ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องกระทำในระหว่างพิจารณาคดีเท่านั้น คำพิพากษาศาลฎีกาถึงที่สุดแล้ว ไม่อาจอ้างขัดรัฐธรรมนูญได้
ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 264 วรรคหนึ่ง จะต้องเป็นเรื่องที่ศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีต้องด้วยมาตรา 6 คือ ขัดต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่ศาลจะส่งความเห็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่คดีนี้จำเลยอ้างว่าศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดคำพิพากษาศาลฎีกาตลอดจนกระบวนพิจารณาของศาลฎีกาจึงขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ซึ่งการรับฟังพยานเป็นดุลพินิจของศาลหาใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายตามความหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 264 แต่อย่างใด นอกจากดุลพินิจในการฟังพยานของศาลจะไม่ใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายแล้ว การที่ศาลจะส่งความเห็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง นั้น จะกระทำได้ต่อเมื่อศาลจะใช้บทกฎหมายนั้นบังคับแก่คดีที่อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลนั้น หากคดีดังกล่าวได้เสร็จสิ้นถึงที่สุดไปแล้ว ศาลหรือบุคคลใดจะกล่าวอ้างว่ากฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจะส่งเรื่องหรือขอให้ศาลส่งเรื่องนั้นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหาได้ไม่ ดังถ้อยคำในมาตรา 264 วรรคหนึ่งที่ว่า "ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด... ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นไว้ชั่วคราว และในมาตรา 264 วรรคสาม ที่ว่า "คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว" ดังนี้ เมื่อศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีนี้ และได้อ่านให้คู่ความฟังแล้วเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 จึงต้องถือว่าคดีระหว่างโจทก์และจำเลยเสร็จสิ้นถึงที่สุดไปแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับในคดีนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้อีกต่อไป กรณีของจำเลยจึงไม่ต้องด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 264