ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาต้องห้ามตามมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ป.วิ.พ. เนื่องจากทุนทรัพย์แต่ละส่วนไม่เกิน 200,000 บาท และเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริง
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่พิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนยกที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 2 นำที่พิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่สหกรณ์การเกษตร ว. จำกัด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองโอนที่พิพาทคืนแก่กองมรดก ท. นั้น เป็นการฟ้องเรียกที่พิพาทให้ได้กลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสอง คดีของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนราคาที่พิพาท จึงเป็นหนี้อันอาจแบ่งแยกได้ แม้โจทก์ทั้งสองฟ้องรวมกันมา การอุทธรณ์หรือฎีกาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะของตน เมื่อโจทก์ทั้งสองตีราคาที่พิพาทรวมกันมามีราคา 312,000 บาท ที่ดินแต่ละส่วนที่โจทก์แต่ละคนฟ้องขอแบ่งจึงมีราคาไม่เกิน 200,000 บาท ดังนั้น ราคาทรัพย์สินหรือทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับโจทก์แต่ละคนจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
ฎีกาของโจทก์ทั้งสองที่ว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องคดีขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่พิพาทแปลงที่ห้าตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ที่จำเลยที่ 1 รับโอนมาทางมรดกจาก ท. และโอนให้แก่จำเลยที่ 2 ตามฟ้อง มีลักษณะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้องถือเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ทรัพย์มรดกของ ท. เจ้ามรดกยังไม่มีการแบ่งปันกันระหว่างทายาท โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิติดตามเอาคืนที่พิพาทจากจำเลยที่ 2 เพื่อนำมาแบ่งปันให้แก่ทายาททุกคน เพราะจำเลยที่ 1 โอนยกที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ไป โดยทายาทคนอื่น ๆ ไม่ได้ให้ความยินยอมและไม่รับทราบ รวมทั้ง ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกก็ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว โดยขอให้ศาลฎีกาได้โปรดมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 และมีคำพิพากษาตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองต่อไปนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน