โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 358, 362, 365
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางละเอียด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นค่าต้นแสมที่จำเลยทั้งสองตัดฟัน ค่าขาดรายได้จากการจับปูเป็นเวลา 10 ปี ค่ากล้าแสมที่จะปลูกใหม่และค่าจ้างคนงานในการปลูก รวมเป็นเงิน 960,000 บาท แก่โจทก์ร่วม พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเงินเสร็จ
จำเลยทั้งสองไม่ให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 365 (2) ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานบุกรุกโดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 4 เดือน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาทรัพย์ 66,000 บาท แก่โจทก์ร่วม
โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ประกอบมาตรา 83 ให้ปรับจำเลยทั้งสองคนละ 6,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับคนละ 4,000 บาท เมื่อรวมกับโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นจำคุกคนละ 4 เดือน และปรับคนละ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี ให้จำเลยทั้งสองไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 6 เดือน ในระหว่างที่รอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุก ให้คืนค่าขึ้นศาลทั้งในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ (ที่ถูก นอกจากนี้) ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 784 ตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ของโจทก์ร่วมโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควร แล้วร่วมกันตัดต้นแสมในที่ดินดังกล่าวได้รับความเสียหาย สำหรับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ จำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาโจทก์ร่วมข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 784 ตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นที่ดินของนางละเอียด ผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควรแล้วร่วมกันตัดต้นแสม 1,200 ต้น ของผู้เสียหาย อันเป็นการทำให้เสียหาย ทำให้เสื่อมค่าและทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหาย ค่าเสียหายคิดเป็นเงิน 960,000 บาท และมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 358, 362, 365 เห็นได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์อันเป็นการกระทำในคราวเดียวกันต่อเนื่องรวมกันมาเป็นกรรมเดียวกัน แม้ในคำฟ้องจะไม่ได้บรรยายมาด้วยว่าเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุขก็ตาม แต่ในคำฟ้องก็ได้บรรยายมาด้วยแล้วว่า นอกจากจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ร่วมโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควรแล้ว ในขณะเดียวกันนั้นจำเลยทั้งสองยังได้ตัดต้นแสมในที่ดินดังกล่าวทำให้เสื่อมค่าและไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ดังกล่าวอีกด้วย การที่ในคำฟ้องระบุว่ามีการเข้าไปตัดฟันต้นแสมในที่ดินของโจทก์ร่วมโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควรย่อมมีความหมายบ่งชี้ชัดอยู่ในตัวแล้วว่าเป็นการเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุขอยู่แล้ว ซึ่งจำเลยทั้งสองก็เข้าใจข้อหาได้ดีไม่มีข้อโต้แย้งแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่ครบองค์ประกอบความผิดและพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานบุกรุกมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังขึ้น
อนึ่ง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยกเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานบุกรุกโดยยังมิได้วินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานบุกรุกหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวนี้ไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225 ในปัญหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานบุกรุกหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปตัดฟันต้นไม้ในที่ดินของโจทก์ร่วมโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควรถือได้ว่าเป็นการเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุขและทำให้เสียทรัพย์ด้วย ที่จำเลยทั้งสองนำสืบอ้างทำนองว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณะไม่มีเจตนากระทำผิดนั้น ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานโจทก์และโจทก์ร่วมข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์จริง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันบุกรุกโดยปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) เท่านั้น มิได้ปรับบทตามมาตรา 362 มาด้วยนั้นไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมข้อต่อไปว่า โจทก์ร่วมขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในสถานหนักนั้น เห็นว่า เมื่อตามฟ้องของโจทก์บรรยายถึงการกระทำผิดของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์รวมกันมาเป็นกรรมเดียวกัน และคำขอท้ายฟ้องก็มิได้ขอให้ลงโทษในความผิดดังกล่าวทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 83 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดจำคุกคนละ 4 เดือน ส่วนศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 4 เดือน และปรับคนละ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษคนละ 2 ปี ส่วนความผิดฐานบุกรุกให้ยกฟ้องนั้น จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นลงโทษในฐานความผิดตามฟ้องจำคุกจำเลยทั้งสองคนละไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังคงลงโทษจำเลยทั้งสองไม่เกินกำหนดดังกล่าว ทั้งมิใช่กรณีที่เป็นการแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสอง จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 แม้โจทก์ร่วมจะยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 5 มีนาคม 2556 ก็ตาม แต่ตามคำร้องดังกล่าวระบุมาสรุปได้ความเพียงว่าโจทก์ร่วมเห็นว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมมานั้นยังน้อยเกินไป ไม่เหมาะสมกับความเสียหายที่โจทก์ร่วมได้รับจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง จึงขอให้รับรองให้โจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย เมื่อพิจารณาตามคำร้องของโจทก์ร่วมแล้วเห็นได้ว่าโจทก์ร่วมขอให้รับรองให้ฎีกาเฉพาะปัญหาตามคำขอในส่วนแพ่ง และผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ควรสู่ศาลฎีกาจึงอนุญาตให้ฎีกา ดังนี้ จึงเป็นการที่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเฉพาะตามคำร้องของโจทก์ร่วมที่ขออนุญาตฎีกาเฉพาะคดีในส่วนแพ่งเท่านั้น ที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในสถานหนัก เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 7 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญา จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ร่วมข้อนี้มา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 365 (2) ประกอบมาตรา 362, 83 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานบุกรุกโดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปอันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 6,000 บาท ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 4 เดือน และปรับคนละ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยทั้งสองฟัง ให้จำเลยทั้งสองไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 6 เดือน ในระหว่างที่รอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ