โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับ 1,000,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังจำเลยเป็นระยะเวลา 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามทางนำสืบของคู่ความ คำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1950/2548 ของศาลชั้นต้นซึ่งถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 และคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 102/2548 ของศาลจังหวัดกำแพงเพชร แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวที่ไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาว่า เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยขอยืมรถจักรยานยนต์จากนางสาวละมัยไปให้นายเจตนาดีใช้ ต่อมาตามวันเวลาเกิดเหตุนายเจตนาดีขับรถจักรยานยนต์ดังกล่าวมีนายไกรสรนั่งซ้อนท้ายไปซื้อเมทแอมเฟตามีนจากชาวเขาเผ่าม้งจำนวน 1,000 เม็ด น้ำหนัก 89.14 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 35.963 กรัม ในราคา 40,000 บาท แต่ระหว่างทางที่นายเจตนาดีและนายไกรสรเดินทางกลับถูกสิบตำรวจเอกวิชาญกับพวกเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอโกสัมพีนครจับกุมตัวพร้อมยึดได้เมทแอมเฟตามีนจำนวน 1,000 เม็ด ดังกล่าวที่นายเจตนาดีและนายไกรสรมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นของกลาง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยร่วมกระทำความผิดกับนายเจตนาดีและนายไกรสรตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คำเบิกความในชั้นพิจารณาและคำให้การในชั้นสอบสวนของนายเจตนาดีและนายไกรสรแม้เป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันแต่นายเจตนาดีและนายไกรสรต่างรู้จักจำเลยมาก่อนไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกัน ซึ่งนายเจตนาดีและนายไกรสรเบิกความยืนยันการกระทำของจำเลยเช่นเดียวกับที่เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวน โดยนายเจตนาดีเบิกความถึงคำให้การในชั้นสอบสวนของตนว่า ให้การโดยไม่ได้บังคับขู่เข็ญ ส่วนนายไกรสรซึ่งมีอายุไม่เกิน 18 ปี ได้ให้การต่อหน้าพนักงานอัยการ นักจิตวิทยาและทนายความเช่นนี้ ฟังได้ว่า นายเจตนาดีและนายไกรสรให้การในชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจ สำหรับคำเบิกความของนายเจตนาดีและนายไกรสรที่ว่านายเจตนาดีให้การว่า จำเลยให้เงินแก่นายเจตนาดีไปซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลาง เนื่องด้วยคิดว่าจำเลยเป็นสายลับแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจมาดักจับตนนั้น นายเจตนาดีก็ไม่ได้เบิกความว่า เมื่อตนเข้าใจเช่นนั้นจึงให้การด้วยข้อความอันเป็นเท็จเพื่อให้จำเลยได้รับโทษ เมื่อคำเบิกความและคำให้การของนายเจตนาดีมิได้เป็นการปัดความรับผิดของตนผู้ซัดทอดให้เป็นความผิดของจำเลยเพียงผู้เดียวทั้งศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษนายเจตนาดีและนายไกรสรแล้ว คำซัดทอดของพยานโจทก์จึงเป็นการแจ้งเรื่องราวที่ตนได้ประสบมาจากการกระทำของตนยิ่งกว่าเป็นการปรักปรำจำเลย ทำให้เชื่อว่า นายเจตนาดีและนายไกรสรเบิกความและให้การในชั้นสอบสวนตามความสัตย์จริง ฉะนั้น คำซัดทอดของนายเจตนาดีและนายไกรสรจึงเป็นพยานที่น่าเชื่อถือในการพิสูจน์ความจริง ยิ่งไปกว่านั้นการที่จำเลยไปยืมรถจักรยานยนต์จากนางสาวละมัยมาให้นายเจตนาดีขับ จากนั้นนายเจตนาดีขับรถจักรยานยนต์ดังกล่าวไปซื้อเมทแอมเฟตามีนแทนที่จำเลยจะให้นายเจตนาดียืมรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับในวันเกิดเหตุ ทั้งที่ในวันนั้นจำเลยเบิกความว่า จำเลยและเพื่อนขับรถจักรยานยนต์ไปหานายเจตนาดีและนายไกรสรจึงเป็นพิรุธส่อแสดงว่าจำเลยยืมรถจักรยานยนต์จากนางสาวละมัยมาให้นายเจตนาดีเพื่อไปกระทำการที่ผิดกฎหมาย เมื่อนำการกระทำของจำเลยที่ยืมรถจักรยานยนต์ดังกล่าวมารับฟังประกอบคำซัดทอดของนายเจตนาดีและนายไกรสรแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเป็นผู้ใช้ให้นายเจตนาดีไปซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 1,000 เม็ด ในราคา 40,000 บาท อย่างไรก็ตามการที่จำเลยมอบเงินจำนวน 40,000 บาท ให้นายเจตนาดีไปซื้อเมทแอมเฟตามีน จำเลยจึงเป็นผู้ก่อให้นายเจตนาดีและนายไกรสรครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้เพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 แต่ในระหว่างทางที่จะนำเมทแอมเฟตามีนมาให้จำเลย นายเจตนาดีและนายไกรสรได้ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเสียก่อนยังไม่ทันได้มอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้จำเลย เช่นนี้จำเลยยังมิได้ร่วมกับนายเจตนาดีและนายไกรสรครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลาง จึงมิใช่เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดด้วยกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ดังที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งเป็นการแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ให้นายเจตนาดีและนายไกรสรกระทำความผิดไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง แต่การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 53 จำคุก 33 ปี 4 เดือน และปรับ 666,666.66 บาท ในกรณีไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 3 ปี