ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจสอบสวนคดีเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต: การส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
แม้ขณะจำเลยกระทำความผิดอยู่ในบังคับใช้ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 ก็ตาม แต่ ศ. เจ้าพนักงานตำรวจกองตรวจคนเข้าเมือง 2 ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดอนเมืองเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2543 ซึ่งขณะนั้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ใช้บังคับแล้ว การสอบสวนจำเลยจึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อ พ.ร.บ. นั้นไม่มีมาตราใดบัญญัติให้พนักงานสอบสวนซึ่งรับคำร้องทุกข์ไว้มีอำนาจสอบสวนได้ แต่มาตรา 89 บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีผู้เสียหายได้ร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่บุคคลตามมาตรา 66 อันเนื่องมาจากได้กระทำการตามมาตรา 88 ให้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษเพื่อจะดำเนินการตามบทบัญญัติในหมวดนี้ ในการนี้หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมิใช่กรณีตามมาตรา 88 ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องกลับไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตาม ป.วิ.อ. ต่อไป" ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดอนเมืองจึงต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาตามบทบัญญัติดังกล่าว การสอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยของคณะอนุกรรมการไต่สวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งจึงชอบด้วยกฎหมายและการที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดอนเมืองไม่ได้สอบสวน จึงไม่มีผลทำให้การสอบสวนและการฟ้องคดีนี้ของโจทก์เป็นไปโดยไม่ชอบ