โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 31, 61, 70, 75, 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 ริบของกลาง และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
ระหว่างพิจารณา บริษัท ต. ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต และโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดลิขสิทธิ์ จำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ และให้การในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วม ขอให้ยกคำร้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ให้ลงโทษปรับ 50,000 บาท กับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (วันที่ 16 สิงหาคม 2564) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระแก่โจทก์ร่วมเสร็จสิ้น ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ ริบของกลาง ให้จ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ทั้งสองชั้นศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศญี่ปุ่นตลอดระยะเวลาในการสร้างสรรค์งานและเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในฐานะผู้สร้างสรรค์งานศิลปกรรม ลักษณะงานจิตรกรรมตัวการ์ตูนชื่อ มังกี้ ดี. ลูฟี่ (Monkey D. Luffy) ในชุดวันพีซ (One Piece) ซึ่งได้โฆษณางานครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2542 โจทก์ร่วมมอบอำนาจให้บริษัท ด. เป็นตัวแทนในการปกป้องและบังคับใช้สิทธิที่เกี่ยวกับการ์ตูนวันพีซ ให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ บริษัท ด. มอบอำนาจช่วงให้บริษัท น. และบริษัท น. มอบอำนาจช่วงให้แก่นายณัฐวรรธน์หรือนายสุริยา จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร้าน อ. และเป็นเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก ชื่อเพจ อ. เสื้อกีฬาพิมพ์ลาย จำเลยที่ 1 ได้โฆษณาภาพเสื้อกีฬาที่มีลายการ์ตูนมังกี้ ดี. ลูฟี่ ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมในเพจดังกล่าว เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 นายวรวุฒิ ทีมงานของนายณัฐวรรธน์หรือสุริยา ซึ่งใช้ชื่อในเฟซบุ๊กว่า T. ได้ติดต่อเพจ อ. เสื้อกีฬาพิมพ์ลาย ของจำเลยที่ 1 และว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ผลิตเสื้อกีฬาที่มีลายการ์ตูนมังกี้ ดี. ลูฟี่ จำนวน 12 ตัว ราคาตัวละ 250 บาท ค่าจัดส่ง 100 บาท รวมเป็นเงิน 3,100 บาท โดยได้โอนเงินมัดจำจำนวน 1,000 บาท ไปที่บัญชีธนาคาร ท. ชื่อบัญชี อ. เสื้อกีฬาพิมพ์ลาย และโอนเงินส่วนที่เหลือจำนวน 2,100 บาท ไปยังบัญชีดังกล่าวด้วย จากนั้นจำเลยที่ 1 ผลิตเสื้อกีฬาให้ตามคำสั่งของนายวรวุฒิ และส่งไปให้แก่นายณัฐวรรธน์หรือสุริยา โดยปรากฏชื่อผู้ส่งที่กล่องสินค้าว่า ร้าน อ. ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นร้าน อ. ของจำเลยที่ 1 พบใบสั่งงานออกแบบเสื้อกีฬาพิมพ์ลายที่มีข้อความว่า รูปวันพีซอยู่ที่ด้านหน้าของภาพเสื้อ และปรากฏภาพการออกแบบเสื้อกีฬาที่มีลายการ์ตูนมังกี้ ดี. ลูฟี่ อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ภายในร้าน กับเอกสารการสั่งผลิตเสื้อกีฬาที่มีลายการ์ตูนดังกล่าวจากลูกค้ารายอื่นของจำเลยที่ 1 สำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 โจทก์และโจทก์ร่วมไม่ได้อุทธรณ์และฎีกา คดีจึงฟังเป็นยุติไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ดังที่ โจทก์ฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้นายวรวุฒิซึ่งเป็นทีมงานของนายณัฐวรรธน์หรือสุริยา ผู้รับมอบอำนาจช่วงของบริษัท น. จะเป็นผู้สั่งให้จำเลยที่ 1 ผลิตเสื้อกีฬาที่มีลายการ์ตูนมังกี้ ดี. ลูฟี่ ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม แต่เมื่อพิจารณาบทสนทนาเกี่ยวกับการสั่งผลิตเสื้อกีฬาแล้วได้ความว่า ภาพตัวอย่างเสื้อกีฬาที่มีลายการ์ตูนมังกี้ ดี. ลูฟี่ ซึ่งนายวรวุฒินำมาใช้เป็นตัวอย่างในการสั่งผลิตเสื้อกีฬานั้นเป็นภาพตัวอย่างเสื้อกีฬาที่ปรากฏอยู่ในหน้าเพจเฟซบุ๊ก อ. เสื้อกีฬาพิมพ์ลายของจำเลยที่ 1 เอง โดยในบทสนทนาดังกล่าว นายวรวุฒิแจ้งว่าเอาแบบเดิมแต่ให้ใส่คำว่า T. ซึ่งเป็นชื่อเฟซบุ๊กของนายวรวุฒิที่ด้านหน้าเสื้อตรงกลาง และให้ใส่ข้อความที่ด้านหลังเสื้อด้วย โดยนายวรวุฒิไม่ได้กล่าวถึงลายการ์ตูนมังกี้ ดี. ลูฟี่ แต่อย่างใด ร้าน อ. เสื้อกีฬาพิมพ์ลาย ออกแบบข้อความที่ด้านหน้าและด้านหลังเสื้อกีฬาเสร็จแล้วส่งแบบเสื้อกีฬาซึ่งยังคงมีลายการ์ตูนมังกี้ ดี. ลูฟี่ ตามแบบภาพตัวอย่างเสื้อกีฬาที่ปรากฏอยู่ในหน้าเพจเฟซบุ๊กร้าน อ. เสื้อกีฬาพิมพ์ลายให้นายวรวุฒิดู เมื่อนายวรวุฒิตกลงและโอนเงินค่าเสื้อกีฬาส่วนที่เหลือให้ ร้าน อ. เสื้อกีฬาพิมพ์ลายก็ผลิตเสื้อกีฬาตามแบบดังกล่าวส่งให้แก่นายณัฐวรรธน์หรือสุริยา ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 เคยผลิตเสื้อกีฬาที่มีลายการ์ตูนมังกี้ ดี. ลูฟี่ ให้แก่ลูกค้ารายอื่นมาแล้ว ตามใบสั่งงานออกแบบเสื้อกีฬาพิมพ์ลายที่มีข้อความว่า รูปวันพีซ อยู่ที่ด้านหน้าของภาพเสื้อ และปรากฏภาพการออกแบบเสื้อกีฬาที่มีภาพลายการ์ตูนมังกี้ ดี. ลูฟี่ อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ภายในร้าน อ. ของจำเลยที่ 1 กับเอกสารการสั่งผลิตเสื้อกีฬาที่มีลายการ์ตูนดังกล่าวจากลูกค้ารายอื่นของจำเลยที่ 1 ก่อนที่นายวรวุฒิจะสั่งให้จำเลยที่ 1 ผลิตเสื้อกีฬา ซึ่งภาพเสื้อกีฬาบางภาพก็มีลายการ์ตูนมังกี้ ดี. ลูฟี่ เหมือนกับภาพตัวอย่างเสื้อกีฬาที่ปรากฏอยู่ในหน้าเพจเฟซบุ๊กร้าน อ. เสื้อกีฬาพิมพ์ลายที่มีนายวรวุฒิใช้เป็นตัวอย่างในการสั่งผลิตเสื้อกีฬาด้วย จำเลยที่ 1 ไม่นำสืบหักล้างพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมในส่วนนี้ แต่กลับได้ความจากจำเลยที่ 1 เบิกความตอบคำถามค้านโจทก์ยอมรับว่า ตามเอกสารหมาย จ.5 เป็นภาพเพจเฟซบุ๊ก อ. เสื้อกีฬาพิมพ์ลายของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีภาพเสื้อกีฬาที่มีลายการ์ตูนวันพีซอีกลายหนึ่งด้วย โดยแบบเสื้อกีฬาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้นำมาลงในเพจเฟซบุ๊กอยู่ก่อนแล้ว ส่วนภาพเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีลายการ์ตูนวันพีซปรากฏอยู่ตามเอกสารหมาย จ.16 เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ตั้งอยู่ที่ร้าน อ. เสื้อกีฬาพิมพ์ลายของจำเลยที่ 1 และภาพเสื้อกีฬาตามเอกสารหมาย จ.16 เป็นเสื้อกีฬาที่มีลูกค้ารายอื่นสั่งซื้อโดยปรากฏภาพลายการ์ตูนวันพีซเช่นเดียวกับที่นายวรวุฒิสั่งซื้อ จากพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่โฆษณาภาพตัวอย่างเสื้อกีฬาที่มีลายการ์ตูนมังกี้ ดี. ลูฟี่ ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมไว้เพื่อให้ลูกค้าสามารถสั่งผลิตเสื้อกีฬาที่มีลายการ์ตูนดังกล่าวได้ และเคยผลิตเสื้อกีฬาที่มีลายการ์ตูนดังกล่าวให้แก่ลูกค้ารายอื่นมาแล้ว ประกอบกับการที่นายวรวุฒิสั่งให้จำเลยที่ 1 ผลิตเสื้อกีฬาที่มีลายการ์ตูนมังกี้ ดี. ลูฟี่ ตามแบบที่จำเลยที่ 1 โฆษณาอยู่แล้ว โดยไม่ได้นำภาพลายการ์ตูนมังกี้ ดี. ลูฟี่ มาให้จำเลยที่ 1 ใช้ผลิตเสื้อกีฬา หรือสั่งให้จำเลยที่ 1 ออกแบบภาพลายการ์ตูนมังกี้ ดี. ลูฟี่ ขึ้นมาใหม่ แล้วนำไปผลิตเสื้อกีฬาแต่อย่างใด ย่อมชี้ให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าลายการ์ตูนมังกี้ ดี. ลูฟี่ เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมโดยมีเจตนาเสนอขายเสื้อกีฬาที่มีลายการ์ตูนดังกล่าวอยู่ก่อนแล้ว การที่นายวรวุฒิสั่งผลิตเสื้อกีฬาตามแบบที่จำเลยที่ 1 โฆษณา เป็นเพียงการแสวงหาพยานหลักฐานมาเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 1 ถือไม่ได้ว่านายวรวุฒิเป็นผู้ก่อให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิด โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยซึ่งมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ได้ และโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง พยานหลักฐานที่เกิดจากการสั่งซื้อเสื้อกีฬาดังกล่าวสามารถรับฟังเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 1 ได้ กรณีไม่ใช่พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบหรือพยานหลักฐานที่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ อันจะต้องห้ามมิให้รับฟังตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 และมาตรา 226/1 ดังที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ดังที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท โดยมิได้กำหนดวิธีการไว้ว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับจะจัดการอย่างไรต่อไป นั้น เพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีตามโทษปรับดังกล่าว จึงเห็นสมควรแก้ไขในส่วนนี้ และเนื่องจากคดีนี้โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม อันเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อคดีส่วนอาญาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมเพื่อการค้า โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้ตามคำร้องในคดีส่วนแพ่ง แม้โจทก์ร่วมไม่ได้ฎีกา แต่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาคดีส่วนแพ่งให้แก่โจทก์ร่วมได้ เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 40 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 พิเคราะห์พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ