โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 279, 283 ทวิ, 317
จำเลยให้การปฏิเสธ
ก่อนเริ่มสืบพยาน นางปรีดา ผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่ง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง, 279 วรรคแรก, 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย และฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน รวม 4 กระทง จำคุกกระทงละ 4 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควร เพื่อการอนาจาร รวม 4 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี จำคุกจำเลยรวม 36 ปี และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 สิงหาคม 2552)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม รวม 2 กระทง เมื่อรวมโทษกับความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน เป็นจำคุกจำเลยทั้งสิ้น 26 ปี จำเลยนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลย 17 ปี 4 เดือน กับให้ยกฟ้องในความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย และฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง และมาตรา 283 ทวิ วรรคสอง เสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยยังมีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ตามฟ้องโจทก์ข้อ 1 ก และข้อ 2 ก อีก 2 กระทง หรือไม่ เห็นว่า ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายคำว่า "พราก" ว่า จากไป พาเอาไปเสีย แยกออกจากกัน เอาออกจากกัน ดังนั้น ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม จึงหมายถึงการพาหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาเด็กไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดาเด็ก แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุเป็นช่วงเวลาปิดภาคเรียนปี 2551 ผู้ร้องอนุญาตให้ผู้เสียหายที่ 2 ทำงานเป็นพนักงานเก็บเงินค่าโดยสารให้จำเลย หากรถยนต์โดยสารของจำเลยถึงจังหวัดตรังเวลาค่ำ จำเลยและผู้เสียหายที่ 2 จะนอนค้างคืนที่ห้องเช่า ผู้ร้องยังเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ผู้ร้องเคยไปพักกับผู้เสียหายที่ 2 ที่ห้องเช่าจังหวัดตรังด้วย แสดงว่าผู้ร้องรู้เห็นยินยอมให้ผู้เสียหายที่ 2 พักอยู่ห้องเช่าจังหวัดตรังกับจำเลย จำเลยไม่ได้กระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปจากผู้ร้อง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ตามฟ้องโจทก์ข้อ 1 ก และ ข้อ 2 ก ส่วนที่จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ขณะอยู่ที่ห้องเช่าจังหวัดตรังย่อมเป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตามดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นต่างหาก หาทำให้การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า การกระทำอนาจารหมายถึงการกระทำที่ไม่สมควรทางเพศ เช่น กอดจูบ ลูบคลำ แตะต้องเนื้อตัวร่างกายในทางไม่สมควร ส่วนการกระทำชำเราหมายถึงการใช้อวัยวะเพศของชายสอดใส่เข้าในอวัยวะเพศของหญิง การกระทำชำเราจึงรวมถึงการกระทำอนาจารอยู่ในตัว ดังนั้น การกระทำความผิดตามบทบัญญัติมาตรา 279 ย่อมรวมอยู่ในการกระทำความผิดตามบทบัญญัติมาตรา 277 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยปลุกปล้ำ กอดจูบ ถอดเสื้อผ้า และกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามมาตรา 279 วรรคสอง และฐานข่มขืนกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ตามมาตรา 277 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องโจทก์ข้อหากระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 279 วรรคสอง แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับบทว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคแรก ซึ่งเป็นการปรับบทผิด ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทให้ถูกต้องได้ โดยไม่เป็นการเพิ่มโทษจำเลย เพราะโจทก์ไม่อุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษ
ปัญหาข้อสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง หรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 1 ก ข้อ 2 ก ข้อ 3 ก และ ข้อ 4 ก ว่า จำเลย...ได้บังอาจพราก....ผู้เสียหายที่ 2...ด้วยการพาตัวผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากความปกครองดูแลของ...ผู้เสียหายที่ 1 เพื่อการอนาจาร ทั้งโจทก์ได้อ้างฐานความผิดไว้ในตอนต้นว่าพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และคำขอท้ายฟ้องอ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ ไว้ด้วย ฟ้องของโจทก์จึงบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ฐานความผิด และอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (2) (5) และ (6) แล้ว ถือได้ว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายครบองค์ประกอบความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดองค์ประกอบความผิดและพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จะยังมิได้วินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนี้หรือไม่ แต่เมื่อโจทก์และจำเลยสืบพยานจนพอวินิจฉัยได้แล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยก่อน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังที่วินิจฉัยข้างต้นว่าจำเลยได้พาผู้เสียหายที่ 2 ไปจากโรงเรียนและข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ตามฟ้องโจทก์ข้อ 3 ก และ ข้อ 4 ก การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง ส่วนฟ้องโจทก์ ข้อ 1 ก และ ข้อ 2 ก นั้น จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ขณะพักอยู่ที่ห้องเช่าจังหวัดตรังซึ่งเป็นที่พักตามปกติอยู่แล้ว จำเลยมิได้กระทำการใดอันเป็นการพาผู้เสียหายที่ 2 ไปเพื่อการอนาจาร จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารตามฟ้องโจทก์ข้อ 1 ก และ ข้อ 2 ก
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง, 283 ทวิ วรรคสอง ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม 2 กระทง กับฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายและฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม 2 กระทง เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตามซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 สำหรับโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก