คดีสืบเนื่องมาจากผู้คัดค้านแจ้งให้สหกรณ์เคหสถานนายเรืออากาศ จำกัดและผู้ร้องคืนเงินทดรองจ่ายค่ามัดจำที่ดิน 63,000,000 บาท แก่ผู้คัดค้านพร้อมดอกเบี้ยแต่สหกรณ์ฯ และผู้ร้องปฏิเสธหนี้ ผู้คัดค้านสอบสวนแล้ว มีคำสั่งจำหน่ายชื่อสหกรณ์ฯและผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้ นางสุวรรณา จรรยาชัยเลิศ เจ้าหนี้ รายที่ 33 และลูกหนี้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งกลับความเห็นของผู้คัดค้านและให้สหกรณ์ฯ กับผู้ร้องชำระเงิน 63,000,000 บาท ตามหนังสือทวงถามของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2538 แก้ไขคำสั่งของผู้คัดค้าน โดยให้ผู้ร้องชดใช้เงิน 38,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 25,000,000 บาท นับแต่วันที่ 15 มีนาคม 2528 และในต้นเงิน 13,000,000บาท นับแต่วันที่ 16 เมษายน 2528 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ คดีถึงที่สุด หลังจากนั้นผู้คัดค้านมีหนังสือยืนยันให้ผู้ร้องชำระเงินจำนวนดังกล่าว
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้อง ขอให้มีคำสั่งจำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้ของลูกหนี้
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ให้ผู้ร้องชำระเงินแก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือยืนยันหนี้
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษากลับให้ผู้คัดค้านจำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้ของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119 วรรคสอง
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการแรกว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันที่ 6 ธันวาคม 2538ที่แก้คำสั่งของผู้คัดค้าน โดยให้ผู้ร้องชดใช้เงิน 38,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ มีผลผูกพันผู้ร้องให้ต้องปฏิบัติตามหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวเนื่องมาจากผู้คัดค้านแจ้งให้ผู้ร้องทราบว่าผู้ร้องเป็นหนี้ลูกหนี้ แต่ผู้ร้องปฏิเสธหนี้ ผู้คัดค้านสอบสวนแล้ว มีคำสั่งให้จำหน่ายชื่อผู้ร้องจากบัญชีลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119 วรรคสอง เจ้าหนี้รายที่ 33และลูกหนี้ยื่นคำร้องว่าตนได้รับความเสียหายจากคำสั่งของผู้คัดค้านดังกล่าว ขอให้ศาลมีคำสั่งกลับความเห็นของผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146 ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและอ้างผู้ร้องเป็นพยาน ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ร้องยังคงเป็นหนี้ลูกหนี้อยู่และมีคำสั่งให้แก้คำสั่งของผู้คัดค้านดังกล่าว คำสั่งนี้จึงเป็นคำสั่งที่วินิจฉัยว่าคำสั่งของผู้คัดค้านไม่ถูกต้องและมีผลเท่ากับผู้คัดค้านมีความเห็นว่า ผู้ร้องเป็นหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119 วรรคสอง ผู้คัดค้านต้องปฏิบัติตามคือต้องแจ้งจำนวนหนี้ยืนยันให้ผู้ร้องทราบ และต้องแจ้งไปด้วยว่าถ้าจะคัดค้านให้ร้องคัดค้านต่อศาลภายใน 14 วัน ซึ่งผู้คัดค้านได้แจ้งให้ผู้ร้องทราบแล้ว ผู้ร้องจึงมายื่นคำร้องคัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119 วรรคสาม เป็นคดีนี้มาตราดังกล่าวบัญญัติให้ศาลพิจารณาจนเป็นที่พอใจว่าผู้ร้องเป็นหนี้หรือไม่ การที่ศาลจะพิจารณาจนเป็นที่พอใจได้นั้น ผู้ร้องสามารถนำพยานหลักฐานเข้าสืบว่ามิได้เป็นหนี้ได้ อีกทั้งในการพิจารณาคดีที่ขอให้แก้คำสั่งของผู้คัดค้านนี้ ผู้ร้องไม่ได้เข้ามาเป็นคู่ความ คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ผูกพันผู้ร้องให้ต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใดฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านต่อไปมีว่าผู้ร้องเป็นหนี้ลูกหนี้หรือไม่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า เช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาปากเกร็ด ลงวันที่ 15 มีนาคม 2528 สั่งจ่ายเงิน 25,000,000 บาท และเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาถนนจันทร์ ลงวันที่ 16 เมษายน 2528 สั่งจ่ายเงิน13,000,000 บาท เป็นเช็คผู้ถือและลูกหนี้เป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายและผู้ร้องเป็นผู้รับเงินตามเช็คทั้งสองฉบับไป มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่คู่ความโต้แย้งกันว่า ผู้ร้องรับเช็คทั้งสองฉบับไปจากลูกหนี้ หรือจากนางพอใจ ช.เจริญยิ่ง ได้ความจากคำเบิกความของผู้ร้องว่า ในการจัดทำโครงการมีผู้อยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับการพิจารณาให้ดำเนินโครงการ 2 ราย คือ ลูกหนี้และนางพอใจ และการซื้อที่ดินมาเพื่อพัฒนานั้น ลูกหนี้และนางพอใจเกรงว่าจะมีปัญหาและผู้ขายที่ดินจะไม่เชื่อฐานะของตน จึงได้นำเงินมาฝากไว้ที่ผู้ร้องและนำใบรับเงินไปแสดงต่อผู้ขายโดยลูกหนี้นำเงินมาฝากไว้ 25,000,000 บาท ผู้ร้องออกใบรับเงินให้ตามเอกสารหมาย ร.7 (ค.23) และนางพอใจนำมาฝากไว้ 38,000,000 บาท โดยเป็นเช็ค 2 ฉบับ ฉบับแรกเป็นเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาปากเกร็ด ลงวันที่ 15 มีนาคม 2528 สั่งจ่ายเงิน 25,000,000 บาท ตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย ร.9 (ค.5) ฉบับที่ 2 เป็นเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาถนนจันทร์ ลงวันที่ 16 เมษายน 2528 สั่งจ่ายเงิน 13,000,000 บาท ตามเช็คเอกสารหมาย ร.8 (ค.27) และผู้ร้องได้ออกใบรับเงินให้ ตามสำเนาใบรับเงินเอกสารหมาย ร.18 และ ร.19 (ค.11 แผ่นที่ 1 และแผ่นที่ 2) และผู้ร้องได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินได้แล้วและได้ความจากคำเบิกความของนางพอใจว่า นางพอใจทราบว่าสหกรณ์เคหสถานนายเรืออากาศ จำกัด มีความต้องการที่จะซื้อที่ดินจึงไปพบผู้ร้องและเพื่อให้เป็นที่เชื่อถือของผู้ร้องจึงได้มอบเช็คผู้ถือ 2 ฉบับ เป็นเงินรวม 38,000,000 บาท ตามเอกสารหมาย ร.8 และ ร.9 (ค.27 และ ค.5) ให้ผู้ร้องและผู้ร้องได้ออกใบรับให้ ตามเอกสารหมาย ร.18 และ ร.19 (ค.11 แผ่นที่ 1 และ แผ่นที่ 2) เช็คทั้งสองฉบับดังกล่าวพยานได้มาจากการเล่นแชร์แม่ชม้อยโดยนางเล็กนำมาให้ แต่นางพอใจจำไม่ได้ว่าขณะที่มอบเช็คให้ผู้ร้องนางพอใจได้เขียนข้อความหลังเช็คหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า เช็คที่นางพอใจนำมามอบให้ผู้ร้องแม้เป็นเช็คผู้ถือแต่ก็เป็นเช็คที่ลูกหนี้ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่าย เมื่อนางพอใจอ้างว่าเป็นเช็คที่ได้มาจากการเล่นแชร์แม่ชม้อย โดยนางเล็กนำมามอบให้ผู้ร้องก็น่าจะนำสืบให้ปรากฏเช่นนั้น แต่ผู้ร้องมิได้นำนางเล็กมาสืบอีกทั้งเมื่อผู้ร้องได้ออกใบรับเช็คให้นางพอใจแล้ว เหตุใดด้านหลังเช็คทั้งสองฉบับจึงได้บันทึกไว้อีกว่า วางมัดจำค่าที่ดินสหกรณ์นายเรืออากาศ ข้อความที่บันทึกไว้ด้านหลังเช็คทั้งสองฉบับนี้สอดคล้องกับคำเบิกความของลูกหนี้ว่า ในการจ่ายเงินให้ผู้ร้องงวดที่สองจำนวน 25,000,000 บาท ผู้ร้องไม่ออกใบรับให้ จึงเขียนข้อความดังกล่าวไว้ด้านหลังเช็ค ซึ่งเมื่อพิจารณาสีน้ำหมึกและลายมือที่เขียนข้อความด้านหลังเช็คกับสีน้ำหมึกและลายมือที่เขียนด้านหน้าเช็คเอกสารหมาย ร.8 (ค.27) เห็นว่า มีสีน้ำหมึกและลายมือเขียนคล้ายคลึงกันพยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านนำสืบมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าพยานหลักฐานของผู้ร้องข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่ผู้คัดค้านนำสืบว่าผู้ร้องรับเงิน 38,000,000 บาท ไปจากลูกหนี้ เพื่อดำเนินการซื้อที่ดินให้แก่โครงการพัฒนาที่ดินและก่อสร้างบ้านพักของสหกรณ์เคหสถานนายเรืออากาศ จำกัด แต่ต่อมาภายหลังไม่ได้มีการดำเนินการตามโครงการนี้ ผู้ร้องจึงต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้ลูกหนี้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามคำแก้ฎีกาของผู้ร้องว่า คดีขาดอายุความหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า อายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(16) นั้น ต้องเป็นเงินทดรองจ่ายที่ทนายความหรือผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย รวมทั้งพยานผู้เชี่ยวชาญเรียกเอาค่าการงานที่ทำให้รวมทั้งเงินที่ออกทดรองไป ดังนั้น จะนำเอาอายุความ 2 ปี มาใช้กับคดีนี้ไม่ได้ และอายุความในกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อผู้ร้องนำเช็คลงวันที่ 15 มีนาคม 2528 และวันที่ 16 เมษายน 2528 ของลูกหนี้ ไปเรียกเก็บเงินได้แล้ว อายุความที่ลูกหนี้จะเรียกเงินคืนเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป อายุความ 10 ปี จึงครบกำหนดวันที่ 15 มีนาคม 2538 และวันที่ 16 เมษายน 2538 ตามลำดับ และผู้คัดค้านในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งความเป็นหนังสือไปยังผู้ร้องให้ชำระเงินคืนแก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง นั้น เป็นการบังคับตามสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ซึ่งผู้คัดค้านในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจกระทำได้ โดยไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาลถือได้ว่าเป็นการกระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดีอันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(5) แล้วมิใช่ว่าต้องรอให้มีการออกหนังสือยืนยันหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119 วรรคสอง เสียก่อน จึงจะถือว่าเป็นการกระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดีดังความเห็นของผู้ร้อง เมื่อผู้คัดค้านมีหนังสือทวงถามให้ผู้ร้องชำระเงินฉบับลงวันที่ 26 มีนาคม 2533 และผู้ร้องได้รับแล้วยังไม่เกิน 10 ปี คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ สำหรับที่ผู้ร้องเห็นว่า คดีนี้ผู้คัดค้านในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีความเห็นว่า ผู้ร้องไม่ได้เป็นหนี้และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีแล้ว ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 และ 193/18 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คำสั่งของผู้คัดค้านยังไม่ถึงที่สุดเนื่องจากเจ้าหนี้รายที่ 33 และลูกหนี้ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของผู้คัดค้าน และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งแก้ไขคำสั่งของผู้คัดค้านโดยวินิจฉัยว่าผู้ร้องยังคงเป็นหนี้อยู่ อันมีผลให้ผู้คัดค้านต้องมีหนังสือแจ้งจำนวนหนี้ยืนยันให้ผู้ร้องชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119 วรรคสอง อายุความจึงยังคงสะดุดหยุดลงจะนำเอา มาตรา 193/17 และ 193/18 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้แก่คดีนี้ ตามความเห็นของผู้ร้องหาได้ไม่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้ของลูกหนี้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้คัดค้านฟังขึ้น"
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำสั่งศาลชั้นต้น