบุไว้ในข้อ 1 ว่า ผู้ประกันสัญญาว่าจะส่งตัวผู้ต้องหาให้ตามกำหนดนัดของเจ้าพนักงาน และข้อ 2 ระบุว่าหากผิดสัญญาข้อ 1 ผู้ประกันยินยอมใช้เงิน 50,000 บาท ทั้งปรากฏว่าด้านหลังของสัญญาประกันมีตารางกำหนดวันเวลาให้ผู้ประกันส่งผู้ต้องหาต่อผู้ให้ประกันโดยกำหนดให้ส่งตัวผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ในวันที่ 15 มิถุนายน 2537 และครั้งที่ 2 ในวันที่ 27 มิถุนายน 2537 ซึ่งจำเลยได้ลงลายมือชื่อรับทราบกำหนดนัดดังกล่าวไว้ด้วย แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่าจำเลยทราบดีว่าตนมีหน้าที่ต้องส่งตัวผู้ต้องหาให้แก่พนักงานสอบสวนเมื่อใด เมื่อปรากฏว่าในวันที่ 15 มิถุนายน 2537 ซึ่งเป็นวันกำหนดนัดครั้งที่ 1 จำเลยมิได้นำตัวผู้ต้องหามาส่งให้พนักงานสอบสวน จึงถือว่าจำเลยผิดสัญญาประกันตั้งแต่วันดังกล่าวและต้องรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ตามสัญญาประกัน ที่จำเลยอ้างว่าขณะลงชื่อในสัญญาประกันยังไม่มีการระบุวันเวลาให้ส่งตัวผู้ต้องหานั้น เห็นว่า เป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอยและผิดปกติวิสัยเพราะไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่จำเลยจะต้องลงชื่อรับทราบโดยที่ยังไม่มีการระบุวันเวลาที่กำหนดให้ส่งตัวผู้ต้องหาไว้แน่นอน ข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักให้เชื่อได้ และเมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาประกันแล้ว แม้ต่อมาพนักงานสอบสวนจะดำเนินการอื่นใดเกี่ยวกับกรณีนี้ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งให้จำเลยส่งตัวผู้ต้องหาในเวลาต่อมาหรือการคืนสมุดเงินฝากของธนาคารให้แก่จำเลย ก็ไม่มีผลทำให้ลบล้างการผิดสัญญาของจำเลย โจทก์ยังคงมีสิทธิโดยสมบูรณ์ที่จะเรียกให้จำเลยชดใช้เงินตามสัญญาประกัน ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการต่อมาว่า สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยภายในห้าปี และช่วงเวลาที่คิดดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องเกินกว่าห้าปีถือว่าขาดอายุความตามกฎหมายโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลย เห็นว่า กรณีผิดสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปซึ่งมีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 จำเลยผิดสัญญาตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2537 โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนสิทธิเรียกร้องในส่วนของดอกเบี้ยนั้นโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินห้าปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (1) ส่วนที่เกินจากนั้นไม่อาจเรียกได้ หาใช่ว่าหากฟ้องเรียกดอกเบี้ยเกินกำหนดห้าปีแล้วเป็นอันขาดอายุความไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้เลยตามที่จำเลยฎีกา ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไว้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาตามฎีกาประการสุดท้ายของจำเลยมีว่า จำเลยต้องรับผิดเต็มตามสัญญาประกันพร้อมดอกเบี้ยหรือไม่ เห็นว่า สัญญาประกันกำหนดให้จำเลยชำระเงิน 50,000 บาท แก่โจทก์ หากจำเลยผิดสัญญาไม่ส่งตัวผู้ต้องหาให้แก่โจทก์ตามกำหนดนัด จึงเป็นข้อตกลงที่กำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าซึ่งมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับหากเห็นว่าสูงเกินส่วน ศาลสามารถลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ โดยพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ต่อมาจำเลยได้ส่งตัวผู้ต้องหาแก่โจทก์จนผู้ต้องหาถูกฟ้องและศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วถือว่าจำเลยมีส่วนช่วยบรรเทาความเสียหาย จึงเห็นสมควรให้จำเลยรับผิดชำระค่าปรับจำนวน 20,000 บาท ในส่วนดอกเบี้ยนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์มิได้บอกกล่าวกำหนดเวลาให้จำเลยชำระหนี้ก่อนฟ้องคดีนี้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยก่อนฟ้อง คงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยนับจากวันฟ้องเท่านั้น ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ