โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91, 147, 157, 357 และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 3,000,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 จำคุก 5 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก 3 ปี 9 เดือน ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับยกคำขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งรับฟังได้เป็นยุติว่า วัด ต. ผู้เสียหายเป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านหม้อ อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี มีฐานะเป็นนิติบุคคล ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าอาวาส จำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 45 จำเลยที่ 2 เป็นรองเจ้าอาวาสวัด ก. ตำบลบางน้ำเชี่ยว อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี จำเลยที่ 3 เป็นพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกันกับจำเลยที่ 2 ผู้เสียหายมีพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นศาสนสมบัติของผู้เสียหาย 3 องค์ ประดิษฐานอยู่บนโต๊ะหมู่บูชาในหอสวดมนต์ ประกอบด้วยพระพุทธรูปปางสมาธิขนาดหน้าตักกว้าง 24 นิ้ว 1 องค์ พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดหน้าตักกว้าง 15 นิ้ว 2 องค์ พระพุทธรูปทั้งสามองค์สูญหายไป นายวินัยอ้างว่า เมื่อประมาณกลางปี 2558 จำวันที่ไม่ได้ เวลาประมาณ 17 นาฬิกา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นายวินัยอุปสมบทอยู่ที่วัดผู้เสียหาย เห็นรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นฟอร์จูนเนอร์ 1 คัน มาจอดอยู่ที่หน้ากุฏิของจำเลยที่ 1 ซึ่งชั้นบนเป็นหอสวดมนต์ เห็นจำเลยที่ 1 ยืนพูดคุยกับจำเลยที่ 2 มีชาย 2 คน ยืนอยู่ข้างรถ จากนั้นจำเลยที่ 1 ที่ 2 และชาย 2 คน ดังกล่าวเดินขึ้นบันไดไปยังหอสวดมนต์ จำเลยที่ 1 ไขกุญแจเข้าไป ชาย 2 คน อุ้มพระพุทธรูปโบราณของวัดผู้เสียหายออกมาคนละ 1 องค์ นำไปไว้ที่ท้ายรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นฟอร์จูนเนอร์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เดินลงมาพูดคุยกันที่ข้างรถสักพักหนึ่ง จากนั้นจำเลยที่ 2 กับชายทั้งสองคน นั่งรถยนต์ดังกล่าวออกจากวัดผู้เสียหายไป จำเลยที่ 1 พูดกับนายวินัยว่า "ให้เขาไปเถอะ เขาให้รถ" แล้วเดินขึ้นกุฏิไป หลังจากนั้น 2 ถึง 3 วัน มีคนนำรถยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นซีวิค สีอ่อน ๆ มามอบให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ใช้สอยรถยนต์ดังกล่าวตลอดมา เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 ได้มีผู้ร้องเรียนโดยทำเป็นบัตรสนเท่ห์ (จดหมายกล่าวโทษที่มิได้ลงชื่อหรือไม่ลงชื่อจริงของผู้เขียน) ลงชื่อว่าประชาชนและชาวบ้านตำบลบางน้ำเชี่ยว อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษกล่าวโทษจำเลยที่ 2 ว่า กระทำผิดพระวินัยหลายประการ เช่น คลุกคลีกับมาตุคาม นำเงินของวัดที่ได้มาจากการบริจาคไปใช้ในธุรกิจส่วนตัวและทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล กรมสอบสวนคดีพิเศษเห็นว่าในชั้นนี้ยังมิใช่คดีความผิดทางอาญาที่เป็นคดีพิเศษที่จะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 แต่เป็นกรณีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงส่งเรื่องให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำเนินการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจึงส่งเรื่องให้เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรีดำเนินการทางปกครองคณะสงฆ์ต่อไป แต่เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรีไม่สามารถดำเนินการตามระเบียบวินัยการปกครองคณะสงฆ์ได้ ในเวลาเดียวกันเจ้าพนักงานตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปราม สืบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการร้องเรียนดังกล่าว ได้ข้อมูลจากแหล่งข่าวว่าจำเลยที่ 2 มีความสัมพันธ์สนิทสนมกับนางสาวช่อเพชร หุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. และน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีคนร้ายลอบยิงนายคทาหัตถ์ เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน 6 เทศบาลตำบลบางน้ำเชี่ยวถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2556 แต่ยังไม่มีพยานหลักฐานที่เพียงพอที่จะดำเนินคดี ในช่วงเดียวกันมีผู้ร้องเรียนกรณีพระพุทธรูปทั้งสามองค์ของผู้เสียหายสูญหายต่อกองบังคับการปราบปรามและมีข่าวปรากฏตามสื่อสารมวลชนต่าง ๆ เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2561 จำเลยที่ 2 สั่งให้นายสายัณห์ เจ้าพนักงานพัฒนาชุมชนเทศบาลตำบลบางน้ำเชี่ยว ขับรถกระบะของวัด ก. พาพระมหาจีรวัฒน์ ซึ่งเป็นพระลูกวัด ก. ไปนำพระพุทธรูป 1 องค์ จากบ้านในตำบลวัดตูม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นบ้านของจำเลยที่ 3 ไปไว้ที่วัด ก. พระมหาจีรวัฒน์อ้างว่าวันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 1 จะมารับพระพุทธรูปดังกล่าวจากวัด ก. นำไปไว้ที่กุฏิของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ภายในวัดผู้เสียหาย ทางฝ่ายเจ้าพนักงานตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปราม ออกสืบสวนหาข่าว โดยพันตำรวจโทประเสริฐ สารวัตรกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปราม ร้อยตำรวจเอกวิวรรธน์ รองสารวัตร (สอบสวน) กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปราม และร้อยตำรวจโทกฤษณะ รองสารวัตร (ป้องกันปราบปราม) กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปราม สอบปากคำบุคคลต่าง ๆ หลายคน เช่น พระอธิการปริญญา เจ้าอาวาสวัด ถ. ตำบลบ้านหม้อ อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งเคยพำนักอยู่ที่วัดผู้เสียหาย พระภิกษุบุญยืนซึ่งพำนักอยู่ในวัดผู้เสียหาย นายอมร คนงานในวัด พ. หมู่ที่ 3 ตำบลพิกุลทอง อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี พระครูอาทรปริยัติสุกิจ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัด พ. พระครูสิริพรหมโสภิต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัด พ. นายสมพร ราษฎรตำบลบ้านหม้อซึ่งเคยอุปสมบทและพำนักอยู่ที่วัดผู้เสียหาย นางวัฒนา ราษฎรตำบลบ้านบ้านหม้อ นายสุธิชัย ซึ่งเคยอุปสมบทและพำนักอยู่ที่วัดผู้เสียหายและนายวินัยแล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 และชายวัยรุ่นไม่ทราบชื่ออีก 2 คน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำความผิดเอาพระพุทธรูปของวัดผู้เสียหายทั้งสามองค์ไป จึงรายงานให้ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปราม ทราบเป็นระยะ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2561 นายปรีชา อายุ 67 ปี ข้าราชการบำนาญ ราษฎรหมู่ที่ 8 ตำบลบ้านหม้อ อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี เข้าแจ้งความกล่าวโทษจำเลยที่ 1 ต่อร้อยตำรวจเอกศรสุพรรณ รองสารวัตร (สอบสวน) กองกำกับการ 3 ช่วยทำงานกองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม พนักงานสอบสวนเวร และให้ปากคำแก่ร้อยตำรวจเอกศรสุพรรณในฐานะผู้กล่าวโทษในวันเดียวกันว่า เมื่อประมาณปลายเดือนมีนาคม 2561 นายทวีป นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ โทรศัพท์แจ้งแก่นายปรีชาว่า พระพุทธรูปทั้งสามองค์ดังกล่าวสูญหายไป จากนั้นนายปรีชา นายทวีป และชาวบ้านไปสอบถามจำเลยที่ 1 ถึงเรื่องพระพุทธรูปที่สูญหาย จำเลยที่ 1 บอกแก่ชาวบ้านว่า พระครู ว. เจ้าอาวาสรูปก่อนซึ่งถึงแก่มรณภาพไปแล้วได้มอบพระพุทธรูปทั้งสามองค์ ให้แก่วัด พ. เพื่อนำไปไว้ในพิพิธภัณฑ์ แต่ขณะนี้จำเลยที่ 1 ไปนำกลับคืนมาแล้วโดยนำไปไว้ในกุฏิ ชาวบ้านจึงขอเข้าไปดู จำเลยที่ 1 พานายปรีชาและชาวบ้านเข้าไปดูพบพระพุทธรูปเก่าแก่ 3 องค์ ตั้งอยู่ในกุฏิ แต่ขณะนั้นนายปรีชาและชาวบ้านไม่ทราบว่าเป็นพระพุทธรูป 3 องค์ ที่หายไปหรือไม่ จึงแยกย้ายกันกลับ หลังจากนั้น 3 ถึง 4 วัน นายทวีปโทรศัพท์แจ้งแก่นายปรีชาว่าพระภิกษุจากวัด พ.จะมาดูพระพุทธรูป นายปรีชาและชาวบ้านจึงไปที่วัดผู้เสียหาย ไม่พบจำเลยที่ 1 คงพบแต่พระภิกษุจากวัด พ. 1 รูปและฆราวาส 1 คน จากการพูดคุยทำให้ทราบว่า จำเลยที่ 1 ขอยืมพระพุทธรูปมาจากวัด พ. นายทวีปจึงให้นายเรวัตร ไวยาวัจกรของวัดผู้เสียหาย นำกุญแจมาเปิดกุฏิของจำเลยที่ 1 (มีพระพุทธรูป 4 องค์) แล้วนำพระพุทธรูปทั้งสามองค์ออกมา พระภิกษุและฆราวาสที่มาจากวัด พ. ต่างยืนยันว่า พระพุทธรูปทั้งสามองค์ เป็นของวัด พ. นายปรีชาและชาวบ้านจึงเกิดข้อสงสัยขึ้นว่าพระพุทธรูปของวัดผู้เสียหายอยู่ที่ใด และรอที่จะสอบถามจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่กลับมาที่วัดผู้เสียหายอีกเลย และสอบปากคำนางวัฒนา นายวินัย และพระครูสิริพรหมโสภิต ด้วย วันเดียวกันได้รับรายงานการสืบสวนจากพันตำรวจโทประเสริฐมาประกอบสำนวนการสอบสวน วันที่ 27 เมษายน 2561 สอบปากคำนายทวีป นายสมพรซึ่งเคยอุปสมบทและพำนักอยู่ที่วัดผู้เสียหาย พระภิกษุบุญยืน และพระอธิการปริญญา วันที่ 29 เมษายน 2561 พันตำรวจโทอรชัย รองผู้กำกับการ (สอบสวน) ปฏิบัติราชการแทนผู้กำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม มีหนังสือไปยังเจ้าคณะอำเภอพรหมบุรีและเจ้าคณะตำบลบ้านหม้อขอให้ตรวจสอบสถานภาพของจำเลยที่ 1 ว่ายังคงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดผู้เสียหายอยู่หรือไม่และมีอำนาจหน้าที่อย่างไร วันเดียวกันเจ้าคณะตำบลบ้านหม้อมีหนังสือตอบว่าจำเลยที่ 1 ยังคงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดผู้เสียหายอยู่และมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 37, 38 ในวันดังกล่าวร้อยตำรวจเอกศรสุพรรณสอบปากคำพันตำรวจโทประเสริฐไว้ด้วย ต่อมาร้อยตำรวจเอกศรสุพรรณได้รับแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งที่อื่น วันที่ 23 พฤษภาคม 2561 พันตำรวจโทสุชาติ รองผู้กำกับการ (สอบสวน) กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้สอบสวนคดีนี้ต่อไป วันที่ 24 พฤษภาคม 2561 พันตำรวจโทสุชาติขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยที่ 1 และที่ 2 วันเดียวกันเจ้าพนักงานตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปราม จับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ที่วัด ก. และตรวจค้นวัด ก. พบรถตู้ 1 คัน รถยนต์นั่ง 2 คัน รองเท้าสตรี 1 คู่ แบบพิมพ์เขียวก่อสร้าง 1 ฉบับ พระพุทธรูปสมัยต่าง ๆ 53 องค์ เอกสาร 2 กล่อง แฟ้มอัลบั้มภาพถ่าย 44 อัลบั้ม จึงยึดไว้เป็นของกลาง จำเลยที่ 1 ยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปราม ยึดสมุดเงินฝาก 7 เล่ม บัตรเบิกถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) 4 ใบ เงินสด 207,980 บาท พระเครื่องและเครื่องรางรวม 43 องค์ ไว้ตรวจสอบ วันเดียวกันพันตำรวจเอกจรูญเกียรติ รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปราม ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายค้นห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. ตำบลโพขนไก่ อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี บ้านในตำบลต้นโพธิ์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ของนางสาวช่อเพชร และบ้านในตำบลพรหมบุรี อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ของนางสาวช่อเพชร วันเดียวกันเจ้าพนักงานตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามเข้าตรวจค้นสถานที่ตามหมายค้นดังกล่าว พบ CPU บันทึกข้อมูลวงจรปิดและเอกสารจำนวนหนึ่งที่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. พบพระพุทธรูป 12 องค์ เอกสารและภาพถ่ายจำนวนหนึ่งในห้องนอนที่บ้านในตำบลต้นโพธิ์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี พบพระพุทธรูป 3 องค์ ที่บ้านในตำบลพรหมบุรี อำเภอพรหมบุรี จึงยึดไว้ตรวจสอบ วันดังกล่าวพันตำรวจโทสุชาติแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบ แล้วแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยที่ 1 ว่า เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย แจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยที่ 2 ว่า เป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธโดยจะให้รายละเอียดในชั้นพิจารณาของศาลเท่านั้น วันเดียวกัน เวลา 18 นาฬิกา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ลาสิกขา วันที่ 29 พฤษภาคม 2561 พันตำรวจโทสุชาติ พันตำรวจโทคมกริช รองผู้กำกับการ (สอบสวน) กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม และร้อยตำรวจเอกปาณสาร รองสารวัตร (สอบสวน) กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม เรียกนายปรีชามาสอบสวนเพิ่มเติม นายปรีชาให้การเพิ่มเติมว่า ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า ผู้เสียหายได้พระพุทธรูปปางสมาธิขนาดหน้าตักกว้าง 24 นิ้ว ที่สูญหายคืนแล้ว พันตำรวจโทสุชาติจึงทำบัญชีทรัพย์ระบุว่า ได้พระพุทธรูปสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นหน้าตักกว้าง 24 นิ้ว คืนแล้วและถือเป็นของกลางโดยให้ผู้เสียหายเก็บรักษาไว้ และทำบัญชีทรัพย์ระบุว่า ยังไม่ได้พระพุทธรูปสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นหน้าตักกว้าง 15 นิ้ว 2 องค์ คืน วันที่ 30 พฤษภาคม 2561 ได้รับรายงานการสืบสวน (เพิ่มเติม) จากพันตำรวจโทประเสริฐไว้ประกอบการสอบสวนวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 พันตำรวจโทสุชาติร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายค้นบ้านในตำบลวัดตูม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของจำเลยที่ 3 และออกหมายจับจำเลยที่ 3 วันเดียวกันเจ้าพนักงานตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปราม จับจำเลยที่ 3 ได้ที่หน้าบ้านในตำบลวัดตูม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตรวจค้นบ้านดังกล่าวพบดาบปลายปืน อาวุธปืน ซองกระสุนปืนและเครื่องกระสุนปืนจำนวนหนึ่ง วันที่ 1 มิถุนายน 2561 พันตำรวจโทสุชาติแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาแก่จำเลยที่ 3 แจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยที่ 3 ว่า ร่วมกันเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสียหรือรับของโจร จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ วันที่ 7 มิถุนายน 2561 พันตำรวจเอกชาคริต รองผู้บังคับการปราบปรามปฏิบัติราชการแทนผู้บังคับการปราบปราม ทำบันทึกข้อความถึงผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางขออนุญาตให้กองบังคับการปราบปรามสอบสวนคดีนี้ต่อไป วันที่ 21 มิถุนายน 2561 ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางมีคำสั่งอนุมัติให้พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามสอบสวนคดีนี้ วันที่ 29 มิถุนายน 2561 แจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยที่ 3 เพิ่มเติมว่า ร่วมกันเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ วันที่ 12 กรกฎาคม 2561 แจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยที่ 1 เพิ่มเติมว่า เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต แจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยที่ 2 เพิ่มเติมว่าร่วมกันเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย และร่วมกันเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ วันที่ 17 กรกฎาคม 2561 พันตำรวจโทสมนึก รองผู้กำกับการ (สอบสวน) ฯ ปฏิบัติราชการแทนผู้กำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม มีหนังสือขอให้อธิบดีกรมศิลปากรส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบพระพุทธรูปโบราณที่ตรวจยึดไว้ สำนักงานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ตรวจสอบพระพุทธรูปที่ยึดไว้กับภาพถ่ายเดิมของพระพุทธรูป 3 องค์ ของผู้เสียหายที่สูญหายไปแล้วไม่พบพระพุทธรูปของผู้เสียหาย ส่วนพระพุทธรูปองค์กลาง (ขนาดหน้าตัก 24 นิ้ว) ที่ติดตามคืนกลับมาได้ ยืนยันว่าเป็นของเดิมจริง จากนั้นพันตำรวจโทสุชาติสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานต่อไปจนเสร็จสิ้นแล้วมีความเห็นว่า ควรสั่งฟ้องจำเลยทั้งสาม พลตำรวจตรีไมตรี ผู้บังคับการปราบปราม จึงทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องจำเลยทั้งสามส่งไปยังอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 1 พร้อมด้วยสำนวน ซึ่งนำมาสู่การฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เชื่อว่า พยานโจทก์ทั้งสิบสามปากให้ปากคำไปตามที่รู้เห็นมาจริง ปากคำของพยานโจทก์ทั้งสิบสามปาก ที่พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ตามบันทึกคำให้การของพยานในสำนวนการสอบสวนจึงมีน้ำหนักมั่นคง ส่วนที่พระมหาจีรวัฒน์เบิกความบ่ายเบี่ยงไปว่าไม่เห็นองค์พระพุทธรูปเพราะมีผ้าห่อไว้ พระมหาจีรวัฒน์เป็นพระลูกวัดพำนักอยู่ในวัด ก. ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นรองเจ้าอาวาส และเบิกความหลังจากให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนนานถึง 1 ปี อาจเป็นเพราะไม่ประสงค์ให้ผูกพันจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นรองเจ้าอาวาสก็ได้ ไม่ทำให้น้ำหนักพยานหลักฐานโจทก์เสียไป จำเลยที่ 1 เบิกความรับว่า เป็นผู้ให้นำพระพุทธรูปทั้งสามองค์ ไปจากวัดผู้เสียหายเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ เพียงแต่บ่ายเบี่ยงไปว่า นำไปให้วัด พ. ตามคำสั่งเสียของเจ้าอาวาสรูปก่อนซึ่งมรณภาพไปแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 1 เบิกความว่า นายวินัย (พระภิกษุวินัย) ขณะที่พำนักอยู่ที่วัดผู้เสียหายมีนิสัยลักขโมยสิ่งของในวัดไปขาย จำเลยที่ 1 เคยตักเตือน นายทวีปเคยขอยืมเงินของวัดผู้เสียหาย 800,000 บาท เพื่อนำไปใช้หนี้ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ให้ยืม และจำเลยที่ 1 ถูกนายทวีปและเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายระหว่างที่ถูกควบคุมตัวนั้น จำเลย 1 เพียงแต่เบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่พยานโจทก์ทั้งสิบสามปากให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ยืนพูดคุยกับจำเลยที่ 2 แล้วพากันขึ้นไปบนหอสวดมนต์ จากนั้นยินยอมให้ชาย 2 คน ที่มากับจำเลยที่ 2 ยกพระพุทธรูป 2 องค์ จากหอสวดมนต์ไปขึ้นรถกระบะนำออกจากวัดผู้เสียหายไป เมื่อมีพระภิกษุในวัดมาพบเห็นจำเลยที่ 1 พูดว่า ให้เขาไปเถอะ เขาให้รถ เมื่อตรวจดูสำเนารายงานข้อมูลทะเบียนรถยนต์ของสำนักงานขนส่งจังหวัดสิงห์บุรีแล้วปรากฏว่า จำเลยที่ 1 เข้าถือกรรมสิทธิ์รถยนต์นั่งส่วนบุคคลสองตอน ยี่ห้อฮอนด้า สีเทา และเข้าครอบครองรถยนต์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่พระพุทธรูปของวัดผู้เสียหายสูญหายไป ประกอบกับเมื่อข่าวการสูญหายของพระพุทธรูปแพร่สะพัดออกไปและชาวบ้านกดดันเพื่อหาคำตอบ จำเลยที่ 1 ไม่แจ้งความจริงแก่ชาวบ้าน แต่กลับใช้วิธีไปขอยืมพระพุทธรูป 3 องค์ ที่มีลักษณะใกล้เคียงจากวัด พ. มาให้ชาวบ้านดูว่าเป็นพระพุทธรูปที่สูญหายไป อันเป็นการแสดงข้อความเท็จต่อชาวบ้านซึ่งขัดกับหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา เมื่อไม่อาจขจัดความสงสัยของชาวบ้านได้ จำเลยที่ 2 ก็ให้คนของจำเลยที่ 2 ไปนำพระพุทธรูปปางสมาธิขนาดหน้าตักกว้าง 24 นิ้ว 1 องค์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูป 1 ใน 3 องค์ ของวัดผู้เสียหายที่สูญหายไปจากบ้านของจำเลยที่ 3 มาคืนไว้ที่กุฏิของจำเลยที่ 1 แต่เมื่อความจริงเรื่องการขอยืมพระพุทธรูป 3 องค์ จากวัด พ.เปิดเผยขึ้น จำเลยที่ 1 ก็หลบหนีไปไม่กลับมาที่วัดผู้เสียหายอีกเลยจนกระทั่งถูกจับกุมแล้ว ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับคนร้ายเบียดบังทรัพย์ของวัดผู้เสียหายคือพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นปางสมาธิขนาดหน้าตักกว้าง 24 นิ้ว 1 องค์ ไปโดยทุจริตและร่วมกับจำเลยที่ 2 กับพวกเบียดบังทรัพย์ของวัดผู้เสียหายคือ พระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นปางมารวิชัยขนาดหน้าตักกว้าง 15 นิ้ว 2 องค์ ไปโดยทุจริตในขณะที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดผู้เสียหายด้วย ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รักษาทรัพย์ของวัดผู้เสียหายคือพระพุทธรูป 3 องค์ ดังกล่าวแล้วข้างต้นด้วย ส่วนจำเลยที่ 2 แม้จะฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 สั่งให้พระมหาจีรวัฒน์และนายสายัณห์ไปนำพระพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นปางสมาธิขนาดหน้าตักกว้าง 24 นิ้ว จากบ้านของจำเลยที่ 3 มาที่วัด ก. แล้วนำไปไว้ในกุฏิของจำเลยที่ 1 ในวัดผู้เสียหายแต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนในการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระพุทธรูปดังกล่าวซึ่งโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับพระพุทธรูปขนาดหน้าตักกว้าง 24 นิ้ว ดังกล่าว จึงฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 เพียงแต่รู้ว่าพระพุทธรูปดังกล่าวอยู่ที่ใด และติดตามมาคืนให้แก่วัดผู้เสียหายเพื่อเป็นการลดความกดดันที่ชาวบ้านมีต่อจำเลยที่ 1 เท่านั้น แต่ฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 เบียดบังพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นปางมารวิชัยขนาดหน้าตักกว้าง 15 นิ้ว 2 องค์ ของวัดผู้เสียหายไปโดยทุจริต แต่จำเลยที่ 2 เป็นรองเจ้าอาวาสวัด ก. ไม่ได้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ของวัดผู้เสียหาย ไม่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานในส่วนที่เกี่ยวกับวัดผู้เสียหาย จึงลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตหรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 (เดิม) ไม่ได้ คงลงโทษได้ในฐานสนับสนุนความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 147 (เดิม) เท่านั้น เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 147 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายบทเฉพาะของบททั่วไป ตามมาตรา 157 (เดิม) ย่อมไม่จำต้องปรับบทความผิดตามมาตรา 157 (เดิม) ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ว่า มีส่วนเกี่ยวข้องก่อนหรือขณะที่จำเลยที่ 1 เบียดบังพระพุทธรูปทั้งสามองค์ จำเลยที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตหรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตที่ฟ้องได้ แต่ได้ความตามที่พระมหาจีรวัฒน์และนายสายัณห์ให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนว่า หลังจากพยานทั้งสองไปนำพระพุทธรูป 3 องค์ จากวัด พ. มาที่วัด ก. และนำไปไว้ในกุฏิของจำเลยที่ 1 ภายในวัดผู้เสียหายประมาณ 1 สัปดาห์ จำเลยที่ 2 ให้พยานทั้งสองไปนำพระพุทธรูป 1 องค์ จากบ้านของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นพี่ชายของจำเลยที่ 2 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาที่วัด ก. พยานทั้งสองจึงไปที่บ้านดังกล่าว จำเลยที่ 3 พาขึ้นไปชั้นบน พบพระพุทธรูปขนาดหน้าตักกว้าง 24 นิ้ว 1 องค์ พยานทั้งสองช่วยกันยกพระพุทธรูปดังกล่าวขึ้นรถกระบะนำมาไว้ที่วัด ก. พระมหาจีรวัฒน์ให้ปากคำอีกว่า วันต่อมาจำเลยที่ 1 มารับพระพุทธรูปดังกล่าวไป พยานไปช่วยยกพระพุทธรูปดังกล่าวไปไว้ในกุฏิของจำเลยที่ 1 ในวัดผู้เสียหายด้วยดังกล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งสอดคล้องกับปากคำของนายทวีปที่ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา พยานกับชาวบ้านพากันไปตรวจสอบพบพระพุทธรูป 4 องค์ ในกุฏิของจำเลยที่ 1 พระพุทธรูปองค์หนึ่งมีลักษณะตรงกับพระพุทธรูปขนาดหน้าตักกว้าง 24 นิ้ว ซึ่งเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ตรงกลางบนหอสวดมนต์ของวัดผู้เสียหายที่หายไป ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่โต้แย้งกันว่า พระพุทธรูปดังกล่าวเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นขนาดหน้าตักกว้าง 24 นิ้ว ที่หายไปจริง ส่วนพระพุทธรูปอีก 3 องค์ มีลักษณะไม่ตรงกับพระพุทธรูป 2 องค์ ที่หายไป จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนและเบิกความรับว่า จำเลยที่ 2 ให้ไปนำพระพุทธรูปมาจากบ้านของจำเลยที่ 3 จริง เจือสมกับปากคำของพระมหาจีรวัฒน์ ส่งเสริมให้ปากคำของพระมหาจีรวัฒน์มีน้ำหนักมั่นคงหนักแน่นยิ่งขึ้น พระพุทธรูปดังกล่าวเป็นพระพุทธรูปโบราณขนาดใหญ่มีขนาดหน้าตักกว้างถึง 24 นิ้ว การได้มาไว้ในครอบครองก็ต้องตรวจสอบประวัติอย่างถ่องแท้เพราะมีค่ามากและราคาสูง จำเลยที่ 3 มีการศึกษาสูง จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ขณะเกิดเหตุอายุ 59 ปี ย่อมมีวุฒิภาวะ ไม่น่าเชื่อว่าจะไม่ตรวจสอบความเป็นมาของพระพุทธรูปและไม่รู้ว่าพระพุทธรูปดังกล่าวเป็นของวัดผู้เสียหายที่ถูกเบียดบังไป พยานหลักฐานโจทก์ส่วนนี้จึงมีน้ำหนักมั่นคง ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เบิกความว่า พระพุทธรูปดังกล่าวเป็นของวัด ก. ที่จำเลยที่ 2 ส่งไปซ่อมและปิดทองที่อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อซ่อมเสร็จแล้วช่างผู้ซ่อมติดธุระสำคัญต้องเดินทางไปที่วัด ร. กรุงเทพมหานคร จึงโทรศัพท์แจ้งจำเลยที่ 2 และนำพระพุทธรูปดังกล่าวไปฝากไว้ที่บ้านของจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 คงมีแต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เบิกความดังกล่าว จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพิ่งยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นพิจารณาของศาล โดยไม่ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงนี้ในการให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนเลย ในชั้นพิจารณาของศาลจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบว่า พระพุทธรูปดังกล่าวเป็นพระพุทธรูปองค์ใด มีสภาพอย่างไร ช่างที่ซ่อมพระพุทธรูปดังกล่าวเป็นผู้ใด ไม่นำหรือขอให้ศาลออกหมายเรียกช่างดังกล่าวมาเบิกความอีกทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมานำสืบสนับสนุนคำเบิกความของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าว คำเบิกความของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ส่วนนี้จึงเลื่อนลอยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 รับพระพุทธรูปปางสมาธิสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นขนาดหน้าตักกว้าง 24 นิ้ว ไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดเข้าลักษณะเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยกคำขอที่ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่วัดผู้เสียหาย และพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ประการนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องคืนหรือใช้ราคาพระพุทธรูปที่สูญหายแก่วัดผู้เสียหายหรือไม่เพียงใด เห็นว่า ในส่วนของจำเลยที่ 1 นั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) พนักงานอัยการจึงไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินจากจำเลยที่ 1 แทนผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 อีก คำขอส่วนแพ่งย่อมตกไปด้วย ส่วนจำเลยที่ 2 พนักงานอัยการยังคงมีสิทธิเรียกให้คืนหรือใช้ราคาพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นขนาดหน้าตักกว้าง 15 นิ้ว 2 องค์ ที่ยังไม่ได้คืนให้แก่วัดผู้เสียหาย ซึ่งเป็นการขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 และมาตรา 44 วรรคหนึ่ง ได้ เมื่อปรากฏว่า จำเลยที่ 2 เบียดบังเอาพระพุทธรูปดังกล่าวไปโดยไม่มีสิทธิ จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนพระพุทธรูปดังกล่าวแก่วัดผู้เสียหาย หากคืนไม่ได้ก็ต้องใช้ราคา ส่วนของการใช้ราคานั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 วรรคสอง บัญญัติว่า "ราคาทรัพย์สินที่สั่งให้จำเลยใช้แก่ผู้เสียหาย ให้ศาลกำหนดตามราคาอันแท้จริง..." คดีนี้โจทก์คงมีแต่บันทึกคำให้การของผู้กล่าวโทษและบันทึกคำให้การของพยาน ซึ่งระบุว่า นายปรีชาให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนว่า พระพุทธรูปปางมารวิชัย 2 องค์ ราคาประมาณ องค์ละ 1,500,000 บาท นางวัฒนาให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนเพียงว่า พระพุทธรูปทั้งสามองค์เป็นพระพุทธรูปโบราณสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีมูลค่าประมาณ 5,000,000 บาท มาใช้เป็นข้อมูลและหลักในการกำหนดราคาพระพุทธรูปทั้งสององค์เท่านั้น นายปรีชาและนางวัฒนาเป็นราษฎรในท้องที่เกิดเหตุ ไม่ปรากฏว่า ทั้งสองเป็นผู้เชียวชาญในการตีราคาพระพุทธรูปหรือเป็นผู้ทำการงานหรือผู้ประกอบการในการซื้อขายพระพุทธรูป ราคาหรือมูลค่าพระพุทธรูปที่พยานทั้งสองกล่าวถึงเป็นเพียงการกะประมาณตามความรู้สึกของพยานทั้งสอง อีกทั้งพระพุทธรูปทั้งสององค์ เป็นวัตถุโบราณราคาหรือมูลค่าจึงมากบ้างน้อยบ้างเป็นไปตามใจของแต่ละคนที่ได้เกี่ยวข้องพบเห็นยังไม่แน่นอน ไม่ปรากฏพยานหลักฐานอื่นในสำนวนที่พอจะกำหนดราคาพระพุทธรูปทั้งสององค์ ให้แน่นอนได้ เมื่อเป็นดังนี้ศาลจึงไม่อาจกำหนดราคาอันแท้จริงของพระพุทธรูปทั้งสององค์ ที่ต้องใช้คืนได้ ศาลฎีกาจึงไม่กำหนดให้ใช้ราคาพระพุทธรูปทั้งสององค์ ฎีกาของโจทก์ประการนี้ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดเมื่อระหว่างปี 2558 ถึงปลายเดือนมีนาคม 2561 จำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานรับของโจรตามวันเวลาดังกล่าวภายหลังเกิดเหตุถึงปลายเดือนมีนาคม 2561 ปรากฏว่าในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 ใช้บังคับโดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2560 เป็นต้นไป มาตรา 7 ของกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 147 (เดิม) และให้ใช้อัตราโทษตามที่บัญญัติใหม่แทนและมาตรา 16 บัญญัติให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 357 วรรคหนึ่ง (เดิม) และให้ใช้อัตราโทษตามที่บัญญัติใหม่แทน โดยไม่ได้ยกเลิกความผิดและอัตราโทษจำคุกทั้งสองฐาน คงแต่เปลี่ยนโทษปรับให้หนักขึ้นเท่านั้น กฎหมายที่บัญญัติขึ้นใหม่จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทางพิจารณาได้ความจากปากคำของพระภิกษุบุญยืนที่ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนว่า พระพุทธรูปของวัดผู้เสียหายหายไปเมื่อประมาณกลางปี 2558 และให้ปากคำต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้ทำการสืบสวนว่า เห็นและกราบไหว้พระพุทธรูปทั้งสามองค์ ครั้งสุดท้ายเมื่อประมาณปี 2559 และเมื่อประมาณกลางเดือนมีนาคม 2561 เป็นวันที่พระมหาจีรวัฒน์ระบุว่าเป็นวันที่พระมหาจีรวัฒน์ไปรับพระพุทธรูปปางสมาธิสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นขนาดหน้าตักกว้าง 24 นิ้ว ของวัดผู้เสียหายที่หายไปจากจำเลยที่ 3 วันดังกล่าวจึงไม่ใช่วันกระทำความผิดฐานรับของโจร จำเลยทั้งสามอาจกระทำความผิดก่อนหรือหลังประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และมาตรา 357 ที่แก้ไขใหม่ใช้บังคับก็ได้ โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับวันเวลากระทำความผิดมาเป็นช่วงเวลาซึ่งคาบเกี่ยวกันระหว่างกฎหมายเดิมและกฎหมายใหม่ใช้บังคับโดยไม่ระบุวันหนึ่งวันใดโดยชัดแจ้ง จึงต้องฟังเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า กระทำความผิดก่อนวันที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และมาตรา 357 ที่แก้ไขใหม่ใช้บังคับ และต้องใช้มาตรา 147 (เดิม) และมาตรา 357 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่คดี
พิพากษากลับว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 147 (เดิม) จำคุก 3 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคหนึ่ง (เดิม) จำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้คนละหนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 2 ปี 3 เดือน ให้จำเลยที่ 2 คืนพระพุทธรูปโบราณสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นขนาดหน้าตักกว้าง 15 นิ้ว 2 องค์ ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย ยกคำขอที่ให้จำเลยที่ 2 ใช้ราคาพระพุทธรูปแก่ผู้เสียหายและยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตหรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต