โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าสาธารณูปโภคส่วนกลาง ค่าเบี้ยปรับชำระล่าช้า และค่าบอกกล่าวทวงถาม รวมเป็นเงิน 66,724.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 60,476.80 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 42,498.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 เมษายน 2562) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นศาลละ 3,000 บาท รวม 6,000 บาท
จำเลยฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 จำเลยเป็นสมาชิกของโจทก์โดยเป็นเจ้าของบ้านและที่ดินตามฟ้องคือ บ้านเลขที่ 59/248 ซึ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 66798 เนื้อที่ดิน 72 เศษ 1 ส่วน 10 ตารางวา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2556 โจทก์จัดประชุมใหญ่วิสามัญสมาชิกครั้งที่ 1/2556 แล้วมีมติให้จัดเก็บค่าสาธารณูปโภคส่วนกลาง 28 บาท ต่อตารางวา ต่อเดือน โดยจัดเก็บเป็นรายปีครั้งเดียวมีผลใช้บังคับตั้งแต่งวดการจัดเก็บรอบเดือนมกราคม 2557 เป็นต้นไป จำเลยต้องชำระค่าสาธารณูปโภคส่วนกลางตามมติดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยคำนวณตามเนื้อที่ดินปีละ 24,225.60 บาท จำเลยชำระค่าสาธารณูปโภคส่วนกลางสำหรับปี 2560 บางส่วน จำนวน 12,025.60 บาท และปี 2561 ชำระบางส่วนจำนวน 10,997.44 บาท และค่าปรับล่าช้า 1,202.56 บาท คงค้างค่าสาธารณูปโภคส่วนกลางสำหรับปี 2560 และปี 2561 บางส่วนกับปี 2562 โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า มติที่ประชุมใหญ่วิสามัญสมาชิกครั้งที่ 1/2556 ที่ให้จัดเก็บเงินค่าสาธารณูปโภคส่วนกลางเป็นรายปีแตกต่างจากพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 49 ที่กำหนดให้สมาชิกชำระเงินค่าสาธารณูปโภคเป็นรายเดือน มีผลใช้บังคับหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาสรุปว่า พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน บัญญัติขึ้นมาเพื่อกำหนดระเบียบข้อบังคับให้สมาชิกที่ซื้อที่ดินหมู่บ้านจัดสรรได้อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข ดังนั้น การที่โจทก์มีมติกำหนดให้สมาชิกจ่ายค่าสาธารณูปโภคเป็นรายปีครั้งเดียวขัดต่อพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้จัดเก็บค่าสาธารณูปโภคเป็นรายเดือนโดยไม่เปิดช่องให้จำเลยเลือกชำระค่าสาธารณูปโภคตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 49 กำหนดไว้ข้อบังคับของโจทก์จึงขัดต่อกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 เห็นว่า พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ให้อำนาจโจทก์ในฐานะนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคในส่วนที่โจทก์มีหน้าที่บำรุงรักษาจากสมาชิก การจัดเก็บค่าสาธารณูปโภคของโจทก์จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 เมื่อพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติ "ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการการสาธารณูปโภค ให้จัดเก็บเป็นรายเดือน..." โดยวรรคท้ายบัญญัติว่า "หลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคและการจัดทำบัญชีให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางกำหนด" และตามระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่าย หลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคและการจัดทำบัญชี พ.ศ. 2545 ข้อ 6 ถึงข้อ 8 ล้วนแต่กำหนดให้การกำหนดอัตราค่าใช้จ่าย การกำหนดวันเก็บค่าใช้จ่าย การกำหนดค่าปรับในกรณีที่ค้างชำระ การออกใบเสร็จรับเงิน และการจัดทำบัญชี จัดทำเป็นรายเดือน โจทก์จึงต้องจัดเก็บค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดเก็บการสาธารณูปโภคเป็นรายเดือนตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 และเมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้ซื้อที่ดินจัดสรรอันถือเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การที่โจทก์มีมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญสมาชิกครั้งที่ 1/2556 ให้จัดเก็บเงินค่าสาธารณูปโภคส่วนกลางเป็นรายปีครั้งเดียวแตกต่างจากที่พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 บัญญัติไว้ มติของโจทก์ดังกล่าวจึงแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 มติของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับได้ เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว แม้จำเลยไม่ชำระค่าสาธารณูปโภคส่วนกลางเป็นรายปีโจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยได้ เมื่อจำเลยชำระเงินค่าสาธารณูปโภคให้แก่โจทก์แล้วเป็นเงิน 24,225.60 บาท จำเลยจึงยังคงต้องรับผิดชำระค่าสาธารณูปโภคส่วนกลางที่ค้างชำระแก่โจทก์จำนวน 36,251.20 บาท
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 โดยผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 และมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิมและบัญญัติให้ใช้ความใหม่ว่า ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายโดยชัดแจ้งให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี...และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 224 เดิม แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และบัญญัติให้ใช้ความใหม่ว่า หนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี...และพระราชกำหนดดังกล่าวมาตรา 7 บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติตาม มาตรา 224 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามกฎหมายเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 เมื่อจำเลยต้องชำระเงินค่าสาธารณูปโภคอันเป็นหนี้เงินแก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ แต่ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนไปบวกด้วยอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่ แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ ส่วนดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องคือวันที่ 2 เมษายน 2562 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 โจทก์ยังคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 เดิม ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 36,251.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 เมษายน 2562) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยการคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปนั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนไปบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ