คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกนายสุพงษ์ บัวซ้อน เป็นโจทก์ที่ 1 นายระลึกบัวซ้อน เป็นโจทก์ที่ 2 นางสุพร ไพจันทร์ เป็นโจทก์ที่ 3 นางสมจิตรบัวซ้อน เป็นโจทก์ที่ 4 นางสาวสมใจ บัวซ้อน เป็นโจทก์ที่ 5 และนายสมจร บัวซ้อน เป็นโจทก์ที่ 6
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทุกคนเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายประกอบหรือเต่ย บัวซ้อน หรือตีเต้ย หรือแซ่ห่วงซึ่งเป็นคนสัญชาติไทยและโจทก์ทุกคนเกิดในราชอาณาจักรไทย ดังนั้นโจทก์ทุกคนจึงเป็นคนสัญชาติไทย จำเลยที่ 1 ในฐานะนายอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2520 จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ทุกคนเป็นคนสัญชาติญวนเป็นคนญวนอพยพ ไม่ใช่คนไทย และขออนุมัติจากจำเลยที่ 2 ให้ถอนชื่อโจทก์ทุกคนออกจากทะเบียนบ้านของโจทก์ต่อมาวันที่ 26 เมษายน 2520 จำเลยที่ 2 เห็นด้วยกับจำเลยที่ 1 จึงอนุมัติให้ถอนชื่อโจทก์ทุกคนออกจากทะเบียนบ้านของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการโต้แย้งสิทธิในเรื่องสัญชาติของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าโจตทก์ทุกคนเป็นคนสัญชาติไทย
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์จะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายประกอบหรือเต่ย บัวซ้อน หรือไม่ ไม่รับรอง จำเลยทั้งสองได้ตรวจสอบหลักฐานแล้ว พบว่า นายประกอบหรือเต่ย บัวซ้อน มีบิดาชื่อนายไถ่ แซ่ห่วง สัญชาติ ฝรั่งเศส มารดาชื่อนางมีหรือตรัมแซ่ห่วง สัญชาติญวณ ซึ่งเป็นคนต่างด้าว และได้เข้ามาในประเทศไทยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ตั้งแต่ พ.ศ. 2465 ต่อมาจึงได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยโดยได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเมื่อ พ.ศ. 2480 นายประกอบหรือเต่ย บัวซ้อน บิดาโจทก์เกิดเมื่อ พ.ศ.2473 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่บิพามารดาของนายประกอบหรือเต่ยบัวซ้อน เป็นผู้ที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ดังนั้นนายประกอบหรือเต่ย บัวซ้อน จึงมิได้สัญชาติไทยเพราะกฎหมายให้ถอนสัญชาติไทยสำหรับผู้ที่เกิดในประเทศไทยแต่บิดามารดาเป็นคนต่างด้าวและเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย มารดาโจทก์ชื่อนางเตียด หรือเกียด แซ่มายคนสัญชาติญวน ซึ่งเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตามกฎหมายก็ให้ถอนสัญชาติไทยสำหรับผู้ที่มีมารดาเป็นคนต่างด้าวด้วย การที่จำเลยทั้งสองถอนชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนบ้านของโจทก์นั้นไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใด เพราะเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ภายในขอบเขตของหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่มท 0313/ว. 566 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2510 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า โจทก์ทั้งหกเป็นคนสัญชาติไทย
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งหกเป็นบุตรของนายประกอบหรือเต่ยหรือเต้ย บัวซ้อนหรือตีเต้ยหรือแซ่ห่วง อันเกิดจากนางเตียดหรือเกียด แซ่มายหรือหม้ายหรือบัวซ้อนนายประกอบบิดาโจทก์เกิดที่จังหวัดนครพนมเมื่อ พ.ศ. 2473 มีบัตรประจำตัวประชาชนออกให้ที่จังหวัดอุบลราชธานีตามเอกสารหมาย จ.2ส่วนมารดาโจทก์เป็นคนญวนอพยพและมีสัญชาติญวน บิดามารดาโจทก์จดทะเบียนสมรสกันที่อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานีโจทก์ทั้งหกเกิดในราชอาณาจักรไทย
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ทั้งหกไม่ใช่คนสัญชาติไทยเนื่องจากนายประกอบบิดาโจทก์ได้ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 นั้นประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 บัญญัติว่าข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายและในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น
(1) ผู้ทีได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย
(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ
(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
ทั้งนี้เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น
เห็นว่าประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้เป็นบทบัญญัติตัดสิทธิของบุคคล จะตีความโดยขยายความไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่มีบทบัญญัติให้ถอนสัญชาติไทยของบุคคลซึ่งเกิดในประเทศไทยแต่มีบิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว ศาลฎีกาจึงเห็นว่าการที่บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยจะถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้นั้น ในประการแรกจะต้องปรากฏว่าบุคคลนั้นมีบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ในกรณีของโจทก์นี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในขณะที่เกิด โจทก์เป็นบุตรของมารดาซึ่งเป็นคนต่างด้าว แต่โจทก์มีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นโจทก์จึงไม่อาจถูกถอนสัญชาติไทยด้วยกรณีที่มารดาของโจทก์เป็นคนต่างด้าวได้ ส่วนกรณีของบิดานั้นข้อเท็จจริงได้ความว่า นายประกอบหรือเต่ยหรือเต้ยบิดาของโจทก์เกิดเมื่อ พ.ศ. 2473 ที่จังหวัดนครพนมเป็นบุคคลสัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติสัญชาติที่ใช้อยู่ในขณะนั้น และโจทก์ทั้งหกก็เป็นบุคคลสัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน ได้ความจากทะเบียนบ้านญวนอพยพเอกสารหมาย จ.8 และทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ล.1 ว่าโจทก์ทุกคนเกิดก่อนวันที่ 13 ธันวาคม 2515 อันเป็นวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ใช้บังคับ ดังนั้นขณะที่โจทก์ทุกคนเกิด นายประกอบหรือเต่ยหรือเต้ยบิดาของโจทก์ยังมีสัญชาติไทยอยู่ แม้ต่อมานายประกอบหรือเต่ยหรือเต้ยบิดาของโจทก์จะได้ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ในวันที่ดังกล่าวก็ตาม ก็ไม่มีบทบัญญัติให้ถอนสัญชาติของโจทก์ด้วยแต่ประการใดถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นบุคคลต่างด้าวโจทก์เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้วสำหรับฎีกาของจำเลยข้ออื่นนั้นก็ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย..."
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.