โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงาน และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีการค้า (ภ.ค.80)เลขที่ 9071/4/100021 เลขที่ 9071/4/100022 เลขที่ 9071/4/100025 เลขที่ 9071/4/100027 เลขที่ 9071/4/10028 กับให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามหนังสือแจ้งภาษีการค้า (ภ.ค.80)เลขที่ 9071/4/100023 เลขที่ 9071/4/100024 เลขที่ 9071/4/100026 และเลขที่ 9071/4/100029 เฉพาะในส่วนที่ประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าจากรายรับค่าห้องพักโรงแรมสยามออคิดและโรงแรมสยามวิลล่า คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ประกอบกิจการโรงแรม มีสถานประกอบการ2 แห่ง คือโรงแรมสยามออคิดและโรงแรมสยามวิลล่า ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เมื่อเดือนมิถุนายน 2536 สรรพากรจังหวัดสงขลาได้ออกหมายเรียกตรวจสอบการเสียภาษีการค้าและภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2533 และปี 2534 ตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 188ต่อมา นายอรรถสิทธิ์ ปราณีจิตต์ กรรมการโจทก์ได้ไปพบและให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 179 ถึง 180 หลังจากนั้น เจ้าพนักงานของจำเลยได้มีหนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2533 และปี 2534 ตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 4 กับประเมินภาษีการค้าสำหรับเดือนมกราคม 2533 ถึงเดือนธันวาคม 2534 ตามหนังสือแจ้งภาษีการค้า(ภ.ค.80) เลขที่ 9071/4/100021 ถึง เลขที่ 9071/4/100029เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 45 ถึง 53 โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งเฉพาะการประเมินภาษีการค้าต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งประกอบด้วยจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์โดยเห็นว่าการประเมินภาษีการค้าของเจ้าพนักงานประเมินชอบแล้ว และไม่มีเหตุงดหรือลดเบี้ยปรับให้โจทก์ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ว่าการประเมินภาษีการค้าของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับรายรับจากกิจการอื่นของโจทก์เว้นแต่รายรับค่าโทรศัพท์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยมีร้อยตำรวจตรีหญิงทัศนีย์ ภู่ประเสริฐ เป็นพยานเบิกความว่าพยานเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบการเสียภาษีของโจทก์ เนื่องจากโจทก์แจ้งเลิกประกอบกิจการ นายอรรถสิทธิ์ปราณีจิตต์ กรรมการโจทก์ได้มาพบโดยนำบัญชีและเอกสารต่าง ๆของโจทก์มาส่งมอบให้และให้ถ้อยคำว่า โรงแรมสยามออคิดของโจทก์มีห้องพักปรับอากาศ 50 ห้อง มีผู้ใช้บริการเข้าพักคืนละประมาณ10 ห้อง ราคาห้องพักคืนละ 200 บาท ถึง 320 บาท โรงแรมแห่งนี้ยังมีรายได้จากภัตตาคารวันละ 1,000 บาท ถึง 2,000 บาทและรายได้จากไนต์คลับสัปดาห์ละ 1 วัน คือ วันจันทร์ซึ่งมีรายรับ 5,000 บาท ถึง 6,000 บาท และโรงแรมสยามวิลล่าของโจทก์มีห้องพัก 33 ห้อง เป็นห้องที่ใช้พัดลม 25 ห้อง ห้องปรับอากาศ8 ห้อง มีผู้ใช้บริการเข้าพักห้องที่ใช้พัดลมคืนละ 12 ห้อง ราคาคืนละ 120 บาท ถึง 150 บาท เข้าพักห้องปรับอากาศคืนละ 1 ห้องถึง 2 ห้อง ราคาคืนละ 280 บาท ถึง 320 บาท และยังมีรายได้จากห้องอาหารที่โรงแรมแห่งนี้ซึ่งเป็นภัตตาคารประเภทมีนักร้องคืนละ 2,000 บาท ถึง 3,000 บาท ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมายล.2 แผ่นที่ 179 ถึง 180 พยานจึงนำข้อมูลตามคำให้การของนายอรรถสิทธิ์มาประเมินรายรับของโจทก์โดยใช้วิธีเฉลี่ยตามรายได้ขั้นต่ำและขั้นสูงที่นายอรรถสิทธิ์ให้ถ้อยคำไว้กล่าวคือรายได้ค่าห้องพักของโรงแรมสยามออคิด พยานถือว่าโจทก์บริการห้องพักได้ราคาห้องละ 260 บาท มีผู้เข้าพักคืนละ10 ห้อง โจทก์จึงมีรายได้ค่าห้องพักคืนละ 2,600 บาทแล้วคำนวณต่อไปว่าในหนึ่งปี ซึ่งมี 365 วัน โจทก์จะมีรายได้ค่าห้องพัก 949,000 บาท ส่วนรายรับจากกิจการภัตตาคารของโรงแรมแห่งนี้ พยานคำนวณว่าโจทก์มีรายรับถัวเฉลี่ยวันละ1,500 บาท หรือปีละ 547,500 บาท และมีรายรับจากกิจการไนต์คลับสัปดาห์ละ 5,500 บาท หรือปีละ 286,000 บาทกรณีโรงแรมสยามวิลล่าพยานถือว่าในแต่ละวันโจทก์มีรายรับค่าห้องพักประเภทห้องพัดลม 12 ห้อง ราคา ห้องละ 135 บาทห้องปรับอากาศ 2 ห้อง ราคาห้องละ 300 บาท รวมเป็นค่าห้องพักเฉลี่ยคืนละ 2,220 บาท หรือปีละ 910,300 บาท และมีรายได้จากห้องอาหารประเภทมีดนตรีของโรงแรมแห่งนี้สัปดาห์ละ 5,500 บาทหรือปีละ 286,000 บาท ปรากฏตามรายละเอียดการตรวจสอบเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 77 ถึง 90 เห็นว่าเมื่อผู้ประกอบการค้ายื่นแบบแสดงรายการค้าไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดทำให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียคลาดเคลื่อนไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 87(2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจกำหนดรายรับโดยพิจารณาถึงฐานะความเป็นอยู่หรือพฤติการณ์ของผู้ประกอบการค้าหรือสถิติของผู้ประกอบการค้าเองหรือของผู้ประกอบการค้าอื่นที่กระทำกิจการทำนองเดียวกัน หรือพิจารณาจากหลักเกณฑ์อย่างอื่นอันอาจแสดงรายรับได้โดยสมควร ตามมาตรา 87 ทวิ(7) แห่งประมวลรัษฎากร การที่นายอรรถสิทธิ์ ปราณีจิตต์ กรรมการผู้จัดการของโจทก์ได้ให้ถ้อยคำถึงรายได้ของโจทก์ต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในชั้นตรวจสอบไต่สวน จึงเป็นยอดเงินที่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ให้ปากคำแสดงออกมาเองย่อมผูกพันโจทก์ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินนำยอดเงินดังกล่าวมาเฉลี่ยเพื่อกำหนดรายรับแต่ละเดือนเช่นนี้ย่อมเป็นอำนาจที่เจ้าพนักงานประเมินกระทำได้ แม้จะได้ความตามที่โจทก์อ้างว่าในการกำหนดรายรับของโจทก์นั้น หากเดือนใดโจทก์แสดงรายได้ต่ำกว่ารายรับที่เจ้าพนักงานประเมินคำนวณเฉลี่ยเจ้าพนักงานประเมินจะทำการประเมินรายรับของโจทก์ในเดือนนั้นให้สูงขึ้น แต่หากเดือนใดโจทก์แสดงรายรับเพื่อเสียภาษีการค้าสูงกว่ารายรับที่เจ้าพนักงานประเมินคำนวณได้ก็จะถือว่าโจทก์แสดงรายรับถูกต้อง การประเมินดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นการกำหนดรายรับขั้นต่ำและทำให้โจทก์มีรายรับสูงกว่าอัตราเฉลี่ยด้วยนั้นเห็นว่า ผู้ประกอบการค้ามีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการค้าและชำระภาษีการค้าเป็นรายเดือนภาษี เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกำหนดรายรับเฉลี่ยของโจทก์ดังที่ได้วินิจฉัยแล้ว หากเดือนภาษีใดโจทก์แสดงรายรับต่ำกว่ารายรับเฉลี่ยดังกล่าวเจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าเพิ่มเติมในเดือนนั้น ๆ ได้ หาเป็นการทำให้มีรายรับสูงกว่าอัตราเฉลี่ยตามข้ออ้างของโจทก์ และวิธีการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามจำนวนรายรับดังกล่าวก็มิใช่มีลักษณะเป็นการกำหนดรายรับขั้นต่ำของโจทก์ดังที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยเพราะที่มาของหลักเกณฑ์ต่างกัน เนื่องจากรายรับของโจทก์ได้อาศัยจากข้อมูลที่กรรมการโจทก์ให้ถ้อยคำไว้ในชั้นตรวจสอบและข้อเท็จจริงที่โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีการค้าไว้เองเป็นแนวทาง ไม่ได้อาศัยเกิดจากการควบคุมตรวจสอบและจดรายรับประจำวันไว้แต่อย่างใด ข้อที่โจทก์อ้างว่าบริษัทโจทก์มีรายรับต่ำเพราะขณะนั้นโจทก์ทำการปรับปรุงห้องพักโรงแรมสยามวิลล่าจากห้องพัดลมเป็นห้องปรับอากาศ และโรงแรมสยามออคิดผู้มาพักส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ โจทก์คิดค่าห้องเพียงคืนละ 200บาท นั้น เห็นว่า โจทก์มีนายปรีชา กรอบเพ็ชร มาเบิกความว่าเป็นผู้รับจ้างทำการปรับปรุงห้องพัก แต่โจทก์ก็ไม่สามารถแสดงหลักฐานการจ้างหรือการจ่ายเงินค่าจ้างในการปรับปรุงดังกล่าวส่วนโรงแรมสยามออคิดโจทก์ไม่นำสืบให้เห็นว่าในแต่ละเดือนมีข้าราชการมาพักจำนวนเท่าใดและที่โจทก์อ้างว่าเกิดเหตุการณ์เกี่ยวกับโรคเอดส์ เพลิงไหม้สถานเริงรมย์ในตำบลปาดังเบซาร์และมีเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นในประเทศไทย ทำให้นักท่องเที่ยวกลัวไม่มาพักและเที่ยวสถานเริงรมย์ โจทก์จึงมีรายได้น้อยลงนั้นเมื่อพิจารณาจากตารางสรุปค่าห้องพักโรงแรมสยามออคิดและโรงแรมสยามวิลล่า ในปี 2533 และปี 2534 ตามเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 1, 3, 8 และ 12 แล้ว ปรากฏว่า โจทก์มีรายรับในช่วงดังกล่าวสม่ำเสมอใกล้เคียงกันกับขณะก่อนและหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนั้นเหตุการณ์ดังกล่าวจึงหามีผลกระทบต่อธุรกิจของโจทก์มากนัก ข้ออ้างของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังได้ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต่อไปที่ต้องวินิจฉัยคือ ตามบันทึกคำให้การ เอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 180 รายรับจากภัตตาคารโรงแรมสยามออคิดและจากภัตตาคารโรงแรมสยามวิลล่าเป็นรายรับรวมของภัตตาคารดังกล่าวหรือไม่ โจทก์นำสืบว่า ภัตตาคารแต่ละโรงแรมในช่วงกลางวันไม่มีดนตรี รายรับในช่วงดังกล่าวโจทก์นำมาเสียภาษีในประเภทการค้า 7(ง) ส่วนในช่วงกลางคืนมีดนตรีโจทก์นำรายรับมาเสียภาษีการค้าในประเภทการค้า 7(ก) คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างนำสืบว่าแต่ละโรงแรมมีภัตตาคารเพียงแห่งเดียว และเมื่อพิจารณาบันทึกคำให้การของนายอรรถสิทธิ์ ปราณีจิตต์ตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 180 แล้ว เห็นได้ว่านายอรรถสิทธิ์มิได้ให้การแยกประเภทรายรับจากภัตตาคารว่าเป็นรายรับในช่วงไม่มีดนตรีเท่าใดและเป็นรายรับในช่วงมีดนตรีเท่าใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามบันทึกคำให้การดังกล่าวนายอรรถสิทธิ์ให้ถ้อยคำเกี่ยวกับรายรับของภัตตาคารว่าเป็นรายรับรวมจากภัตตาคารเพียงแห่งเดียวในแต่ละโรงแรม ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานประเมินประเมินรายรับเพิ่มเติมสำหรับภัตตาคารของโรงแรมสยามออคิดในประเภทการค้า 7(ง) และประเมินรายรับเพิ่มเติมสำหรับภัตตาคารของโรงแรมสยามวิลล่าในประเภทการค้า 7(ก) จึงไม่ถูกต้องอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ ตามหนังสือแจ้งภาษีการค้าเลขที่ 9071/4/100021 กับให้ยกฟ้องโจทก์ ตามหนังสือแจ้งภาษีการค้า เลขที่ 9071/4/100023 เลขที่ 9071/4/100024เลขที่ 9071/4/100026 และเลขที่ 9071/4/100029 เฉพาะในส่วนรายรับค่าห้องพักโรงแรมสยามออคิดและโรงแรมสยามวิลล่านอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง