โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 4, 108, 109, 110, 115 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืน แต่ให้ริบของกลาง
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า บริษัท ค. ผู้เสียหาย จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศญี่ปุ่น ประกอบกิจการขายสินค้าต่าง ๆ รวมทั้งกระเป๋าใส่เงิน กำไลข้อมือ พวงกุญแจทำด้วยโลหะมีค่า แหวน กระดุมข้อมือเสื้อ ผู้เสียหายได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค319393 สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 14 รายการสินค้า เช่น กำไลข้อมือ พวงกุญแจทำด้วยโลหะมีค่า แหวน กระดุมข้อมือเสื้อ เป็นต้น เครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค314961 สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 18 รายการสินค้า เช่น กระเป๋าใส่เงิน เป็นต้น เครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค314964 สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 18 รายการสินค้า เช่น กระเป๋าใส่เงิน เป็นต้น และเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค319395 สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 14 รายการสินค้า เช่น กำไลข้อมือ พวงกุญแจทำด้วยโลหะมีค่า แหวน กระดุมข้อมือเสื้อ เป็นต้น ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งสินค้ากระเป๋าใส่เงิน 70 ใบ ที่มีเครื่องหมายและกำไลข้อมือ 3 วง พวงกุญแจทำด้วยโลหะมีค่า 3 อัน แหวน 168 วง กระดุมข้อมือเสื้อ 19 อัน ที่มีเครื่องหมายอันเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีผู้ทำปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายซึ่งได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร และจำเลยเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งสินค้ากระเป๋าใส่เงิน 23 ใบ ที่มีเครื่องหมาย อันเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีผู้ทำเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายซึ่งได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยพร้อมยึดกระเป๋าใส่เงิน กำไลข้อมือ พวงกุญแจทำด้วยโลหะมีค่า แหวน และกระดุมข้อมือเสื้อ รวม 5 รายการ จำนวน 286 ชิ้น อันเป็นสินค้าที่จำเลยเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายเป็นของกลาง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งสินค้ากระเป๋าใส่เงิน 70 ใบ ที่มีเครื่องหมาย และ กำไลข้อมือ 3 วง พวงกุญแจทำด้วยโลหะมีค่า 3 อัน แหวน 168 วง กระดุมข้อมือเสื้อ 19 อัน ที่มีเครื่องหมาย อันเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีผู้ทำปลอมเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายซึ่งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยชอบแล้ว และจำเลยเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้ากระเป๋าใส่เงิน 23 ใบ ที่มีเครื่องหมาย อันเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีผู้ทำเลียนเครื่องหมายการค้า ของผู้เสียหาย เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายซึ่งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยชอบแล้ว โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นสินค้าที่มีการปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้า และขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 4, 108, 109, 110, 115 ซึ่งการกระทำที่จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 110 (1) ผู้กระทำต้องรู้ว่าสินค้าที่ตนนำเข้ามาในราชอาณาจักรจำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยรู้ว่าสินค้าของกลางที่จำเลยเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร แต่เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ ได้แก่ บันทึกคำให้การของนายบรรเทิง ผู้รับมอบอำนาจช่วงผู้เสียหาย บันทึกคำให้การของพันตำรวจตรีชัยวัฒน์ เจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจค้นจับกุม และบันทึกการตรวจค้น/จับกุม คงได้ความเพียงว่า ตามวันและเวลาเกิดเหตุในฟ้อง พันตำรวจตรีชัยวัฒน์ได้รับแจ้งจากนายบรรเทิง ผู้รับมอบอำนาจช่วงผู้เสียหายว่า ที่ร้าน ว. มีการนำสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรมาเสนอจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป พันตำรวจตรีชัยวัฒน์และนายบรรเทิงกับพวกจึงนำหมายค้นของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเข้าตรวจค้นที่ร้านดังกล่าว พบว่าจำเลยเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าของกลางที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร จึงจับกุมจำเลยและยึดของกลางส่งพนักงานสอบสวน แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์เลยว่าจำเลยรู้ว่าสินค้าของกลางเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร กลับได้ความจากนายบรรเทิง ผู้รับมอบอำนาจช่วงผู้เสียหายให้การว่า สินค้าของผู้เสียหายยังไม่มีการจำหน่ายในประเทศไทย โดยมีจำหน่ายเฉพาะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเท่านั้น โดยผู้เสียหายยังไม่ได้มอบหมายให้ตัวแทนรายใดเป็นตัวแทนในการจำหน่ายสินค้าในประเทศไทย อันแสดงได้ว่าเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย ซึ่งในส่วนนี้จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า เครื่องหมายที่ติดบนสินค้าของกลางเป็นสัญลักษณ์ไม้กางเขน จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นเครื่องหมายที่บุคคลใดก็สามารถนำไปใช้ได้ สอดคล้องกับที่จำเลยให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวนโดยอ้างว่า จำเลยซื้อสินค้าของกลางมาเพื่อขายต่อ โดยไม่ทราบว่าเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น และจำเลยยังมีบาทหลวงทวีศักดิ์ เจ้าอาวาสวัด น. เป็นพยานเบิกความว่า เป็นภาพถ่ายรูปกางเขนที่มีการสลักเป็นสัญลักษณ์ที่พระแท่นภายในโบสถ์วัด ก. ตั้งแต่เริ่มสร้างโบสถ์ในปี ค.ศ. 1883 และเครื่องหมายการค้าตามฟ้องเป็นรูปกางเขนของศาสนาคริสต์ โดยโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้เป็นผู้ทำปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าด้วยตนเอง และการที่เครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย ประกอบกับการที่เครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายมีลักษณะใกล้เคียงกับไม้กางเขนในศาสนาคริสต์ แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว ก็อาจเป็นไปได้ที่ประชาชนหรือผู้ขายสินค้าทั่วไปจะไม่รู้จักเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย และอาจเข้าใจได้ว่าเครื่องหมายการค้าที่ปรากฏบนสินค้าของกลางเป็นไม้กางเขนในศาสนาคริสต์ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถใช้ได้ ที่โจทก์ฎีกาว่า สินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่นำเข้ามาขายในประเทศไทยมีราคาถูกกว่าสินค้าของผู้เสียหายหลายเท่า จำเลยจึงต้องรู้ว่าสินค้าของกลางเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายนั้น ก็ไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์เลยว่าสินค้าของผู้เสียหายจำหน่ายที่ต่างประเทศในราคาเท่าไร พยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยรู้หรือไม่ว่าสินค้าของกลางที่จำเลยเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 40 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน