โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 78, 157, 160
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2) (4) (8), 78 (ที่ถูกมาตรา 78 วรรคหนึ่ง), 157, 160 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานขับรถโดยประมาท หรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินและฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของผู้อื่น เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (8), 160 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 15 วัน ฐานขับรถในขณะเมาสุรา จำคุก 15 วัน ฐานขับรถเกิดอุบัติเหตุแล้วหลบหนีไม่แจ้งเหตุ จำคุก 1 เดือน รวมจำคุก 2 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุรากับความผิดฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของผู้อื่นเป็นกรรมเดียวให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 160 วรรคสาม จำคุก 15 วัน เมื่อรวมกับโทษจำคุก 1 เดือน ฐานขับรถเกิดอุบัติเหตุแล้วหลบหนีไม่แจ้งเหตุ รวมเป็นโทษจำคุก 1 เดือน 15 วัน เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขัง 1 เดือน 15 วัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุรากับความผิดฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น เป็นความผิดต่างกรรมกันเนื่องจากเจตนาในการกระทำความผิดแยกกันได้ชัดเจน โดยความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นความผิดสำเร็จทันทีเมื่อจำเลยเมาสุราขับรถ ส่วนความผิดฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่นเป็นเจตนาที่เกิดขึ้นภายหลัง ทั้งกฎหมายบัญญัติความผิดไว้ต่างอนุมาตรากัน นั้น เห็นว่า การที่จำเลยขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่นกับการที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุรา เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันโดยจำเลยมีเจตนาเดียวคือขับรถด้วยความเร็วเกินสมควรโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 บัญญัติบทฐานความผิดไว้ในมาตราเดียวกัน แต่คนละอนุมาตรา ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน