ได้ความว่าโจทก์มีความผูกพันที่จะต้องเสียภาษีเงินได้ประจำปี พ.ศ.๒๔๗๗ ตามพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ ม.๑๓ โดยต้องยื่นรายการแสดงจำนวนเงินได้ทั้งหมดก่อนหรือภายในวันที่ ๑๕ พฤศภาคม พ.ศ.๒๔๗๘ แต่โจทก์ไม่ได้ยื่น วันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๘ โจทก์ได้รับคำเตือนจากจำเลยที่ ๓ ให้ยื่นรายการบัญชีเงินได้ ในวันที่๒๘ เดือนนั้นโจทก์ได้ไปขอรับแบบแสดงรายการจากอำเภอ วันที่ ๑ พฤศจิกายน โจทก์ได้รับหมายเรียกจากนายตรวจภาษีเงินได้ให้ไปพบในวันที่ ๗ เดือนนั้น โจทก์ได้กรอกข้อความตามแบบพิมพ์แล้วนำไปยื่นต่อนายตรวจภาษีเงินได้ในวันที่ ๔ ในวันที่ ๘ เดือนนั้นจำเลยที่ ๓ ได้ประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์ ๓๐๓๒ บาท ๗๗ สตางค์ และเงินเพิ่มภาษีตาม ม.๑๖ อีก ๖๐๖๕ บาท ๕๔ สตางค์ เมื่อโจทก์ได้ชำระเงินทั้งหมด ๙๐๙๘ บาท ๓๑ สตางค์ แล้วได้อุทธรณ์คำสั่งเจ้าหน้าที่ แต่จำเลยที่ ๒ สั่งยกโจทก์จึงฟ้องคดีต่อศาลว่าจำเลยไม่มีสิทธิเรียกภาษีเพิ่ม
ศาลฎีกาตัดสินยืนตามศาลอุทธรณ์ว่าการเรียกเงินภาษีเพิ่มตาม ม.๑๖ นั้นเป็นเรื่องอยู่ในดุลยพินิจของเจ้าพนักงาน ก็เมื่อปรากฎว่าโจทก์มิได้ยื่นรายการเงินได้สำหรับปีก่อนภายในหรือก่อนวันที่ ๑๕ พฤษภาคม แล้ว นายตรวจภาษีก็ชอบที่จะปฏิบัติตาม ม.๑๖ เพื่อกำหนดประเมินจำนวนภาษี เมื่อได้ใช้มาตรา ๑๖ บังคับคดีแล้วเจ้าพนักงานจะดำเนินวิธีการตามอนุมาตรา ๑ และ ๒ หรืออนุมาตรา ๑ และ ๓ ประการใดก็แล้วแต่วิธีการ ส่วนการเงินเพิ่มค่าภาษ๊ตามอนุมาตรา ๔ นั้นเป็นผลต่อมาเนื่องจากเหตุการณ์ในอนุมาตรา ๑ เงินเพิ่มภาษีซึ่งได้กำหนดไว้ในอนุมาตรา ๔ นี้เป็นการตายตัวจะต่อรองกันไม่ได้ ที่+ว่าถูกปรับก็ควรถูกปรับตาม ม.๔๙ หาใช่ ม.๑๖ ไม่นั้นเห็นว่า ม.๔๙ เป็นการลงโทษในทางอาญา ส่วน ม.๑๖ เป็นบทที่ก่อให้เกิดหนี้ในทางแพ่ง การบังคับก็ต้องดำเนินไปในทางแพ่ง และมาตรา ๑๖ และ ๔๙ นี้หาลบล้างซึ่งกันแลกันไม่ จึงพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์