โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่เพิกถอนมติที่ประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 หากจำเลยทั้งสี่ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ห้ามมิให้จำเลยทั้งสี่นำมติที่ประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 ไปใช้แสดงอ้างต่อบุคคลใดหรือหน่วยงานใดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า บริษัท ร. จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2538 โจทก์ซึ่งมีชื่อในภาษาจีน ว่า เหยียน และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มทุกชนิด ต่อมาจำเลยที่ 1 เข้าถือหุ้นของบริษัท ร. ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มบำรุงกำลังยี่ห้อ ก. หรือ ร. ในสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559 จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 มีหนังสือเชิญประชุมคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 โดยนัดประชุมในวันที่ 20 กันยายน 2559 เมื่อถึงกำหนดวันนัดประชุมมีการประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 ตามสถานที่ที่กำหนดดังกล่าว โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เข้าร่วมประชุม ส่วนโจทก์ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ที่ประชุมมีมติถอดถอนโจทก์ออกจากตำแหน่งกรรมการ ตำแหน่งประธานกรรมการและตำแหน่งตัวแทนตามกฎหมายของบริษัท ร. รวมทั้งตำแหน่งตัวแทนตามกฎหมายของบริษัทที่จดทะเบียนไว้กับหน่วยงานที่มีอำนาจของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน และถอดถอนนางสาววรพนิต นางสาวเฟย และนายจาง ออกจากตำแหน่งกรรมการของบริษัท ร. แล้วมีมติแต่งตั้งนายยิป ดำรงตำแหน่งกรรมการ ตำแหน่งประธานกรรมการ และตำแหน่งตัวแทนตามกฎหมายของบริษัท ร. แต่งตั้งจำเลยที่ 3 นางสาวนุชรี และนางสาววันวิมล เป็นกรรมการของบริษัท ร. และแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนตามกฎหมายของบริษัทดังกล่าวที่จดทะเบียนไว้กับหน่วยงานที่มีอำนาจของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยให้มีผลทันที และให้บริษัท ร. ดำเนินการตามระเบียบต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นไปตามมติที่ประชุมภายใน 14 วัน ต่อมาวันที่ 22 กันยายน 2559 โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ขอคัดค้านและเพิกถอนการประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า มีเหตุให้เพิกถอนมติที่ประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาข้อแรกว่า เมื่อข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการบอกกล่าวเรียกประชุมกรรมการบริษัทไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับการนัดเรียกและการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น หรือนำข้อบังคับเกี่ยวกับการประชุมกรรมการของบริษัท ร. ที่กำหนดให้ต้องบอกกล่าวนัดประชุมกรรมการล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน มาปรับใช้ในฐานะเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง เมื่อจำเลยที่ 2 บอกกล่าวเรียกประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 ในระยะเวลากระชั้นชิด โจทก์พักอาศัยอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีนย่อมไม่อาจเดินทางกลับมาร่วมประชุมได้ทัน การบอกกล่าวเรียกประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1144 บัญญัติว่า "บรรดาบริษัทจำกัด ให้มีกรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนด้วยกันจัดการตามข้อบังคับของบริษัท และอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้นทั้งปวง" กรรมการของจำเลยที่ 1 จึงต้องจัดการบริษัทตามข้อบังคับของบริษัทและอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้นตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว โดยข้อเท็จจริงได้ความว่า ในการเรียกประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 ไม่มีข้อบังคับของจำเลยที่ 1 กำหนดระยะเวลาในการเรียกประชุมกรรมการไว้เป็นการเฉพาะ และปรากฏตามรายงานการประชุมตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2538 ว่า ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นข้อบังคับของบริษัท ดังนั้น ในการเรียกประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1162 ที่บัญญัติว่า "กรรมการคนหนึ่งคนใดจะนัดเรียกให้ประชุมกรรมการเมื่อใดก็ได้" อันเป็นกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะสำหรับการเรียกประชุมกรรมการบริษัท ซึ่งในกรณีนี้กฎหมายมิได้กำหนดขั้นตอนและวิธีการบอกกล่าวเรียกประชุมไว้ และเมื่อการเรียกประชุมกรรมการบริษัทมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้กรรมการนัดเรียกประชุมเมื่อใดก็ได้ กรณีจึงไม่อาจนำวิธีการบอกกล่าวเรียกประชุมตามมาตรา 1175 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้ในการเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัทมาใช้บังคับในฐานะเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 ดังที่โจทก์ฎีกาได้ จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 จึงสามารถเรียกประชุมกรรมการเมื่อใดก็ได้ โดยข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559 จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือขอเชิญประชุมคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 โดยส่งหนังสือเชิญประชุมไปยังโจทก์ตามที่อยู่ที่โจทก์แจ้งไว้ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น นอกจากนี้เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2559 จำเลยที่ 2 ยังส่งสำเนาหนังสือเชิญประชุมทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ไปถึงนายพินิจ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของโจทก์ เพื่อขอเชิญประชุมในวันที่ 20 กันยายน 2559 โดยโจทก์ทราบถึงการนัดประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 ในวันดังกล่าวแล้ว ที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 2 บอกกล่าวเรียกประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 ในระยะเวลากระชั้นชิด โจทก์พักอาศัยอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีนย่อมไม่อาจเดินทางกลับมาร่วมประชุมได้ทันนั้น เมื่อพิจารณาถึงระยะเวลาในการเรียกประชุมกรรมการในครั้งนี้เปรียบเทียบกับการเรียกประชุมกรรมการจำเลยที่ 1 ในครั้งอื่น ๆ ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความว่า กรรมการจำเลยที่ 1 เคยนัดเรียกประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 โดยมีการส่งหนังสือเชิญประชุมแก่โจทก์เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2558 ก่อนวันนัดประชุมประมาณ 6 วัน และในการประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2559 มีการส่งหนังสือเชิญประชุมแก่โจทก์เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2559 ก่อนวันนัดประชุมประมาณ 6 วัน เห็นได้ว่า ระยะเวลาในการเรียกประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 ในครั้งนี้ก็มีระยะเวลาใกล้เคียงกับการเรียกประชุมในครั้งอื่น ๆ โดยที่โจทก์มิได้โต้แย้งว่าเป็นการบอกกล่าวเรียกประชุมที่ไม่ชอบ และแม้ในช่วงระยะเวลาที่มีการส่งหนังสือเชิญประชุมแก่โจทก์ โจทก์พักอาศัยอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงระยะเวลาในการเดินทางจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาประเทศไทย ประกอบกับโจทก์เองก็มีเครื่องบินส่วนตัว โจทก์จึงมีเวลาเพียงพอที่จะเดินทางมาร่วมประชุมในวันนัดได้ กรณีถือได้ว่า เป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนวันประชุมเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีข้อบังคับกำหนดระยะเวลาการบอกกล่าวเรียกประชุมกรรมการบริษัทไว้ กรณีต้องนำข้อบังคับของบริษัท ร. มาใช้บังคับแก่การบอกกล่าวเรียกประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า ข้อบังคับของบริษัทเป็นข้อตกลงในการจัดการงานของบริษัทที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมตั้งบริษัท ข้อบังคับที่จดทะเบียนไว้สำหรับบริษัทใดย่อมใช้บังคับสำหรับบริษัทนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า บริษัท ร. เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นในลักษณะของกิจการร่วมค้าตามกฎหมายของสาธารณรัฐประชาชนจีนและเป็นนิติบุคคลที่แยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศไทย โดยจำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายหนึ่งในบริษัท ร. เท่านั้น แม้สัญญาร่วมลงทุนของบริษัท ร. ข้อ 23 จะกำหนดว่าการเรียกประชุมกรรมการบริษัทต้องเรียกประชุมล่วงหน้า 15 วัน ก็ตาม แต่เมื่อที่ประชุมของจำเลยที่ 1 ให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้ตกลงให้นำข้อบังคับของบริษัท ร. มาใช้เป็นข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ด้วย ระยะเวลาในการบอกกล่าวเรียกประชุมกรรมการของบริษัท ร. ที่กำหนดให้ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 บอกกล่าวเรียกประชุมกรรมการล่วงหน้าก่อนวันประชุมเป็นเวลาพอสมควรดังที่วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้ว การบอกกล่าวเรียกประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 จึงชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า วาระการประชุมไม่ได้ระบุวาระเรื่องการเปลี่ยนแปลงกรรมการในบริษัท ร. การที่ที่ประชุมมีมติในเรื่องดังกล่าวซึ่งไม่ได้กำหนดในวาระการประชุม จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า การออกหนังสือเชิญประชุมคณะกรรมการ ระบุวาระการประชุมว่า เรื่องต่าง ๆ รวมถึงมาตรการที่เหมาะสมที่เกี่ยวข้องกับผู้แทนของจำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการของบริษัท ร. ในสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อพิจารณาถึงวาระการประชุมตามที่กำหนดไว้ในเอกสารดังกล่าว ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นวาระการประชุมเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการใด ๆ ที่เหมาะสมที่เกี่ยวข้องกับผู้แทนของจำเลยที่ 1 ที่ดำรงตำแหน่งในฐานะกรรมการของบริษัท ร. ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งครอบคลุมรวมถึงการคงอยู่ หรือการถอดถอน หรือการแต่งตั้งผู้แทนของจำเลยที่ 1 ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัทดังกล่าวด้วย การที่ที่ประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 ได้พิจารณาและลงมติให้ถอดถอนโจทก์กับพวกซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ที่ได้รับแต่งตั้งให้เข้าไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการของบริษัท ร. ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้งบุคคลอื่นแทน จึงเป็นการพิจารณาและลงมติในวาระหรือเรื่องที่กำหนดไว้ ข้ออ้างตามฎีกาของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า การประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 จัดประชุมในสถานที่ห่างไกลจากที่ทำการของจำเลยที่ 1 ทำให้ไม่สะดวกต่อการเดินทาง เป็นการประชุมที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 2 จะเรียกประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 โดยจัดประชุมขึ้นที่บ้านเลขที่ 288 ซี่งมิใช่ที่ทำการของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2558 ของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมาก็มีการจัดประชุมที่บ้านเลขที่ดังกล่าว ซึ่งโจทก์สามารถเดินทางมาเข้าร่วมประชุมได้ ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่า การกำหนดสถานที่ในการประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 เป็นการไม่ชอบ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเช่นกัน ส่วนที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า การปลดโจทก์ออกจากการเป็นผู้แทนทางการค้าที่สาธารณรัฐประชาชนจีน มีผลเท่ากับเป็นการเปลี่ยนแปลงกรรมการของบริษัท ร. และมีความสำคัญเท่ากับการเปลี่ยนแปลงกรรมการของจำเลยที่ 1 จึงต้องใช้มติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ทั้งคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจลงมติถอดถอนกรรมการของบริษัท ร. ซึ่งเป็นคนละนิติบุคคลกับจำเลยที่ 1 ออกจากตำแหน่งนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า บริษัท ร. เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นในลักษณะของกิจการร่วมค้าตามกฎหมายของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งตามสัญญาร่วมลงทุนของบริษัท ร. พร้อมคำแปล ข้อ 18 และข้อบังคับของบริษัท ข้อ 20 กำหนดให้คณะกรรมการของบริษัท ร. ประกอบด้วยกรรมการ 7 คน ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากคู่สัญญาฝ่ายต่าง ๆ ที่เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ร. ตามสัดส่วนการถือหุ้น และสามารถเปลี่ยนแปลงกรรมการของบริษัทภายในระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งในกรณีที่มีเหตุพิเศษ เช่นนี้ เห็นได้ว่า บริษัท ร. เป็นนิติบุคคลและมีคณะกรรมการของบริษัทแยกต่างหากจากบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น การที่ที่ประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 มีมติถอดถอนโจทก์กับพวกออกจากการเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ที่เข้าไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในบริษัท ร. จึงมิใช่เป็นการถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ที่จะต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1151 ที่กำหนดให้การแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการบริษัทต้องกระทำโดยมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นตามที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใด และเมื่อสัญญากิจการร่วมค้าของบริษัท ร. กำหนดให้ผู้ถือหุ้นของบริษัท ร. แต่งตั้งผู้แทนฝ่ายของตนเข้าไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการของบริษัท ร. ตามสัดส่วนการถือหุ้น โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ร. อัตราส่วนร้อยละ 88 ของทุนจดทะเบียน จึงมีสิทธิแต่งตั้งกรรมการได้ 4 คน ซึ่งจำเลยที่ 1 แต่งตั้งโจทก์กับพวกอีก 3 คน เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งในฐานะกรรมการของบริษัท ร. เช่นนี้ การที่ที่ประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 มีมติถอดถอนโจทก์กับพวกอีก 3 คน ออกจากการเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ในการดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการของบริษัท ร. จึงมีผลเป็นเพียงการเปลี่ยนตัวบุคคลที่เป็นผู้แทนที่จะไปดำรงตำแหน่งกรรมการฝ่ายของจำเลยที่ 1 ในบริษัท ร. ตามข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสัญญากิจการร่วมค้าของบริษัท ร. เท่านั้น ที่ประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจที่จะพิจารณาและลงมติในเรื่องดังกล่าวได้ ส่วนการที่จำเลยทั้งสี่จะนำมติที่ประชุมดังกล่าวไปดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงอำนาจของโจทก์ หรือใช้กับบริษัท ร. หรือบุคคลภายนอกในสาธารณรัฐประชาชนจีนได้หรือไม่ ย่อมต้องเป็นไปตามกฎหมายของสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อไม่ปรากฏว่า การนัดเรียกประชุมกรรมการจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 และการลงมติในการประชุมฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือข้อบังคับของบริษัท จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนมติที่ประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว สำหรับฎีกาข้ออื่นของโจทก์ล้วนเป็นรายละเอียดปลีกย่อย ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปได้ จึงไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ