โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันจ่ายค่าล่วงเวลา 637,378.56 บาท และค่าชดเชย 157,320 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว กับจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานภาค 9 โจทก์ขอสละประเด็นเรื่องค่าล่วงเวลา และขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลแรงงานภาค 9 อนุญาต
ศาลแรงงานภาค 9 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ 205,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้นจำนวนดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 12 มกราคม 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงาน พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 9 ในส่วนการกำหนดค่าชดเชย โดยให้ศาลแรงงานภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในส่วนการทำงานบนแท่นขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่งของโจทก์ย้อนหลังไปหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับจากวันที่ถูกเลิกจ้างดังกล่าว แล้วให้พิจารณาพิพากษาในส่วนค่าชดเชยใหม่ ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 9
ศาลแรงงานภาค 9 พิจารณาฟังข้อเท็จจริงใหม่แล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าชดเชยแก่โจทก์เป็นเงิน 83,220 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากยอดเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 12 มกราคม 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงและข้อเท็จจริงยุติโดยไม่มีคู่ความโต้แย้งกันได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยเป็นสาขาหนึ่งของจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการเกี่ยวกับการขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ จำเลยที่ 1 มีคู่มือพนักงานโจทก์เคยเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานตามตำแหน่งและลักษณะงานที่ได้รับมอบหมายตามตารางที่กำหนด โดยทำงานบนแท่นขุดเจาะ 23 วัน กลับขึ้นพักบนฝั่ง 14 วัน และทำงานที่สำนักงานบนฝั่ง 5 วัน ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนพื้นฐานเดือนละ 14,637 บาท และเงินเพิ่มพิเศษเมื่อทำงานบนแท่นขุดเจาะ (Offshore Bonus หรือ Field Bonus) เป็นรายวัน วันละ 1,140 บาท โดยจำเลยที่ 1 จะจ่ายเงินส่วนนี้ให้แก่ลูกจ้างที่ไปทำงานบนแทนขุดเจาะเท่านั้น ซึ่งโจทก์จะได้รับเงินส่วนนี้ไม่เท่ากันทุกเดือน กำหนดจ่ายเงินทั้งสองประเภทเข้าบัญชีธนาคารของโจทก์พร้อมกันในทุกวันที่ 25 ของเดือน จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุว่า "มีความจำเป็นต้องลดจำนวนบุคลากร" แล้วศาลแรงงานภาค 9 วินิจฉัยว่า ปี 2557 เกิดวิกฤตราคาน้ำมันทั่วโลกลดลงเป็นผลทำให้ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั่วโลกรวมทั้งในอ่าวไทยต้องชะลอหรือหยุดการผลิตขุดเจาะซึ่งรวมถึงลูกค้าของจำเลยที่ 1 ส่งผลกระทบทำให้จำเลยที่ 1 มีปริมาณงานลดน้อยลงและมีจำนวนพนักงานมากเกินกว่าความต้องการของงาน ผลประกอบการทั่วโลกของจำเลยที่ 1 ประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก จำเลยที่ 1 ไม่ได้กลั่นแกล้งหรือเลือกปฏิบัติในการเลิกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การทำงานบนแท่นขุดเจาะของโจทก์เป็นการทำงานตามปกติทั่วไป การที่จำเลยที่ 1 จ่ายเงินเพิ่มพิเศษแก่โจทก์เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานปกติของวันทำงาน จึงเป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ที่ต้องนำมารวมคำนวณค่าชดเชยเพิ่มให้แก่โจทก์ โดยนำเงินเพิ่มพิเศษที่โจทก์ได้รับเป็นรายวันมาคิดค่าเฉลี่ยเป็นรายเดือน โดยศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า เงินเพิ่มพิเศษเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้แก่โจทก์เมื่อโจทก์ต้องออกไปทำงานบนแท่นขุดเจาะน้ำมันนอกจากชายฝั่ง อันมีลักษณะเป็นการจ่ายตามผลงานที่ทำในหน้าที่ เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติจึงเป็นค่าจ้างที่จ่ายให้โดยคำนวณตามผลงาน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ที่ต้องนำมาเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยด้วย แต่ศาลแรงงานภาค 9 ยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้รับเงินเพิ่มพิเศษของการทำงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายเท่าใด จึงต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ต่อมาศาลแรงงานภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่า โจทก์ได้รับเงินเพิ่มพิเศษของการทำงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายรวมเป็นเงิน 83,220 บาท
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า เงินเพิ่มพิเศษ (Offshore Bonus) เป็นค่าจ้างหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 นิยามคำว่า "ค่าจ้าง" หมายความว่า "เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้" ค่าจ้างจึงต้องเป็นค่าตอบแทนในการทำงานสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ เมื่อจากคู่มือพนักงาน บทที่ 2 ข้อกำหนดและเงื่อนไขทั่วไปเกี่ยวกับการว่าจ้าง จำเลยที่ 1 จัดหมวดหมู่ของลูกจ้างให้สอดคล้องกับลักษณะของงานและสถานที่ทำงานโดยแบ่งเป็น พนักงานประจำสำนักงาน ได้แก่ พนักงานซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานเป็นการประจำ และพนักงานด้านการปฏิบัติการ ได้แก่ พนักงานซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ปฏิบัติการ งานปิโตรเลียมและก๊าซ ในโรงซ่อมบำรุงและในห้องทดลอง และบทที่ 3 วันทำงานปกติและเวลาทำงานปกติ จำเลยที่ 1 กำหนดวันทำงานและเวลาทำงานของพนักงานด้านปฏิบัติการในการทำงานในพื้นที่ภาคสนาม โดยต้องทำงานตามตารางการทำงานปกติ อันประกอบด้วยวันที่ทำงานภาคสนามติดต่อกันไม่เกินรอบละ 28 วัน ตามด้วยวันหยุดประจำช่วง ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะการทำงานของโจทก์ที่ต้องทำงานปกติตามตารางที่กำหนด แบ่งเป็นทำงานบนแท่นขุดเจาะ 23 วัน กลับขึ้นมาพักบนฝั่ง 14 วัน และทำงานที่สำนักงานบนฝั่ง 5 วัน แสดงให้เห็นว่า การทำงานบนแท่นขุดเจาะเป็นการทำงานตามปกติตามตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จ่ายเงินเพิ่มพิเศษเมื่อทำงานบนแท่นขุดเจาะ (Offshore Bonus) เพิ่มขึ้นจากเงินเดือนให้แก่โจทก์ โดยคิดจากการที่โจทก์ไปทำงานบนแท่นขุดเจาะในวันทำงาน จึงเป็นการจ่ายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบแทนการทำงานของโจทก์สำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ โดยคำนวณตามผลงานจากจำนวนวันที่โจทก์ทำงานอยู่บนแท่นขุดเจาะในแต่ละรอบตามตารางที่กำหนด ทั้งการที่จำเลยที่ 1 จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ในกรณีโจทก์เจ็บป่วยมิได้ทำงานและยังไม่ได้ถูกส่งตัวกลับขึ้นฝั่ง ก็สอดคล้องกับความหมายของคำว่าค่าจ้าง ที่ให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงานแต่มีสิทธิได้รับตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งการเจ็บป่วยนี้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยและได้รับค่าจ้างตามสิทธิที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 32 และมาตรา 57 วรรคหนึ่ง จึงเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลยที่ 1 ที่ต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้แม้โจทก์จะเจ็บป่วยมิได้ทำงานและยังไม่ได้ถูกส่งตัวกลับขึ้นฝั่งก็ตาม เงินเพิ่มพิเศษเมื่อทำงานบนแท่นขุดเจาะ (Offshore Bonus) จึงเป็นค่าจ้างตามผลงาน การที่คู่มือพนักงาน ข้อ 5.1 ค) กำหนดให้เงินเพิ่มพิเศษอื่น ๆ ที่มิใช้เงินเดือน ตามข้อ 5.1 ก) และเงินโบนัสเดือนที่ 13 ตามข้อ 5.1 ข) ถือเป็นสิทธิประโยชน์อื่น ๆ และไม่ถือเป็นค่าจ้างนั้น ไม่อาจกระทำได้เพราะเป็นการขัดต่อบทบัญญัตินิยามความหมายของคำว่า "ค่าจ้าง" ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่าเงินเพิ่มพิเศษเมื่อทำงานบนแท่นขุดเจาะเป็นค่าจ้างที่จ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ต้องนำมาคำนวณเป็นค่าชดเชยแล้วย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า โจทก์ได้รับเงินเพิ่มพิเศษ (Offshore Bonus) ในระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายก่อนถูกเลิกจ้างเป็นเงินจำนวนเท่าใด แล้วให้ศาลแรงงานภาค 9 พิพากษาคดีในส่วนจำนวนเงินดังกล่าวใหม่นั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน