โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงิน 10,000,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,556,476 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 17 กรกฎาคม 2563) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง (ที่ถูก โจทก์) โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดเฉพาะในส่วนค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในส่วนนี้จำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ได้รับการยกเว้นนั้นให้จำเลยทั้งสามนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 17 กรกฎาคม 2563) ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กับให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ และให้คืนค่าส่งคำคู่ความแก่โจทก์จำนวน 1,540 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการสวนสัตว์ โดยเก็บค่าบริการเข้าชมสัตว์จากนักท่องเที่ยวใช้ชื่อว่า สวนสัตว์ ห. มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการประกันภัยสำหรับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของนักท่องเที่ยวเนื่องจากอุบัติเหตุจากสัตว์ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 เวลา 10.30 นาฬิกา โจทก์กับนายราฟี กับนางราเชล บิดาและมารดาไปเที่ยวที่สวนสัตว์ ห. ของจำเลยที่ 1 ระหว่างที่เที่ยวชม ประตูกรงเสือเปิดออกทำให้เสือหลุดออกจากกรงมากัดที่ศีรษะและใบหน้าของโจทก์จนได้รับบาดเจ็บ เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการเลี้ยงดูเสือซึ่งเป็นสัตว์ดุร้าย ความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยุติไปตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาเพียงประการเดียวว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ นั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องในทำนองว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้เลี้ยงดูและเป็นเจ้าของเสือจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในค่ารักษาพยาบาลโจทก์ก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 เป็นเพียงกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการอันอยู่ในฐานะผู้แทนจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 วรรคหนึ่ง การมีเสือไว้ในครอบครองและดูแลรักษาก็เพื่อใช้ในกิจการตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งแสดงออกโดยจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 วรรคสอง และเหตุเกิดขึ้นที่สวนสัตว์อันเป็นกิจการจำเลยที่ 1 ทั้งตามพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบก็ได้ความว่า มีพนักงานของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแลเสือดังกล่าวโดยเฉพาะโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 เข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะผู้รับเลี้ยงเสือด้วยแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 คงมีความเกี่ยวข้องในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1167 มิได้เลี้ยงหรือดูแลเสือโดยตรง จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดูแลสัตว์หรือรับเลี้ยงรับรักษาสัตว์ไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 433 อันจะก่อให้เกิดหน้าที่และความรับผิดแก่จำเลยที่ 2 แต่อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กระทำการใดนอกขอบวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลยที่ 1 อันจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเป็นการส่วนตัว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ในฐานะส่วนตัวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ