โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นคนต่างด้าว มีใบสำคัญประจำตัว บังอาจละเลยไม่ต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวสำหรับปี พ.ศ. ๒๕๐๘ต่อนายทะเบียนท้องที่ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๔๙๓ มาตรา ๕, ๗, ๑๐, ๑๓, ๒๐ แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๕ มาตรา ๔
จำเลยให้การต่อสู้ว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย แต่บิดาไปแจ้งเป็นคนต่างด้าว
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเกิดในประเทศไทย จึงมีสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๔๕๖ มาตรา ๓ แต่ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๘๖ บิดาจำเลยยื่นคำขอรับใบสำคัญต่างด้าวให้จำเลยจึงถือว่าจำเลยขาดจากสัญชาติไทย ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๔๙๕มาตรา ๑๖ ทวิ พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๔ซึ่งบัญญัติให้บุคคลผู้มีสัญชาติไทยแต่บิดาเป็นคนต่างด้าว แล้วไปขอรับใบสำคัญให้ขาดจากสัญชาติไทย แม้จะมีพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๗ ให้ยกเลิกมาตรา ๑๖ ทวิ ข้างต้นก็ไม่มีผลให้จำเลยกลับเป็นผู้มีสัญชาติไทยได้ พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๔๙๓มาตรา ๑๐, ๑๓, ๒๐ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๕ มาตรา ๔ให้ปรับ ๕๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ด้วยผลของพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๗ จำเลยย่อมกลับเป็นผู้มีสัญชาติไทยตามเดิม เทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๕๕๘/๒๕๐๖ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อมีพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๔๙๕มาตรา ๑๖ ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒)พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๕ บัญญัติให้บุคคลผู้มีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยแต่บิดาเป็นคนต่างด้าว หากได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ให้ขาดจากสัญชาติไทย ย่อมมีผลให้บุคคลดังกล่าวนี้ขาดจากสัญชาติไทย ระหว่างระยะเวลาที่กฎหมายดังกล่าวนี้ใช้บังคับอยู่แต่ต่อมาเมื่อมีพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙มาตรา ๓ บัญญัติให้บุคคลซึ่งเกิดในราชอาณาจักรไทยได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ย่อมมีผลให้บุคคลซึ่งเกิดในประเทศไทยแต่ต้องเสียสัญชาติไปดังกล่าว กลับได้สัญชาติไทยกลับคืนใหม่อีก เทียบตามแบบอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ ๕๕๘/๒๕๐๖
พิพากษายืน