โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,923,015 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,237,600 บาท (ที่ถูก นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,923,015 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,237,600 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 ตุลาคม 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วย ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์จำกัดตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2553 วันที่ 22 ธันวาคม 2553 และวันที่ 30 มีนาคม 2554 โจทก์ทำสัญญาเปิดวงเงินสินเชื่อซื้อสินค้าเคมีการเกษตรจากจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 1 รวม 3 ฉบับ วงเงิน 1,676,000 บาท 4,942,000 บาท และ 5,238,000 บาท ตามลำดับ ก่อนคดีนี้ จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์กับพวกรวม 9 คน เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 160/2555 หมายเลขแดงที่ 383/2558 ของศาลจังหวัดนครนายก ขอให้ร่วมกันชำระเงินตามหนังสือสัญญาซื้อขายเคมีการเกษตร ลงวันที่ 30 มีนาคม 2554 จำนวน 5,238,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย โจทก์กับพวกซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวให้การว่า ได้รับสินค้าไม่ครบถ้วน และชำระค่าสินค้าเกินไป 1,237,600 บาท จึงไม่ต้องรับผิด ศาลจังหวัดนครนายกวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 (โจทก์คดีนี้) กับพวกต้องชำระค่าสินค้าเฉพาะที่ได้รับไว้ตามใบส่งของชั่วคราวเป็นเงิน 284,800 บาท พร้อมดอกเบี้ย โจทก์ (จำเลยที่ 1 คดีนี้) อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน โจทก์ (จำเลยที่ 1 คดีนี้) ฎีกา ศาลฎีกาไม่รับคดีไว้พิจารณาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลฎีกา วันที่ 18 ตุลาคม 2561 โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ จึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงมีแต่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คดีในส่วนของตน
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้วินิจฉัย โดยวินิจฉัยประเด็นอื่นและพิพากษาให้จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายแพ้คดี จำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาชั้นต้นที่ไม่วินิจฉัยประเด็นฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมมาด้วยนั้น ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน คดีไม่มีประเด็นฟ้องโจทก์เคลือบคลุมในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตร 142 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 ปัญหาการวินิจฉัยนอกประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์ไม่ยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อต่อไปว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 383/2558 ของศาลจังหวัดนครนายก ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า ในเรื่องฟ้องซ้ำ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 บัญญัติไว้ว่า คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้อง ฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ... ได้ความว่า คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 925/2545 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้กับพวกรวม 9 คนเป็นจำเลย เรียกเงินตามสัญญาซื้อขายฉบับลงวันที่ 30 มีนาคม 2554 ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเรียกเงินที่ได้ชำระแก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 จำนวน 208,800 บาท และวันที่ 21 มีนาคม 2554 จำนวน 1,992,000 บาท ก่อนมีการทำสัญญาซื้อขายฉบับลงวันที่ 30 มีนาคม 2554 ที่มีการฟ้องร้องกันในคดีดังกล่าว ทั้งจำเลยทั้งสองให้การในคดีนี้ว่าโจทก์ไม่จ่ายเงินตามสัญญาลงวันที่ 30 มีนาคม 2554 ดังนี้ ประเด็นในคดีนี้กับคดีก่อนเป็นคนละประเด็น จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า การที่โจทก์โอนเงินแก่จำเลยที่ 1 ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 จำนวน 208,800 บาท และวันที่ 21 มีนาคม 2554 จำนวน 1,992,000 บาท เป็นการโอนตามวงเงิน 1,676,000 บาท และ 4,942,000 บาท ของสัญญาซื้อขายฉบับลงวันที่ 17 กันยายน 2553 และวันที่ 22 ธันวาคม 2553 จำเลยที่ 1 รับเงินค่าสินค้า 2,200,800 บาท แต่มีการส่งมอบสินค้าในราคา 963,200 บาท จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินส่วนที่โจทก์ชำระเกินไป 1,237,600 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ก่อนทำสัญญาซื้อขาย โจทก์มีหนังสือขอซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 1 หลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ได้รับเงินตามสัญญาฉบับที่ 1 และที่ 2 ครบถ้วน จึงทำสัญญาฉบับที่ 3 กับโจทก์ โจทก์ไม่ได้โต้แย้งว่าได้รับสินค้าตามสัญญาฉบับที่ 1 และที่ 2 ไม่ครบถ้วน แสดงว่าบริษัท อ. หลอกลวงจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่บริษัทดังกล่าว โจทก์ได้รับเงินคืนหรือสินค้าจากบริษัท อ. จำเลยที่ 1 ไม่ต้องคืนเงินแก่โจทก์ และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เพื่อมิให้คดีล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอีก คดีนี้โจทก์มีนายนวพล ผู้จัดการโจทก์ เป็นพยานเบิกความถึงเหตุที่โจทก์ฟ้องเรียกเงิน 1,237,600 บาท จากจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ทำหนังสือสัญญาซื้อขายเคมีการเกษตรวงเงิน 1,676,000 บาท กับจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2553 เป็นเงิน 285,600 บาท ต่อมาโจทก์ทำหนังสือสัญญาซื้อขายเคมีการเกษตรวงเงิน 4,942,000 บาท กับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ 4 ครั้ง ดังนี้ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2554 เป็นเงิน 220,000 บาท (ที่ถูก 208,000 บาท) วันที่ 26 เมษายน 2554 เป็นเงิน 208,000 บาท วันที่ 10 พฤษภาคม 2554 เป็นเงิน 124,800 บาท และวันที่ 24 พฤษภาคม 2554 เป็นเงิน 124,800 บาท โจทก์โอนเงินค่าสินค้าให้จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 จำนวน 208,800 บาท และวันที่ 21 มีนาคม 2554 จำนวน 1,992,000 บาท จึงชำระเกินไป 1,237,600 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 นำสืบว่า โจทก์เป็นลูกค้าของบริษัท อ. ซึ่งขายยาปราบศัตรูพืช แต่โจทก์ไม่มีเงินซื้อสินค้าจึงขอซื้อจากจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 1 ซื้อจากบริษัท อ. แล้วขายเงินเชื่อแก่โจทก์ ในการซื้อสินค้าแต่ละครั้งโจทก์ลงชื่อรับสินค้า แล้วทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ให้เลขที่บัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 แก่โจทก์ สัญญาซื้อขายเคมีการเกษตรฉบับแรกมีการโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ของโจทก์ตามสัญญาดังกล่าวจำนวน 208,800 บาท และ 1,467,200 บาท จำเลยที่ 1 จึงออกใบเสร็จรับเงินแก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ขอซื้อสินค้าครั้งที่ 2 จำเลยที่ 1 ให้บริษัท อ. ส่งสินค้าแก่โจทก์ให้ครบถ้วน จึงมีการส่งสินค้าแก่โจทก์ และบริษัทดังกล่าวนำใบส่งของมามอบแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงชำระเงินแก่บริษัทดังกล่าว แล้วมีการทำสัญญาซื้อขายเคมีการเกษตรกับโจทก์ฉบับที่สอง เดือนมีนาคม 2553 มีการโอนเงินเข้าบัญชีจำเลยที่ 1 จำนวน 2 ครั้ง ระบุว่าโจทก์เป็นผู้นำฝากจำนวน 2,934,000 บาท และ 1,992,000 บาท หลังจากนั้นโจทก์ขอซื้อสินค้าครั้งที่ 3 จำเลยที่ 1 โอนเงินให้แก่บริษัท อ. แล้วทำสัญญาฉบับที่ 3 กับโจทก์ ภายหลังจำเลยที่ 1 ไปตรวจสอบพบว่ามีการโอนเงินจากธนาคารสาขาลพบุรีด้วย น่าจะเป็นการโอนเงินโดยบริษัท อ. มีสหกรณ์อื่นทำสัญญาเช่นนี้ แต่บริษัท อ. เป็นผู้จ่ายเงินแก่จำเลยที่ 1 เห็นว่า นายนวพล พยานโจทก์เบิกความในคดีก่อนว่า จำเลยที่ 1 (โจทก์คดีนี้) สั่งซื้อสินค้าประเภทสารเคมีจากโจทก์ (จำเลยที่ 1 คดีนี้) โดยคำแนะนำของนายเชลงศักดิ์ และนายณัฐเศรษฐ์ กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท อ. นายเชลงศักดิ์ และนายณัฐเศรษฐ์ ให้คำแนะนำว่า เมื่อจำเลยที่ 1 (โจทก์คดีนี้) ไม่มีเงินสดในการชำระค่าซื้อสินค้าประเภทเคมีภัณฑ์การเกษตรให้แก่บริษัทดังกล่าว ก็ให้ทำการซื้อผ่านโจทก์ (จำเลยที่ 1 คดีนี้) ซึ่งมีเงินสดที่จะชำระค่าสินค้าให้กับบริษัทได้ แต่มีข้อแม้ว่าจำเลยที่ 1 โดยผู้มีอำนาจกระทำการแทนต้องลงลายมือชื่อในช่องผู้รับสินค้าเพื่อนำไปเป็นหลักฐานของโจทก์ (จำเลยที่ 1 คดีนี้) เพื่อโอนเงินให้แก่บริษัทดังกล่าว และโจทก์ (จำเลยที่ 1 คดีนี้) จะมอบให้บริษัทดังกล่าวเป็นผู้ส่งสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 (โจทก์คดีนี้) ตามที่จำเลยที่ 1 (โจทก์คดีนี้) แจ้งให้ทราบจนครบ ส่วนราคาค่าสินค้าที่จำเลยที่ 1 (โจทก์คดีนี้) ต้องชำระแก่โจทก์ (จำเลยที่ 1 คดีนี้) นั้น ให้เครดิตหรือระยะเวลาในการชำระ 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญา เจือสมกับที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่าโจทก์ติดต่อซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 1 เนื่องจากโจทก์ไม่มีเงินสดซื้อสินค้า และซื้อสินค้าเงินเชื่อจากจำเลยที่ 1 เมื่อพิเคราะห์ตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์รวม 5 ครั้ง เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2553 จำนวน 285,600 บาท วันที่ 24 มีนาคม 2554 จำนวน 220,000 บาท วันที่ 26 เมษายน 2554 จำนวน 208,000 บาท วันที่ 10 พฤษภาคม 2554 จำนวน 124,800 บาท และวันที่ 24 พฤษภาคม 2554 จำนวน 124,800 บาท รวม 963,200 บาท โจทก์โอนเงินค่าสินค้าให้จำเลยที่ 1 จำนวน 2 ครั้ง คือ ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 จำนวน 208,800 บาท และวันที่ 21 มีนาคม 2554 จำนวน 1,992,000 บาท แล้ว ปรากฏว่าเมื่อมีการส่งสินค้าครั้งแรกวันที่ 12 กันยายน 2553 จำนวน 285,600 บาท โจทก์โอนเงินค่าสินค้าให้จำเลยที่ 1 วันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 จำนวน 208,800 บาท อันเป็นเวลาหลังจากที่มีการส่งสินค้า 2 เดือนเศษ แต่หลังจากนั้นยังไม่มีการส่งสินค้า โจทก์โอนเงินค่าสินค้าให้จำเลยที่ 1 ในวันที่ 21 มีนาคม 2554 จำนวน 1,992,000 บาท โดยโจทก์ไม่มีเอกสารที่แสดงถึงการที่โจทก์ซึ่งเป็นสหกรณ์การเกษตรต้องโอนเงินแก่จำเลยที่ 1 จำนวนมากดังกล่าว และไม่นำสืบถึงเหตุที่ไม่ได้รับสินค้าแต่ได้โอนเงินแก่จำเลยที่ 1 ทั้งตามเอกสารของโจทก์ ก็ปรากฏใบส่งของหรือใบแจ้งหนี้ของบริษัท อ. ระบุว่า ส่งสินค้าเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2554 จำนวน 1,992,000 บาท สอดคล้องกับจำนวนเงินที่โจทก์โอนแก่จำเลยที่ 1 ยิ่งไปกว่านั้นหากโจทก์จ่ายเงินโดยยังไม่ได้รับสินค้า ก็ไม่มีเหตุที่หลังจากนั้นเพียง 8 วัน โจทก์จะต้องมีหนังสือขอซื้อสินค้ายาปราบศัตรูพืชจากจำเลยที่ 1 อีก ทั้งโจทก์ได้ทำสัญญาซื้อสินค้าเงินเชื่อกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2554 พยานหลักฐานโจทก์ที่ว่าโจทก์ชำระเงินเกินจำนวนสินค้าที่รับมาจึงไม่น่าเชื่อถือ ส่วนจำเลยนำสืบรับฟังได้ว่าการซื้อขายสินค้าระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ เป็นเงินเชื่อที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่าโจทก์ได้รับสินค้าแล้ว จึงมีน้ำหนักให้รับฟังดีกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 1,237,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ปัญหาอื่นของจำเลยที่ 1 เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ