โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้เงิน พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม และค่าขาดประโยชน์ตั้งแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้อง พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๔๘๑,๗๐๖.๐๘ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทจริงแต่เป็นนิติกรรมอำพราง สัญญาเช่าซื้อจึงไม่สมบูรณ์และไม่มีผลบังคับ โจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย ค่าขาดประโยชน์และดอกเบี้ยจากจำเลยที่ ๑ นั้น บริษัทไทยล้านนายนตรกิจ จำกัด และ บริษัทไทยล้านนาลิสซิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ขายรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ ๑ ได้ยึดรถคืนไปตั้งแต่วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ หากโจทก์เป็นเจ้าของก็ต้องติดตามเอารถยนต์พิพาทคืนจากบริษัทดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณา บริษัทไทยล้านนายนตรกิจ จำกัด และบริษัทไทยล้านนาลิสซิ่ง จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ หากไม่ส่งมอบคืนให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน ๓๕๐,๐๐๐ บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จำนวน ๓๖,๐๐๐ บาท และชำระค่าเสียหายให้โจทก์ต่อไปอีกเดือนละ ๓,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๐) จนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือชดใช้ราคาแทน แต่ทั้งนี้กำหนดให้ไม่เกิน ๒ ปี นับแต่วันฟ้อง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๖,๐๐๐ บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้บริษัทไทยล้านนายนตรกิจ จำกัด และบริษัทไทยล้านนาลิสซิ่ง จำกัด ร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมตามคำร้อง ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ หรือไม่ เห็นว่า การที่บริษัทไทยล้านนายนตรกิจ จำกัด และบริษัทไทยล้านนาลิสซิ่ง จำกัด ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๕๗ (๒) เช่นนี้คำร้องขอของผู้ร้องทั้งสองจึงถือว่าเป็นคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑ (๕) เพราะเป็นการตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตผู้ร้องทั้งสองย่อมสามารถอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นได้ แต่เมื่อผู้ร้องทั้งสองไม่ได้อุทธรณ์ จำเลยที่ ๑ ย่อมไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวแทนผู้ร้องทั้งสองได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ข้อนี้จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ ๑ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ว่า ค่าเสียหายที่เป็นค่าขาดประโยชน์ และราคารถยนต์ที่ให้จำเลยที่ ๑ ชำระราคาแทนนั้นสูงเกินไปหรือไม่ เห็นว่า ฎีกาจำเลยที่ ๑ ข้อนี้มิใช่เป็นฎีกาที่โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค ๕ เพราะศาลอุทธรณ์ภาค ๕ มิได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวเนื่องจากจำเลยที่ ๑ มิได้อุทธรณ์ในประเด็นนี้ ดังนั้น ฎีกาจำเลยที่ ๑ ในประเด็นนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบตั้งแต่ในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.