โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามสมคบกันพิมพ์และจำหน่ายหนังสือซึ่งจำเลยที่ 1 แต่งขึ้น ชื่อ " ในหลวงอานันทมหิดลกับคดีลอบปลงพระชนม์ " พิมพ์ครั้งแรกและครั้งที่สองเมื่อ พ.ศ. 2517 และครั้งที่สามเมื่อ พ.ศ. 2520 ข้อความในหนังสือดังกล่าวหลายตอนมีข้อความเป็นการใส่ความโจทก์ว่า โจทก์เป็นผู้ใช้ปืนยิงหรือสมคบกับผู้อื่นปลงพระชนม์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นการโฆษณาและประกาศแก่คนทั่วไปให้ฆ่าโจทก์ และทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 85, 288, 326, 328
ศาลอาญาไต่สวนมูลฟ้องโดยสืบพยานโจทก์ได้ 1 ปาก มีคำสั่งให้งดการไต่สวนมูลฟ้อง แล้วพิพากษาว่า คดีอยู่ในอำนาจศาลทหาร ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า
ประการแรกโจทก์ฎีกาว่า เมื่อศาลอาญามีคำสั่งว่านัดไต่สวนมูลฟ้องก็แสดงว่าศาลอาญาได้สั่งรับคำฟ้องไว้ไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ควรจะต้องวินิจฉัยต่อไปว่าฟ้องโจทก์มีมูลหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ศาลได้รับคำฟ้องไว้เพื่อไต่สวนมูลฟ้องนั้นไม่จำเป็นจะต้องสืบพยานหรือวินิจฉัยว่า ฟ้องมีมูลหรือไม่เสมอไป ถ้าศาลเห็นว่าไม่ควรรับฟ้องของโจทก์ไว้ไต่สวนมูลฟ้อง เพราะเป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ชอบที่จะงดการไต่สวนมูลฟ้องและพิพากษายกฟ้องได้
ประการที่สองโจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาหรือฐานความผิดโดยระบุว่า จำเลยโฆษณาแก่บุคคลทั่วไปให้ทำลายชีวิตโจทก์และหมิ่นประมาทความผิดสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 คือการประทุษร้ายต่อชีวิตโจทก์ยังไม่เกิดขึ้น และไม่ใช่เจตนาของโจทก์ที่จะฟ้องตามมาตรา 288ที่ใส่มาตรานี้ลงไปในคำขอท้ายฟ้องก็เพื่อให้ศาลเห็นว่าความผิดตามมาตรา 85 นั้น ต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลอาญาศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยโฆษณาหรือประกาศให้บุคคลอื่นประทุษร้ายโจทก์ และมีคำขอท้ายฟ้องอ้างมาตรา 288 มาด้วย ย่อมต้องถือว่าโจทก์มีความประสงค์ให้ลงโทษตามมาตรานี้ ส่วนมาตรา 85 นั้น เมื่อจะนำมาใช้ก็ต้องโยงไปประกอบมาตรา 85 อยู่ดี และเมื่อเหตุคดีนี้เกิดต่อเนื่องกันมาระหว่างที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 และคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ข้อหาที่โจทก์ฟ้องมีลักษณะเป็นความผิดต่อชีวิตตามมาตรา 288 ดังที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายประกาศของคณะปฏิวัติและท้ายคำสั่งของคณะปฏิรูปให้อยู่ในอำนาจของศาลทหารที่จะพิจารณาพิพากษา คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญา
ประการสุดท้ายโจทก์ฎีกาว่า เมื่อมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว ประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิวัติหรือคณะปฏิรูปต้องเลิกใช้ทันที เพราะเป็นการเหยียบย่ำอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อคณะปฏิวัติหรือคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติหรือหัวหน้าคณะปฎิรูปการปกครองแผ่นดินย่อมมีอำนาจที่จะออกประกาศหรือคำสั่งอันถือว่าเป็นกฎหมายใช้บังคับแก่ประชาชนทั่วไปได้ แม้จะมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยออกประกาศใช้แล้วก็ตาม แต่เมื่อไม่มีบทกฎหมายยกเลิกประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิวัติหรือคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินดังกล่าวแล้ว ประกาศหรือคำสั่งนั้นจึงยังเป็นกฎหมายใช้บังคับอยู่
พิพากษายืน