โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 91, 138, 140, 289, 371 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 26/2, 26/3, 66, 75, 76, 100/1, 102 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบเมทแอมเฟตามีน กัญชา อาวุธปืนแบลงค์กันพร้อมซองกระสุนปืนและปลอกกระสุนปืนของกลาง นับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย.1397/2563 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาผลิตกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาตและมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 140 วรรคหนึ่งและวรรคสาม, 289 (2) ประกอบมาตรา 80, 371 ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคสอง (1) พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26/2 วรรคหนึ่ง, 26/3 วรรคหนึ่ง, 75 วรรคหนึ่ง, 76 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีหรือใช้อาวุธปืนกับฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (2) ประกอบมาตรา 80 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพื่อการค้า จำคุก 4 ปี และปรับ 300,000 บาท ฐานผลิตกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานผลิตกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 เดือน ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานผลิตและมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต (ที่ถูก ฐานผลิตกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาต) จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุก 6 เดือน ฐานผลิตกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาต คงจำคุก 2 เดือน ฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่และฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีหรือใช้อาวุธปืน (ที่ถูก ฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่) ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว จำคุก 38 ปี 12 เดือน และปรับ 300,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี นับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย.1397/2563 ของศาลชั้นต้น ริบเมทแอมเฟตามีน อาวุธปืนแบลงค์กันพร้อมซองกระสุนปืนและปลอกกระสุนปืนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 72 วรรคหนึ่งและวรรคสาม เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานผลิตกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้คืนกัญชาของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ร้อยตำรวจเอกบันลัง และดาบตำรวจสมชาย ผู้เสียหายกับพวกเข้าตรวจค้นกระท่อมของจำเลย พบจำเลยอยู่ที่บริเวณด้านหน้ากระท่อม หลังจากนั้นร้อยตำรวจเอกบันลังและผู้เสียหายเข้ากอดปล้ำกับจำเลยเพื่อจับกุม ในระหว่างนั้นจำเลยใช้มือชกที่ใบหน้าผู้เสียหาย 3 ครั้ง ได้รับบาดเจ็บบริเวณริมฝีปากล่าง เป็นแผลฟกช้ำขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร หลังเกิดเหตุจำเลยหลบหนีไปได้ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นภายในกระท่อม พบเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 109 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 1.525 กรัม อาวุธปืนยาวลูกซองเดี่ยวขนาด 12 เครื่องหมายทะเบียน กท 368604 เลขหมายประจำปืน 31195 จำนวน 1 กระบอก และกระสุนปืนลูกซอง ขนาด 12 จำนวน 3 นัด ส่วนการตรวจค้นที่นอกกระท่อม พบกัญชาสดปลูกไว้ในถุงดำ 1 ต้น ปลอกกระสุนปืน ขนาด .380 จำนวน 1 ปลอก ซองกระสุนปืน 1 อัน และเสื้อยืดคอกลมสีเทาของจำเลย 1 ตัว ตกอยู่ที่พื้นดิน ส่วนอาวุธปืนพกสั้นแบลงค์กัน ขนาด 9 มม. P.A. ดัดแปลงลำกล้องให้สามารถใช้ยิงกับกระสุนปืนออโตเมติก ขนาด .380 ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ 1 กระบอก เจ้าพนักงานตำรวจอ้างว่าแย่งมาได้จากจำเลยขณะเข้ากอดปล้ำเพื่อจับกุมจึงยึดไว้เป็นของกลางทั้งหมด ร้อยตำรวจเอกบันลังกับพวกนำของกลางไปมอบให้พนักงานสอบสวน พร้อมทำบันทึกกล่าวโทษให้ดำเนินคดีแก่จำเลย ต่อมาวันที่ 6 กรกฎาคม 2563 ภายหลังเกิดเหตุคดีนี้ 3 วัน จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอีกคดีหนึ่ง และถูกศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษไปแล้ว พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหาคดีนี้แก่จำเลย ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ข้อหาผลิตกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อหามีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและความผิดอื่น แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทุกฐานความผิด จำเลยคงอุทธรณ์เฉพาะความผิดต่อเจ้าพนักงานและความผิดต่อชีวิต ไม่ได้อุทธรณ์ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และลหุโทษ ส่วนโจทก์ไม่อุทธรณ์ ดังนั้น ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และลหุโทษ เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นว่า ในระหว่างพิจารณาได้มีประมวลกฎหมายยาเสพติดออกมาใช้บังคับแทนกฎหมายเดิม และมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ออกตามความในมาตรา 29 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งมีผลให้พืชกัญชาไม่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 นับแต่วันที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานผลิตกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกต่อไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้เป็นยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานผลิตกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตได้ เพราะเป็นอำนาจทั่วไปของศาลอุทธรณ์ภาค 6 และเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง และมาตรา 195 วรรคสอง กรณีดังกล่าวไม่ถือว่าขัดต่อพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 14 ที่บัญญัติให้การพิจารณาพิพากษาคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ ซึ่งหมายถึงเฉพาะกรณีคู่ความอุทธรณ์ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดด้วยเท่านั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ที่ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานผลิตกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมทั้งสั่งคืนกัญชาของกลางแก่เจ้าของจึงชอบแล้ว เมื่อโจทก์ไม่ฎีกา ความผิด 2 ฐานนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6
ในชั้นนี้คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีหรือใช้อาวุธปืน กับฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ด้วยหรือไม่ ซึ่งเห็นสมควรวินิจฉัยไปตามลำดับ เห็นว่า แม้วันเกิดเหตุร้อยตำรวจเอกบันลังและผู้เสียหายจะปลอมตัวแต่งกายเป็นเกษตรกร โดยใช้ผ้าโพกศีรษะด้วย แต่ร้อยตำรวจเอกบันลังและผู้เสียหายเบิกความยืนยันตรงกันว่า ขณะออกจากจุดซุ่มไปที่บริเวณหน้ากระท่อมได้เปิดใบหน้า พร้อมแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจับกุมจำเลยแล้ว โดยผู้เสียหายเรียกจำเลยว่า "ม้าง นี่ดาบตำรวจสมชายนะ" ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน พยานโจทก์ทั้งสองเข้ามาอยู่ใกล้กับจำเลยเพียงประมาณ 1 เมตร เฉพาะอย่างยิ่งผู้เสียหายรู้จักจำเลยมาก่อนเป็นอย่างดี และอยู่ในลักษณะเผชิญหน้ากับจำเลย โดยจำเลยเองเบิกความยอมรับว่ารู้จักผู้เสียหายตั้งแต่จำเลยเรียนหนังสืออยู่ชั้นประถมศึกษา เจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ อีกทั้งในชั้นสอบสวนจำเลยก็ให้การไว้ว่า วันเกิดเหตุมีเจ้าพนักงานตำรวจมาที่กระท่อมของจำเลย ขณะนั้นในกระท่อมมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และยาเสพติดให้โทษอยู่ จำเลยกลัวความผิดจึงวิ่งหลบหนี มิได้อ้างเหตุเรื่องเข้าใจผิดว่าเจ้าพนักงานตำรวจเป็นคนร้ายแต่อย่างใด เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นพิจารณา จึงไม่มีน้ำหนักแก่การรับฟัง อีกทั้งวันเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจสามารถยึดอาวุธปืนพกสั้นแบลงค์กัน ขนาด 9 มม. ได้จากจำเลย 1 กระบอก และยึดปลอกกระสุนปืนขนาด .380 จำนวน 1 ปลอก ที่ใช้ยิงจากอาวุธปืนดังกล่าว กับซองอาวุธปืนอีก 1 อัน ตกอยู่ที่พื้นในบริเวณที่เกิดเหตุได้เป็นของกลางด้วย เมื่อในชั้นพิจารณาจำเลยเบิกความยอมรับว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยได้ใช้มือชกต่อยที่บริเวณใบหน้าของผู้เสียหายประมาณ 3 ครั้งจริง สนับสนุนให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าขาดเจตนาในการกระทำความผิด เพราะไม่ทราบว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ และขณะเกิดเหตุจำเลยไม่มีอาวุธปืนนั้น ขัดต่อเหตุผลและขัดกับพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยทราบอยู่แล้วว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ การที่จำเลยใช้มือชกไปที่ใบหน้าผู้เสียหายขณะเข้าจับกุม อันเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยขณะนั้นจำเลยมีอาวุธปืนพกสั้นติดตัวมาด้วย และได้ชักอาวุธปืนดังกล่าวออกมาในขณะต่อสู้ขัดขวางการจับกุม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีหรือใช้อาวุธปืนตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ พยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวเบิกความทำนองเดียวกันว่า หลังจากมีการแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อเข้าจับกุมแล้ว จำเลยได้ชักอาวุธปืนพกสั้นแบลงค์กันซึ่งเหน็บไว้ที่เอวออกมาจ่อเล็งที่ลำตัวของผู้เสียหาย แต่ถูกร้อยตำรวจเอกบันลังกระโดดปัดและกดอาวุธปืนในมือของจำเลยให้วิถีปืนพ้นลำตัวของผู้เสียหาย ทำให้ปืนลั่นขึ้น 1 นัด และต่อมาร้อยตำรวจเอกบันลังสามารถแย่งอาวุธปืนจากจำเลยมาได้ ส่วนจำเลยวิ่งหลบหนีไป เห็นว่า การที่อาวุธปืนของจำเลยลั่นขึ้น 1 นัด ไม่ใช่เกิดจากการยิงของจำเลยโดยตรง แต่เกิดขึ้นในขณะร้อยตำรวจเอกบันลังเข้าไปกดมือและแย่งอาวุธปืนจากจำเลย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงพยายามฆ่าผู้เสียหาย 1 นัด ตามที่โจทก์อ้างในฟ้อง ส่วนที่โจทก์นำสืบว่า ขณะจำเลยชักอาวุธปืนจากเอวออกมาจ่อเล็งไปที่ลำตัวของผู้เสียหาย นิ้วมือของจำเลยสอดอยู่ในโกร่งไกปืนลักษณะพร้อมที่จะยิง อันเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ แล้วนั้น ผู้เสียหายเบิกความว่า ขณะนั้นนิ้วมือของจำเลยสอดอยู่ในโกร่งไกปืนแล้ว แต่ร้อยตำรวจเอกบันลังไม่เบิกความยืนยันว่านิ้วมือของจำเลยสอดอยู่ในโกร่งไกปืนหรือไม่ ดังนี้ จำต้องพิจารณาคำเบิกความของผู้เสียหายด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ ในข้อนี้เห็นว่า ขณะเกิดเหตุพยานโจทก์ทั้งสองออกจากจุดซุ่มเข้าประชิดตัวจำเลยที่บริเวณหน้ากระท่อมอย่างรวดเร็ว จำเลยเพิ่งรู้ตัวว่ามีเจ้าพนักงานตำรวจเข้ามาจับกุมเมื่ออยู่ห่างกันเพียงประมาณ 1 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่ใกล้มาก แม้จำเลยอาจมีเวลาพอที่ชักอาวุธปืนออกจากเอวดังที่พยานโจทก์ทั้งสองปากเบิกความ แต่การเผชิญหน้ากันอย่างปัจจุบันทันด่วนในระยะประชิดตัวเช่นนี้ มีข้อให้น่าระแวงสงสัยว่า จำเลยมีเวลาพอที่จะทันใช้นิ้วมือสอดเข้าไปในโกร่งไกปืนและจ่อเล็งไปที่บริเวณลำตัวของผู้เสียหายในลักษณะพร้อมจะยิงได้จริงหรือไม่ ประกอบกับร้อยตำรวจเอกบันลังซึ่งเข้าแย่งอาวุธปืนจากจำเลยโดยตรง ก็ไม่เบิกความยืนยันว่า ในขณะนั้นนิ้วมือของจำเลยสอดอยู่ในโกร่งไกปืนหรือไม่ จึงไม่อาจรับฟังคำเบิกความของผู้เสียหายในส่วนนี้ได้อย่างสนิทใจ ตามรูปคดีจำเลยอาจชักอาวุธปืนออกจากเอวเพื่อต้องการขู่ผู้เสียหายไม่ให้เข้าจับกุมก็เป็นได้ อีกทั้งจำเลยให้การปฏิเสธในความผิดฐานนี้มาโดยตลอด เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนคำเบิกความของผู้เสียหายให้มีน้ำหนักรับฟังได้โดยมั่นคง พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังมีความสงสัยอยู่ตามสมควรว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามฟ้องจริงหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน สำหรับฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่โต้เถียงเกี่ยวกับความผิดฐานนี้ไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
ส่วนที่จำเลยฎีกาทำนองว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพื่อการค้า แต่เป็นเมทแอมเฟตามีนของผู้ต้องหาอื่นที่เจ้าพนักงานตำรวจนำมากลั่นแกล้งปรักปรำจำเลย นั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ จำเลยมิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงอุทธรณ์เฉพาะความผิดต่อเจ้าพนักงานและความผิดต่อชีวิต ดังนั้น ความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพื่อการค้าจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว การที่จำเลยฎีกาในความผิดฐานนี้ จึงถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 6 เป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีหรือใช้อาวุธปืน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 140 วรรคหนึ่งและวรรคสาม จำคุก 3 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี รวมกับโทษในความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพื่อการค้าตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 อีก 3 กระทงแล้ว เป็นจำคุก 7 ปี 6 เดือน และปรับ 300,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (2) ประกอบมาตรา 80 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6