โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 7584 และ 12115 และสิ่งปลูกสร้างบ้าน 2 ชั้น เลขที่ 82 กับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรืออาคารพาณิชย์ที่จำเลยก่อสร้างขึ้นบนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว หากจำเลยไม่กระทำดังกล่าว ให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะส่งมอบที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์พร้อมทั้งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยก่อสร้างขึ้นบนที่ดินจนเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 7584 และ 12115 และบ้านเลขที่ 82 บนที่ดินโฉนดเลขที่ 7584 กับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรืออาคารพาณิชย์ที่ก่อสร้างในที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวและชำระค่าเสียหายเดือนละ 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะส่งมอบที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวและรื้อถอนจนเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2558 จำเลยทำสัญญาขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 7585 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 82 และที่ดินโฉนดเลขที่ 12115 รวมราคาที่ขายฝาก 73,000,000 บาท ไว้กับโจทก์ กำหนดเวลาไถ่ถอนภายใน 1 ปี และสินไถ่ 82,855,000 บาท เมื่อครบกำหนดเวลาไถ่ จำเลยไม่ได้ไถ่ทรัพย์ซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า โจทก์ตกลงขยายกำหนดเวลาไถ่ออกไป 1 ปี ให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินซึ่งขายฝากมีกำหนดเวลาไถ่ภายใน 1 ปี ซึ่งจำเลยต้องชำระเงินค่าสินไถ่ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาภายในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2559 แม้หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบว่า ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดชำระเงินค่าสินไถ่ นางปุญชรัศมิ์ได้นัดหมายกับนางสาวสิริลักษณ์รับประทานอาหารกลางวันร่วมกันที่ร้านอาหารภายในคริสตัลดีไซน์เซ็นเตอร์และพูดคุยกับนางสาวสิริลักษณ์เรื่องขยายระยะเวลาการขายฝาก และนางสาวสิริลักษณ์ยินยอมขยายกำหนดเวลาไถ่ให้ 1 ปี แต่การขยายกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากแม้กฎหมายมิได้บังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงแต่อย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ จึงจะบังคับกันได้ ดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 496 ซึ่งวรรคหนึ่งบัญญัติว่า "กำหนดเวลาไถ่นั้น อาจทำสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่ได้..." และวรรคสองบัญญัติว่า "การขยายกำหนดเวลาไถ่ตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือผู้รับไถ่..." เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการขยายเวลาไถ่โดยทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์เป็นผู้รับไถ่ไว้โดยผู้แทนของโจทก์ตามความประสงค์ของนิติบุคคลซึ่งย่อมแสดงออกโดยผู้แทนนิติบุคคล ทั้งนี้ตามข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งจะได้กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 กรณีการทำหลักฐานเป็นหนังสือในการขยายกำหนดเวลาไถ่ จึงเป็นสาระสำคัญในการขยายกำหนดเวลาไถ่ มิฉะนั้นไม่อาจบังคับกันได้ หาใช่เป็นเพียงแบบพิธีที่ต้องทำกันภายหลังครบกำหนดเวลาขายฝากได้ดังที่จำเลยฎีกาไม่ และแม้จำเลยนำสืบว่านางปุญชรัศมิ์ได้ติดต่อกับนางสาวสิริลักษณ์ทางแอปพลิเคชันไลน์ ซึ่งมีข้อความที่นางปุญชรัศมิ์ขอไปพบนางสาวสิริลักษณ์เพื่อทำสัญญาและจะนำของขวัญเป็นเครื่องประดับที่เป็นเข็มกลัดไปมอบให้นางสาวสิริลักษณ์ที่ให้โอกาสต่อสัญญาอีก 1 ปี ก็เป็นข้อความที่เกิดจากการส่งข้อความของนางปุญชรัศมิ์แต่ฝ่ายเดียว โดยที่นางสาวสิริลักษณ์ซึ่งเป็นประธานกรรมการของโจทก์มิได้ตอบรับหรือปฏิเสธ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการสนทนาโดยการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่จะต้องนำพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาตรา 8 ที่บัญญัติให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือมีเอกสารมาแสดงแล้วมาใช้บังคับ ดังนั้น เมื่อครบกำหนดเวลาไถ่จำเลยไม่ได้ชำระสินไถ่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินซึ่งขายฝากจึงไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 492 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยยังคงครอบครองใช้ประโยชน์ทรัพย์สินซึ่งขายฝากทำให้โจทก์เสียหายจึงเป็นการทำละเมิด การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยจึงมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามลำดับ และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งมาตรา 7 ที่แก้ไขใหม่วรรคหนึ่งบัญญัติว่า "ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี" และมาตรา 224 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า "หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น" และโดยที่มาตรา 6 และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายเดือนละ 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2559 อันเป็นวันผิดนัดนั้น จึงตกอยู่ในบังคับแห่งพระราชกำหนดดังกล่าวโดยอัตราดอกเบี้ยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2559 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 ยังคงเป็นอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ส่วนอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี แม้ปัญหานี้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) และมาตรา 225 วรรคสอง ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยของต้นเงิน 80,000 บาท ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2559 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะส่งมอบที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและรื้อถอนจนเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ