โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.2547 มาตรา 4, 15, 59 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำเลยชำระค่าปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงภาค 9 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมาย รับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.2547 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 59 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ลงโทษปรับ 6,666.66 บาท และปรับอีกวันละ 1,333.33 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 จำเลยถูกจับกุมดำเนินคดีในความผิดฐานประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธ วันที่ 21 กันยายน 2561 โจทก์ยื่นฟ้องนายมานิตย์ และจำเลยเป็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2418/2561 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเสียก่อนว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปแล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 โดยวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังว่าจำเลยร่วมประกอบธุรกิจโรงแรมกับนายมานิตย์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้สนับสนุน พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 แต่ปรากฏตามสำนวนว่า เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562 ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 6/2562 เรื่อง มาตรการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการประกอบธุรกิจโรงแรมบางประเภทคำสั่งนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไป มีใจความสรุปว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการประกอบอาชีพสุจริตของชุมชนเพื่อให้เศรษฐกิจมีความคล่องตัว เกิดการกระจายรายได้ เกิดการสร้างงาน ขณะเดียวกันก็ลดความขัดแย้งในชุมชนและจัดให้กิจการที่อยู่นอกระบบ เข้ามาอยู่ในระบบให้ถูกต้องตามกฎหมาย มีการบริหารจัดการที่ดีและมีการตรวจสอบควบคุมโดยรัฐ ตามหลักการดังกล่าวนี้ปรากฏว่ามีผู้นำอาคารมาให้บริการเป็นที่พักแก่ประชาชนตลอดจนใช้บ้านเรือนที่อยู่อาศัยมาให้บริการในรูปแบบของโรงแรมตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เพื่อหารายได้ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากโดยยังไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการได้โดยถูกต้องตามกฎหมายซึ่งควรให้โอกาสดำเนินการให้ถูกต้องภายในระยะเวลาและตามเงื่อนไขที่กำหนดเช่นเดียวกับที่เคยมีกฎหมายผ่อนผันในเรื่องอื่นไว้ทำนองเดียวกันแล้ว อันจะทำให้กิจการเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบ จึงได้กำหนดไว้ในข้อ 2 (1) ของคำสั่งดังกล่าวให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมซึ่งใช้อาคารในการประกอบธุรกิจโรงแรมอยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และอาคารนั้นมีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนการประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.2547 ไปแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบถึงการฝ่าฝืนและดำเนินการปรับปรุงระบบความปลอดภัยด้านอัคคีภัย ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 47 (พ.ศ.2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แล้วติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือ 1 เครื่อง ต่อพื้นที่อาคารไม่เกิน 200 ตารางเมตร ทุกระยะไม่เกิน 30 เมตร แต่ไม่น้อยกว่าชั้นละ 2 เครื่อง ภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่คำสั่งมีผลใช้บังคับ พร้อมทั้งยื่นเอกสารหรือหลักฐานเพื่อประกอบการตรวจสอบ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนด ซึ่งต่อมาได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การยื่นเอกสารหรือหลักฐานของผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมซึ่งมีอาคารที่มีลักษณะตามข้อ 2 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าวแล้ว ประกอบกับตามเอกสารท้ายฎีกาของจำเลย เป็นหนังสือขององค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่ายที่มีไปถึงนายมานิตย์ ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่เกิดเหตุ ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 เรื่อง การแก้ไขอาคารตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 6/2562 หนังสือดังกล่าวเป็นเอกสารของทางราชการ โจทก์ได้รับสำเนาฎีกาพร้อมเอกสารดังกล่าวของจำเลยไว้แล้ว มิได้โต้แย้งความถูกต้อง จึงรับฟังเอกสารนั้นเป็นหลักฐานได้ว่า นายมานิตย์ได้แจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบถึงการปรับปรุงอาคารที่มีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนตามประกาศกระทรวงมหาดไทยแล้ว และต่อมานายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่ายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีหนังสือแจ้งต่อนายมานิตย์ว่า ตามที่องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่ายได้ดำเนินการตรวจสอบอาคารซึ่งเป็นอาคารที่ใช้ประกอบกิจการโรงแรมตามประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยสถานที่ประกอบกิจการโรงแรมของนายมานิตย์ องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่ายตรวจสอบแล้วผลปรากฏว่า สถานที่ประกอบกิจการของนายมานิตย์ได้ดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จเรียบร้อย ตามอาคารที่มีลักษณะตามข้อ 2 วรรคหนึ่ง ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 6/2562 เรื่อง มาตรการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการประกอบธุรกิจโรงแรมบางประเภท ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2562 ซึ่งการแก้ไขอาคารแล้วเสร็จเรียบร้อยตามคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว ข้อ 4 กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่ผ่านการตรวจสอบจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้วได้รับยกเว้นโทษทางอาญา สำหรับความผิดตามข้อ 2 ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ต้องถือว่าเป็นกรณีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังยกเว้นโทษให้ผู้กระทำความผิด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (7) จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า จำเลยมีความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 หรือไม่ รวมทั้งไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นตามฎีกาของจำเลยอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง