ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การริบทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด: ความแตกต่างระหว่างมาตรา 29 และ 30, สิทธิในการขอคืนทรัพย์สิน
ในการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 นั้น มีอยู่ 2 กรณี คือ การร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินตามมาตรา 29 ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 27 และการร้องขอให้ริบบรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรกล หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามมาตรา 30 ซึ่งกระบวนการการร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินทั้งสองกรณีกฎหมายบัญญัติไว้แตกต่างกันโดยแยกต่างหากจากกัน ทั้งขั้นตอนการร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินหรือร้องขอคืนทรัพย์สินตามมาตรา 29 และ 30 ก็มีความแตกต่างกันคือ การร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินตามมาตรา 29 จะต้องมีการปิดประกาศไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และที่สถานีตำรวจท้องที่ที่มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินอย่างน้อยเจ็ดวันและให้ประกาศอย่างน้อยสองวันติดต่อกันในหนังสือพิมพ์ที่มีแพร่หลายในท้องถิ่น ส่วนการร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินตามมาตรา 30 นั้น ไม่ต้องมีการปิดประกาศในที่ใด ๆ แต่ต้องมีการประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นอย่างน้อยสองวันติดต่อกัน นอกจากนี้การขอคืนทรัพย์สินตามมาตรา 29 นั้น ผู้เป็นเจ้าของสามารถร้องขอคืนได้ก่อนคดีถึงที่สุดและแสดงให้ศาลเห็นว่า
"(1) ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือ
(2) ตนเป็นผู้รับโอนหรือผู้รับประโยชน์ และได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี หรือในทางกุศลสาธารณ"
ส่วนการร้องขอคืนทรัพย์สินตามมาตรา 30 ผู้เป็นเจ้าของจะต้องยื่นคำร้องขอเข้ามาก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง และศาลจะสั่งริบได้เมื่อปรากฏว่าเจ้าของไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตนไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิด และจะมีการนำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิด คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยทั้งสองได้ใช้รถยนต์กระบะของกลางเป็นยานพาหนะบรรทุกขนส่งและซื้อขายยาเสพติดให้โทษจึงขอให้ริบรถยนต์กระบะพร้อมกุญแจรถยนต์ จำนวน 2 ชุด ของกลางตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30, 31 การร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินในคดีนี้จึงเป็นการร้องขอตามมาตรา 30 ดังนั้น กระบวนการที่ศาลจะต้องไต่สวนและมีคำสั่ง จึงต้องดำเนินกระบวนพิจารณาตามมาตรา 30 หาใช่มาตรา 29
พยานหลักฐานของผู้คัดค้านไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์กระบะพร้อมกุญแจรถจำนวน 2 ชุด ของกลาง ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิขอคืนของกลาง และไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าผู้คัดค้านไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิด และจะมีการนำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิดอีกต่อไปหรือไม่