โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 9,361,007 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของร้านกลิ่นสี จดทะเบียนพาณิชย์ ณ สำนักงานกลางทะเบียนพาณิชย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2540 มีวัตถุประสงค์ผลิตและจำหน่ายวัสดุเกี่ยวกับสื่อประชาสัมพันธ์ พร้อมโครงสร้างซุ้มเทิดพระเกียรติ ซุ้มคร่อมถนน สัญญาณไฟกระพริบ ไฟเตือนภัย ป้ายเขต ป้ายซอย ป้ายชุมชน จำหน่ายสื่อการเรียนการสอน ของเด็กเล่น เครื่องออกกำลังกาย ยาสามัญ อุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ดับเพลิง งานพลาสติก งานไฟเบอร์ งานจราจร เครื่องนุ่งห่ม อุปกรณ์ที่ใช้กับงาน อปพร. และอุปกรณ์สำนักงาน จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทเทศบาลนคร มีหน้าที่บริหารกิจการของเทศบาลและดูแลทุกข์สุขของประชาชนในเขตเทศบาลนคร รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้าง มีนายกเทศมนตรีเป็นผู้มีอำนาจและผู้แทนจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 ประกอบพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลนครนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช พ.ศ.2537 จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีวัตถุประสงค์รับจ้าง ผลิต ติดตั้งงานจราจร ป้ายถนน ป้ายชุมชน และป้ายอื่น ๆ ทุกชนิด ตลอดจนการประมูลงานและรับจ้างกับทางราชการ มีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ วันที่ 13 กรกฎาคม 2554 คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครศรีธรรมราชให้นายเชาวน์วัศ เป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง วันที่ 26 กรกฎาคม 2554 นายเชาวน์วัศในฐานะนายกเทศมนตรีแถลงต่อสภาเทศบาลนครนครศรีธรรมราชในส่วนนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม กำหนดให้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ ภูมิสถาปัตย์ เพื่อเป็นเทศบาลน่าอยู่ ต่อมาจำเลยที่ 1 จัดให้มีการดำเนินการก่อสร้างซุ้มประตูทางเข้าเมืองนครศรีธรรมราชรวม 3 แห่ง คือ ซุ้มทางเข้าเขตเมืองนครศรีธรรมราช คร่อมถนนกะโรม บริเวณสี่แยกเบญจมฯ ซุ้มทางเข้าเขตเมืองนครศรีธรรมราช คร่อมถนนนครศรีฯ – ทุ่งสง บริเวณสี่แยกหัวถนน และซุ้มทางเข้าเขตเมืองนครศรีธรรมราช คร่อมถนนอ้อมค่ายวชิราวุธตามประกาศของจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2556 เรื่อง ประมูลจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ จ้างก่อสร้างซุ้มทางเข้าเขตเมืองนครศรีธรรมราช จำนวน 3 ซุ้ม กำหนดราคากลางไว้เป็นเงิน 10,495,000 บาท ซึ่งมีแบบซุ้มประตูทางเข้าเมืองทั้งสามซุ้มแนบท้ายประกาศ แบบดังกล่าวเหมือนกันกับแบบซุ้มประตูเข้าเมืองเอกสารหมาย ล.17 และ ล.19 มีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าประมูล 4 ราย คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัดโพ คนปั้น จำเลยที่ 2 บริษัทธนภัทรอะไหล่ยนต์ จำกัด และบริษัทมหานครภัณฑ์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ต่อมาวันที่ 27 มิถุนายน 2556 ซึ่งเป็นวันเสนอราคา จำเลยที่ 2 เสนอราคา 9,395,000 บาท อันเป็นราคาที่ต่ำที่สุด วันที่ 5 กรกฎาคม 2556 จำเลยที่ 1 จึงประกาศให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชนะการเสนอราคาดังกล่าวตามสำเนาประกาศเทศบาลนครนครศรีธรรมราช เรื่อง ประกาศรายชื่อผู้ชนะการเสนอราคา วันที่ 15 กรกฎาคม 2556 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ทำสัญญาจ้างก่อสร้างซุ้มทางเข้าดังกล่าวตามคู่ฉบับสัญญาจ้าง ต่อมาจำเลยที่ 2 ดำเนินการก่อสร้างตามแบบที่จำเลยที่ 1 กำหนดในสัญญาจ้างจนแล้วเสร็จและคณะกรรมการตรวจรับการจ้างตรวจรับไว้ตามสำเนาใบตรวจรับการจ้าง วันที่ 17 มีนาคม 2557 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์และมีลิขสิทธิ์ในแบบซุ้มประตูเมืองตามคำฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ผู้สร้างสรรค์ หมายความว่า ผู้ทำหรือผู้ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ศิลปกรรม หมายความว่า งานอันมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้ (1) งานจิตรกรรม ได้แก่ งานสร้างสรรค์รูปทรงที่ประกอบด้วยเส้น แสง สี หรือสิ่งอื่น อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ลงบนวัสดุอย่างเดียวหรือหลายอย่าง... ทั้งนี้ไม่ว่างานตาม (1)... จะมีคุณค่าทางศิลปะหรือไม่ และให้หมายความรวมถึงภาพถ่ายและแผนผังของงานดังกล่าวด้วย และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่งานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ ของผู้สร้างสรรค์ไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบอย่างใด มาตรา 6 วรรคสอง บัญญัติว่า การคุ้มครองลิขสิทธิ์ไม่คลุมถึงความคิด หรือขั้นตอน กรรมวิธีหรือระบบ หรือวิธีใช้หรือทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ จากบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว งานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมที่มีลักษณะเป็นงานจิตรกรรมจะเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติดังกล่าวของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 นั้น ต้องเป็นงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำหรือก่อให้เกิดงานนั้นด้วยการริเริ่มขึ้นเองโดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต งานอันมีลิขสิทธิ์ไม่จำต้องเป็นงานใหม่อย่างเช่นกรณีของสิทธิบัตรการประดิษฐ์ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตรต่อเมื่อเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่หรือต้องไม่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว งานอันมีลิขสิทธิ์จึงอาจเหมือนหรือคล้ายกับงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ปรากฏอยู่แล้วได้ แต่งานที่เหมือนหรือคล้ายกันนั้นต้องเกิดจากการริเริ่มสร้างสรรค์ขึ้นเองของผู้สร้างสรรค์โดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต คุณค่าของงานหรือคุณค่าทางศิลปะไม่ใช่เงื่อนไขของการคุ้มครองลิขสิทธิ์ แม้งานที่สร้างขึ้นนั้นจะไม่มีคุณค่าของงานหรือคุณค่าทางศิลปะ หากผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้นด้วยความวิริยะอุตสาหะ ด้วยการทุ่มเทกำลังสติปัญญาความรู้ความสามารถ ใช้ประสบการณ์และวิจารณญาณในการสร้างงานนั้น งานนั้นก็ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ โดยการคุ้มครองลิขสิทธิ์เป็นการให้ความคุ้มครองรูปแบบของการแสดงออกซึ่งความคิด ไม่คุ้มครองความคิดหรือแนวความคิด เมื่อพิจารณาถึงแบบซุ้มประตูเมืองที่ขยายมาตราส่วนนั้น อาจแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรก ซุ้มประตูด้านบน ซึ่งประกอบไปด้วยรูปโบราณสถานของเมือง 5 อย่าง ได้แก่ ศาลหลักเมือง พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชและกำแพงเมือง พระบรมมหาธาตุ ศาลาพุทธสิหิงค์ และหอพระนารายณ์ ส่วนที่สอง คานของซุ้มประตู โดยด้านซ้ายและขวามีลายไทย 4 มุม วงกลมล้อมรูป 12 นักษัตร ด้านละ 6 ตัว ตรงกลางเป็นแผ่นป้าย "ยินดีต้อนรับ เทศบาลนครนครศรีธรรมราช" และส่วนที่สาม เสาของซุ้มประตูเมือง โดยเสาซ้ายและขวามีลายเส้นดอกไม้ใหญ่เริ่มจากตรงกลางเสา เสาละ 1 ดอก ส่วนเสากลางมีดอกไม้ 1 ดอก เริ่มตั้งแต่ฐานล่างสุดของเสา ด้านบนเป็นตราของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์นำสืบว่าได้ออกแบบโดยปรึกษากับนายภิญโญ ค้นประวัติของเมืองนครศรีธรรมราช ตรวจสอบศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นบ้าน วัตถุโบราณ โบราณสถานในจังหวัด ภูมิปัญญาท้องถิ่น จุดเด่นของจังหวัด รวบรวมหลายอย่างเข้าด้วยกัน แล้วจินตนาการด้วยลีลาการเขียนจิตรกรรม ทำเป็นร่างงานจิตรกรรมขึ้นมา ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ด้วยความวิริยะอุตสาหะแล้ว แม้การออกแบบดังกล่าวของโจทก์จะเป็นไปตามนโยบายและแนวคิดของจำเลยที่ 1 และมีการปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำของจำเลยที่ 1 ตามที่ฝ่ายจำเลยอ้างก็ตาม แต่การคุ้มครองลิขสิทธิ์นั้นเป็นการคุ้มครองในการแสดงออก ไม่คลุมถึงความคิดหรือแนวความคิดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 การที่โจทก์ปรับปรุงแก้ไขก็เพียงเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของทางจำเลยที่ 1 เพื่อที่โจทก์จะได้รับพิจารณาให้เป็นผู้ก่อสร้างซุ้มประตูตามแบบดังกล่าว นอกจากนี้แม้ซุ้มประตูด้านบนจะประกอบไปด้วยโบราณสถานของจังหวัดซึ่งบุคคลทั่วไปรู้จักและมีการก่อสร้างมานานแล้วก็ตาม แต่การที่โจทก์เลือกโบราณสถานที่สำคัญของจังหวัดมาเพียง 5 รายการ โดยออกแบบโบราณสถานทั้งห้ารายการให้มีลักษณะ มุมมอง ลายเส้น และขนาด ที่เหมาะสมกับซุ้มประตู แล้วนำมาจัดเรียงกัน ตกแต่งด้วยลายไทย ลายดอกไม้ 12 นักษัตร โจทก์ย่อมต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะในการดำเนินการเพื่อให้ออกมาเป็นแบบได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าแบบซุ้มประตูเมืองดังกล่าวเกิดจากการทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานศิลปกรรมอันมีลักษณะงานจิตรกรรมในแบบซุ้มประตูเมืองดังกล่าว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 18 มีนาคม 2557 อันเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเงินให้โจทก์เสร็จสิ้น และให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าฤชาธรรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง